icon
giftClose
profile

บูรณาการพัฒนาสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราช

31332
ภาพประกอบไอเดีย บูรณาการพัฒนาสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราช

" จากผลิตภัณฑ์ชาวบ้านเล็กๆ สู่กระบวนการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด " บูรณาการการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ สังคมศึกษา - ศิลปะ - วิทยาศาสตร์ - การงานอาชีพ

" จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เรียนรู้ด้วยตนเอง นำมาสู่การคิดเชิงบูรณาการ เพื่อต่อยอด และพัฒนา "


ทักษะการคิดมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการคิดเชิงบูรณาการ ซึ่งผู้เรียนจำเป็นต้องมี เพราะเป็นทักษะการคิด ที่แสดงความสามารถ ในการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร มุมมองหรือแนวคิดที่แยกส่วน หรือมีความแตกต่างกัน ให้เข้ากับเรื่องที่เป็นแกนหลักได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เรื่องที่เป็นแกนหลักนั้นสมบูรณ์ มีเอกภาพ การคิดเชิงบูรณาการ เป็นการตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ช่วยให้มองเห็นสัมพันธภาพ ที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเหล่านั้น ส่งผลให้เราสามารถหาวิธีแก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม การคิดเชิงบูรณาการจึงเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมของโลกยุคปัจจุบัน( เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ , 2549 ) 

           นอกจากนี้ในด้านหลักสูตรและการสอนแบบเดิม ที่ยึดเนื้อหาวิชาเป็นหลัก และยึดครูเป็นศูนย์กลางนั้นล้มเหลว นักเรียนไม่สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างวิชาที่ได้เรียน และความสัมพันธ์ของวิชาที่เรียน กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ ทำให้นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของความรู้ ทำให้ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การแสวงหาความรู้ ไม่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นได้( ประดิษฐ์ เหล่าเนตร์ และคณะ, 2554 และการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ และภูมิปัญญาของชุมชน ชุมชนมีการบูรณาการองค์ความรู้ ผสานเข้ากับกระบวนความคิด วิถีการดำเนินชีวิต สังคม วัฒนธรรมเข้ากับ กระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง ร่วมกับการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ทำให้เกิดสุขภาวะ มีความเป็นอยู่ อย่างผาสุก สามารถพึ่งตนบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง ซึ่งสามารถอธิบายด้วยทฤษฎีบูรณาการของ เคน วิลเบอร์ ( Wilber , 2000 ) ที่มีแนวคิดว่าวิกฤติของโลกเกิดจากความ ไม่รู้หรืออวิชชา (Ignorance) วิธีการแก้ไขคือการพัฒนา ตนแบบองค์รวม (Integral transformation practice) ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณของตนเอง

           เพราะเหตุนั้น ผู้สอนจึงเกิดความสนใจที่จะพัฒนาทักษะการคิดเชิงบูรณาการโดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิดการจัดการความรู้ โดยใช้ หน่วยการเรียนรู้ แบบสหวิทยาการ เรื่อง ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราช ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านจอหอ จังหวัดนครราชสีมา โดย " ผู้เรียนสามารถนำความรู้ และ ทักษะที่ได้มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ อันเป็นภูมิปัญญา ในท้องถิ่นของตนเองได้ อีกทั้งสร้างความตระหนักให้แก่ผู้เรียนเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการสร้างอาชีพ " อีกทั้งเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ แบบบูรณาการสหวิทยาการในการศึกษาโดยใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงบูรณาการ อีกทั้งเป็นการสร้างความตระหนัก ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน


วิธีการนี้ผู้สอนได้จัดทำนวัตกรรม ได้แก่ หน่วยการเรียนรู้บูรณาการสหวิทยาการ เป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีลักษณะ การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ ประกอบด้วย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ และ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ โดยมีการนำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวเรื่องเดียวกัน ในที่นี้ ผู้สอนได้สร้างหน่วยการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ เรื่อง ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราช ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็น 1 หน่วยการเรียนรู้ มี 7 แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสอนตามแนวคิดการจัดการความรู้ อันเป็นขั้นตอนการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเกิดบริหารจัดการความรู้ที่เป็นระบบ สามารถเข้าถึงความรู้ และ นำเอาความรู้ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยมีขั้นตอนการสอนตามแนวคิดการจัดการความรู้เพื่อใช้ ในการเรียน การสอน 6 ขั้นตอน ( ทัศนีย์ ทองไชย , 2556 ) ดังนี้

           1) การเตรียมความพร้อมการจัดการความรู้ (Preparation for Knowledge Management ) เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้ โดยใช้กรณีตัวอย่าง ให้นักเรียนได้อภิปราย

           2) การออกแบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management Designing) เป็นการกำหนดเป้าหมายในการจัดการความรู้ กำหนดหน้าที่บทบาทของนักเรียนและวิธีการจัดการความรู้ให้ตรงตามเป้าหมาย

           3) การสร้างความรู้ (Knowledge Creating) จากความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นการสร้างความรู้โดยให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้า จากความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge) จนได้ความรู้ ที่มีอยู่ในตัวตนของนักเรียนเปลี่ยนเป็นความรู้ ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ตรงตามเป้าหมาย

