ปุจฉา : ทำไมไม่ชอบเรียนวิชาศาสนา
วิสัชนา : เพราะศาสนาไม่มีเหตุผล เรียกร้องการบูชาและงมงายในพิธีปฏิบัติ
อาจเป็นเช่นนั้น หรือไม่ใช่?
ในฐานะครูผู้สอนวิชานี้จึงเริ่มตกตะกอนความคิดว่า
“แล้วการสอนศาสนาในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นควรเป็นอย่างไร”
เราจะสอนให้เด็กๆของเราเติบโตขึ้นเป็นเด็กไหว้สวยรวยพิธีกรรม จำบทสวดได้ครบทุกพยางค์กระนั้นหรือ?
ไม่เลย สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่เราอาจทำได้มากกว่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ครูโจอี้คิดไอเดียการสอนวิชาพระพุทธศาสนาขึ้นมาโดยใช้หลักการ “Critical Thinking” เป็นพื้นฐาน เพื่อให้ศาสนาสอนนักเรียนของเขาให้รู้จักตั้งคำถาม ใช้เหตุผลและมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น โดยมีขั้นตอนการทำกิจกรรมดังนี้
ชื่อกิจกรรม “Debate and Discuss” (workshop)
จุดมุ่งหมาย : เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างมีเหตุผลให้ความเชื่อของตนเองและยอมรับความแตกต่างทางความคิดของคนอื่นๆอย่างสร้างสรรค์
กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่1
เริ่มด้วยกิจกรรม “แบบทดสอบความเป็นชาวพุทธ”
1.แจกแบบสอบถามให้เด็กๆทำการประเมินตนเองดังนี้
ตัวอย่างแบบสอบถาม
*** กาเครื่องหมายถูกลงในช่องว่างข้างหลังที่ตรงกับตัวเอง
อาจใส่ช่อง “ได้” หรือ “ไม่ได้” เพื่อความชัดเขนยิ่งขึ้น
และเพิ่มช่อง “หมายเหตุ” เพื่อบอกเหตุผล
เช่น เป็นผู้กระทำศาสนพิธีไม่ได้ หมายเหตุ เพราะจำบทสวดไม่ได้ หรือเพราะนับถือศาสนาอื่น เป็นต้น
2.เมื่อนักเรียนทำแบบประเมินเสร็จแล้ว ก็ให้แยกพวกเขาออกเป็นกลุ่มๆตามคะแนนที่ทำได้ เรียงลำดับจากมากสุดไปหาน้อยที่สุด ไล่จากหน้าห้องซึ่งได้คะแนนมากที่สุดไปยังหลังห้องที่ได้คะแนนน้อยที่สุด
3.ถามแต่ละคนว่าพวกเขามองเพื่อนๆที่ได้คะแนนต่างจากตนอย่างไร (คนได้คะแนนน้อยนั้นดูเป็นคนไม่น่าคบหรือ? หรือว่าคนที่ได้คะแนนมากๆนั้นดูต่างไปตรงไหน?)
