“ภาษาอังกฤษเรียนเพื่อใช้จริง ไม่ใช่ท่องแล้วทิ้งเพื่อการสอบอย่างเดียว”
ยุติการนั่งท่องคำศัพท์และไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแสนน่าเบื่อ ให้สนุกเหลือเชื่อผ่านกิจกรรมและบทบาทสมมติ ผ่านเทคนิคของครูนพ วิวรรธน์ บุษราคัม คุณครูวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนมัธยม โรงเรียนน้ำพองศึกษา จังหวัดขอนแก่น ผู้พลิกโฉมห้องเรียนไร้ชีวิตชีวา ให้เหมือนพาไปเดินพรมแดงเมืองนอก!
หากเปรียบการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเครื่องแต่งกายแสนงาม และความมั่นใจเสมือนการเดินพรมแดงสุดสง่า การที่นักเรียนได้สวมชุดทำมือของตนเองมาแสดงบนเวทีคงนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในฐานะคุณครูวิชาภาษาอังกฤษ แต่กลับไม่ใช่ทุกคนที่กล้ามากพอ เมื่อครูนพพบว่ามีนักเรียนบางคนไม่กล้าออกจากหลังม่านไปยังกลางเวที เพียงเพราะเขาเชื่อว่าเขาไม่สามารถทำได้ และเริ่มตัดสินใจปล่อยเศษผ้าผืนใหญ่ไว้กับชุดที่ยังตัดเย็บไม่สมบูรณ์
เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจกลับคืนมาสู่นักเรียนของตน ครูนพได้เลือกใช้บทบาทสมมติ มาเป็นเครื่องมือซักซ้อมให้แก่นักเรียน โดยได้เลือกใช้สถานการณ์ต่าง ๆ ตามบทเรียนที่นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น ในการเรียนไวยากรณ์ Present continuous ก็สามารถนำมารวมกับการเรียนคำศัพท์เกี่ยวกับเสื้อผ้าได้อย่างพอเหมาะ จนเกิดเป็นงานเดินแบบเล็ก ๆ ที่ครื้นเครงอย่างน่าเหลือเชื่อ
หลังจากสอนหลักไวยากรณ์และยกตัวอย่างการใช้งานเสร็จสิ้น ครูนพจะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 10 คน เพื่อเตรียมแข่งขันประกวดเสื้อผ้า โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับกล่องปริศนา ซึ่งรวบรวมเสื้อผ้าไว้อย่างหลากหลาย และดูไม่น่าเข้ากันได้ เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น นักเรียนจะต้องแบ่งหน้าที่เป็นนายแบบ/นางแบบ และดีไซเนอร์ เพื่อนำสิ่งของทุกชิ้นในกล่องมาสร้างเป็นเครื่องแต่งกายสุดโดดเด่น ก่อนจะเริ่มเดินแบบและนำเสนอไอเดีย รวมถึงอธิบายสถานการณ์ที่เหมาะสมในการแต่งชุดนั้น ๆ ตามที่ได้เรียนไปก่อนทำกิจกรรม
ในช่วงออกแบบกิจกรรม ครูนพมีความกังวลเล็กน้อย เนื่องจากการเดินแบบและการออกแบบเครื่องแต่งกาย น่าจะดึงดูดความสนใจของนักเรียนชายได้ยาก แต่เมื่อได้ทดลองใช้งานจริงกลับพบว่านักเรียนชายและหญิงมีความสนใจที่ใกล้เคียงกัน มิหนำซ้ำนักเรียนชายยังแย่งชุดสุดแซ่บไปใส่ก่อนผู้หญิงเสียอีก!
ครูนพเชื่อว่าการใช้บทบาทสมมติมาเป็นเครื่องมือช่วยสอน ไม่ได้ช่วยเพียงให้นักเรียนเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้นเท่านั้น แต่นักเรียนยังได้ความรู้ด้านความเหมาะสมของการแต่งกาย ได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม และมีความกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำไอเดียไปประยุกต์ใช้ในการสอนหัวข้ออื่น ๆ ได้อีกด้วย
จากการทดลองนำกิจกรรมเดินแบบไปใช้กับนักเรียนหลาย ๆ กลุ่ม พบว่านักเรียนทุกคนมีความกล้าพูดภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น โดยคนที่มีพื้นฐานดีจะสามารถนำเสนอได้อย่างสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันคนที่มีพื้นฐานน้อยกว่าก็มีความกล้าที่จะพูดแม้จะมีบางส่วนผิดหลักการก็ตาม ซึ่งครูนพยังคงเชื่อว่าเพียงนักเรียนได้กล้าพูด กล้าเล่น ก็นับว่ามีการพัฒนามากกว่าการไม่ได้ทดลองทำ
เมื่อการซักซ้อมจากคุณครูผ่านไปด้วยดี ดีไซเนอร์ตัวน้อยก็กลับมามีกำลังใจพัฒนาชุดของตนเองอีกครั้ง และแม้ระหว่างโลดแล่นบนพรมแดงจะพบตำหนิบางจุดบนชุด นายแบบ/นางแบบคนเก่งก็พร้อมจะแสดงความมั่นใจให้ผู้ชมมองข้ามข้อผิดพลาด และพร้อมจะกลับมาพัฒนาชุดให้สมบูรณ์และงดงามตระการตายิ่ง ๆ ขึ้นไป
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!