icon
giftClose
profile

เพราะเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของ(ชี)วิทย์

12570
ภาพประกอบไอเดีย เพราะเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของ(ชี)วิทย์

กิจกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ไม่ปฏิเสธการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และสามารถบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นๆ เรื่องราวในสังคมได้อย่างน่าสนใจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้เรียน

“วิทยาศาสตร์” ไม่ใช่แค่เรื่องในหนังสือ ห้องทดลอง แต่เป็นเรื่องรอบตัวที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ ดังเช่นการสอนวิทยาศาสตร์ในแบบครูแก่น-ธัชวุฒิ กงประโคน ครูวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้มีความเชื่อว่า “เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง เราจึงต้องหาให้เจอว่าเด็กมีศักยภาพแบบไหน สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไรในอนาคต” จึงทำให้ครูแก่นออกแบบกระบวนการสอนที่มีความหลากหลายและแปลกใหม่มาท้าทายนักเรียนเสมอ

เรียนวิทย์แบบไฮเทค(โนโลยี)

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์แบบครูแก่นไม่ได้มีเพียงแค่การทดลอง การทำแบบฝึกหัด แต่ยังเน้นการบูรณาการเครื่องมือเทคโนโลยี เพราะครูแก่นมองว่าเป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ครูแก่นจึงไม่ปฏิเสธการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ ยังทำให้เห็นภาพและความเข้าใจมากขึ้น

ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้

‘ความดันอากาศ

คอนเซ็ปต์มีอยู่ว่า “เมื่อความสูงเพิ่มขึ้น ความดันอากาศยิ่งลดต่ำลง” แต่ครูแก่นจะไม่บอกคอนเซ็ปต์ออกไปตรงๆ จะให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองเสียก่อนและออกแบบการเรียนที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน

ครูแก่นเปิดเรื่องด้วยการพูดถึงสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีชื่อเสียงด้านแหล่งท่องเที่ยว มี ภูเขา แหล่งน้ำ ที่ราบและที่ลุ่ม เรียกได้ว่ามีความหลากหลายทางสภาพภูมิศาสตร์เป็นอย่างมาก ครูแก่นจึงชวนนักเรียนสังเกตและตั้งคำถามว่า “ทำไมตอนฝนตกน้ำถึงไหลไปทางหลังโรงเรียนทุกครั้ง” ถ้าหากสังเกตด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นความแตกต่างความสูงของพื้นที่ ฉะนั้นจึงต้องสามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ในความสัมพันธ์ของความดันอากาศ ความสูงและการไหลของน้ำ

ครูแก่นให้นักเรียนใช้แอพลิเคชัน Google map มาใช้ในการสร้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยให้มาร์คจุดพื้นที่หน้าโรงเรียนและหลังในระบบ GPS ทำให้ได้เห็นความสูงพื้นที่ของแต่ละจุด ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความดันบรรยากาศและสามารถอธิบายทิศทางการไหลของน้ำได้

หลังจากที่ค้นพบหลักฐานความแตกต่างของพื้นที่ ครูแก่นชวนนักเรียนวิเคราะห์และอภิปรายผลสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วยังชวนคิดต่อยอดถึงเรื่องราวต่างๆของจังหวัดชัยภูมิ เช่น เพราะเหตุใดเมื่อปี 2554 พื้นที่เมืองชัยภูมิถึงชัยภูมิเกิดน้ำท่วมใหญ่? ทำไมต้องสร้างเขื่อนบริเวณมอหินขาว? จากความดันอากาศครูแก่นชวนคิด ชวนคุยจนเชื่อมโยงไปสู่การสร้างและพัฒนาเมือง ทำให้ห้องเรียนนี้กลายเป็นห้องเรียนที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวของความคิดต่อยอด เกิดการสังเกต การตั้งคำถาม การวิเคราะห์และวิพากษ์จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบขึ้น

นอกจากนี้ครูแก่นยังนำแอพลิเคชันต่างๆไปใช้ในการออกแบบชุดกิจกรรมคำนวณอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยและการลดน้ำหนัก ซึ่งสามารถคำนวณแคลอรี่ การให้คำแนะนำการลด-เพิ่มน้ำหนัก ใช้ในการเรียนดาราศาสตร์ ที่มีแอพลิเคชันจำลองภาพเสมือนจริงให้นักเรียนได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สรุปการเรียนรู้

การใช้เทคโนโลยีสามารถเป็นเครื่องมือในการช่วยการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนรู้จักใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ไม่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและสามารถนำไปบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นให้เกิดความหลากหลายและสร้างประสบการณ์จากการเรียนรู้ที่แปลกใหม่แก่ผู้เรียน

นอกจากความสนุกสนานและประโยชน์ที่ได้จากการเรียนที่มักได้ยิน นักเรียนยังบอกอีกว่า “ทำไมปีหนูไม่ได้ทำบ้างคะ” นักเรียนพูดด้วยความรู้สึกเสียดายปนหยอกล้อ เมื่อเห็นกิจกรรมการเรียนการสอนของครูแก่นเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ มีการพัฒนาและก้าวขั้นขึ้นกว่าเดิมทุก ๆ ปี เพราะครูแก่นอยากพัฒนากิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียน ตามความสนใจและความนิยมของนักเรียนและสังคม เพื่อไม่ให้เป็นการเรียนที่น่าเบื่อเกินไป

 

เครดิตไอเดีย ครูแก่น-ธัชวุฒิ กงประโคน โรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ

 

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(0)