- ผลลัพธ์ของอาจารย์โจอี้คือ นักเรียนในชั้นนั้นเงียบกริบ งุนงงและหาข้อแตกต่างนั้นไม่เจอเลย (อาจเพราะมันไม่มีอยู่แต่แรกแล้ว)
4.สรุปการทำกิจกรรม “คนจะมีหรือไม่มีศาสนาไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่ามีระดับศีลธรรมแตกต่าง”
ไม่ว่าจะมีความเป็นศาสนิกชนมากกว่าหรือน้อยกว่าในการปฏิบัติบูชาแค่ไหน ก็ต้องมีคำสอนทางศาสนาที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี ต่อให้นักเรียนชาวพุทธปฏิบัติตามข้อข้างบนได้ครบทุกข้อ พวกเขาก็ยังเป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าล้างบาปในศาสนาคริสต์ ต่อให้ศาสนิกชนชาวอิสลามงดรับประทานเนื้อหมูชั่วชีวิต พวกเขาก็ยังคงไม่ไหว้พระพุทธ ดังนั้นแล้วความแตกต่างตรงนี้จึงไม่อาจชี้วัดศีลธรรมในตัวใครต่อใครได้
สุดท้ายแล้วแบบทดสอบพุทธที่แท้จริงนั้น ก็ไม่ได้บ่งบอกความเที่ยงแท้ของความเป็นมนุษย์ให้ผู้ใดเลย
กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่2
1.เตรียมกระดาษคำต่างๆ (มีตัวอย่างให้ดูข้างล่าง : อ้างอิงจากเพจ พุทธที่แท้จริง)
- “คนเราทำชั่วได้ทุกนาที แต่พอทำดีต้องมีฤกษ์ยาม”
- “ถ้าผีกลัวพระ แล้วพระที่ตายแล้วเป็นผีจะกลัวพระมั้ย”
- “หากจุดธูปแล้วขออะไรก็ได้ธูปกำหนึ่งคงราคาหลายล้าน ไม่ใช่ 40-50 บาทอย่างนี้”
- “ถ้าเผาซาซิมิให้บรรพบุรุษ ท่านจะได้เนื้อสดหรือเนื้อย่าง”
2.แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยๆ 5-7 คน (ตามจำนวนที่เหมาะสมในแต่ละชั้นเรียน) แล้วแจกกระดาษคำถาม
3.ให้นักเรียนเริ่มแสดงความคิดเห็นต่อโควทคำพูดต่างๆที่กำหนดให้ในกลุ่มของตัวเองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำดังกล่าว
- หากเห็นด้วยจะสนับสนุนอย่างไร
- หากไม่เห็นด้วยจะแก้ไขอย่างไร
4.ให้แต่ละกลุ่มออกมาอภิปรายให้เพื่อนฟังทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำดังกล่าว และแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อสรุปผล
ตัวอย่างผลลัพธ์เบื้องต้นจากคลาสของคุณครูโจอี้
- เด็กๆหลายคนให้ความเห็นต่างกันเรื่องการเผาเนื้อไปให้บรรพบุรุษ ส่วนหนึ่งว่าเผาแปลว่าต้องสุก อีกส่วนกล่าวว่าเผาเป็นเพียงความเชื่อที่จะส่งอาหารไปอีกโลกเท่านั้น เนื้อจะยังคงดิบอยู่เช่นเดิม
ซึ่งตรงจุดนี้เองเด็กๆคงยังไม่ถึงกับจะตีกันเรื่องเนื้อดิบหรือสุกแต่นี่คือความขัดแย้งทางความคิดอย่างหนึ่ง คุณครูโจอี้จึงได้ให้ความเห็นว่า หากผลสุดท้ายเนื้อจะดิบหรือสุกก็ยังคงเป็นความเชื่อของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเอาชนะกัน ใครคิดว่าดิบก็เผาและเชื่อว่าดิบ ใครว่าสุขก็เผาส่งไปด้วยความเชื่อเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องเบียดบังกัน
พอได้ลงรายระเอียดกิจกรรมเช่นนี้ก็พบว่าเด็กๆมีความสนุกสนานและตั้งคำถามอื่นๆตามมาเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขาอย่างหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกพระว่าแครอทนั้นบาปไหม นรกสวรรค์มีจริงหรือ ซึ่งในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันอย่างในปัจจุบันนั้นการตั้งคำถามเช่นนี้ไม่ควรถูกจำกัดกรอบด้วยคำว่า “บาปกรรม” หรือ “เงียบไปเสีย ใครเขาถามกัน”
ต่อให้ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้หมดก็ควรรักษาความใฝ่รู้นี้ของเด็กๆไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้เองที่จะเป็นกำลังต่อยอดให้พวกเขาในอนาคต ศาสนาย่อมถกเถียง ตั้งคำถามและสร้างความสงสัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความเคารพความเห็นต่างของกันและกันต่างหากที่จะธำรงสังคมอุดมปัญญาของมนุษย์เราให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้
ขอขอบคุณไอเดียดีๆและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แสนคุ้มค่าจาก นายจักรกฤษณ์ ต่อพันธ์ (คุณครูโจอี้)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!