           4) การแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ (Knowledge Sharing for the New Body of Knowledge) เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้โดยการระดมความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่ม จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของกลุ่ม

           5) การจัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ (Systematic Storing of Knowledge ) เป็นการจัดทำข้อมูลให้เป็นระบบเช่น การเขียน การพิมพ์ การวาด การถ่ายภาพ บันทึกเสียง ทําฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เข้าถึงความรู้ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ๆ

           6) การประยุกต์ใช้ความรู้ (Knowledge Applying) เป็นการนำความรู้ที่ได้มาสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และชุมชนอย่างสร้างสรรค์ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน





จากหน่วยการเรียนรู้ที่ผู้สอนได้พัฒนาขึ้น ความเหมาะสมในภาพรวมของการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ แบบสหวิทยาการ เรื่อง ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราชของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.58 อยู่ในระดับคุณภาพดีมาก

เนื่องด้วย ในการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้แบบสหวิทยาการนั้น มีกระบวนการการพัฒนาที่เป็นระบบ ซึ่งผู้สอนได้นำแนวทางการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรแกนกลาง ( 2551 ) ซึ่งมีกระบวนการเริ่มจากการวิเคราะห์มาตรฐาน และตัวชี้วัดในแต่ละช่วงชั้น วิเคราะห์สาระการเรียนรู้ กำหนดผังมโนทัศน์ ชื่อหน่วยการเรียนรู้ กำหนดเวลาเรียน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ นำไปทดลองใช้กับนักเรียน ทำให้มีกระบวนการที่เป็นระบบ และมีความสอดคล้องกันในทุกขั้นตอน จึงออกมาเป็นหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการสหวิทยาการ ที่มีความสอดคล้องกัน และซึ่งสอดคล้องกับ Fogarty ( 1991 , อ้างถึงใน อังคณะ ตุงคะสมิต , 2547 ) ที่ว่า ข้อดีของการบูรณาการแบบสหวิทยาการ ( Integrated ) จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้ง่าย ซึ่งนักเรียนจะถูกกระตุ้นความสนใจเมื่อเห็นความเชื่อมโยงต่อกันเหล่านั้น ซึ่งเมื่อนักเรียนสนใจก็จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในลำดับต่อมา และสอดคล้องกับ พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และ พเยาว์ ยินดีสุข ( 2560 ) ที่ว่า การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นการขจัดความซับซ้อนของเนื้อหาในต่างศาสตร์ การจัดเนื้อหามาผสมผสานจึงเป็นการลดความซับซ้อน ทำให้ลดเวลาสอนไปด้วย อีกทั้งได้สอดคล้องกับงานวิจัยของ ปวีณา ภูมิแดนดิน ( 2551) และ บังอร ดวงอัน ( 2555 )

จากการเปรียบเทียบทักษะการคิดเชิงบูรณาการ ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ พบว่า ทักษะการคิดเชิงบูรณาการ หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการจัดการความรู้ ( KM ) รายวิชา ส 22102 สังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม 4 หน่วยการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ เรื่อง ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราช ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สูงกว่าก่อนการใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้

เนื่องด้วย กระบวนการสอนตามแนวคิดการจัดการความรู้นั้นทำให้นักเรียนได้เกิดการคิดเชิงบูรณาการ การบูรณาการในที่นี้ ได้ผ่านการกระตุ้นจากครู ในแต่ละขั้นของการสอนตามกระบวนการของการจัดการความรู้ ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ขั้นสร้างความรู้ ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ ในขั้นสร้างความรู้นั้นผู้เรียนได้นำเอาประสบการณ์เดิมจากการเรียนรู้หลากหลายวิชาในอดีต ผสมกับความรู้ใหม่ ในหลากหลายวิชาที่ได้รับจากการลงพื้นที่ และการค้นคว้าหาข้อมูล ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งนักเรียนได้มีวิธีการแก้ปัญหาในระดับหนึ่งแล้ว และได้ความรู้ใหม่อีกครั้งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ได้แนวทางในการแก้ปัญหามาขึ้น จนมาสุดที่การประยุกต์ใช้ ที่นักเรียนได้วางแผน ลงมือทำ ตรวจสอบ และรายงานผลการทำงาน ผ่านกิจกรรมในหน่วยการเรียนรู้ จากกระบวนการนี้ทำให้นักเรียนได้เกิดทักษะการคิดเชิงบูรณาการที่มีความเข้มข้นตามลำดับ ซึ่งในประเด็นของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของการจัดการความรู้ ทำให้ทักษะการคิดเชิงบูรณาการของนักเรียนเพิ่มขึ้นนั้น สอดคล้องกับ พรพันธุ์ เขมคุณาลัย ( 2554 ) ที่ว่า บทบาทของผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้มี 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ผู้เรียนมีบทบาทในการเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้ ทั้งความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้ง และ ช่วงที่ 2 คือ ผู้เรียนมีบทบาทในการนำความรู้จากช่วงแรกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ ซึ่งมีกระบวนการที่เรียกว่าการถอดความรู้ เป็นการที่ผู้เรียนนำความรู้มาเก็บรวบรวม แล้วนำมาแลกเปลี่ยนความรู้ จนได้คลังความรู้ร่วมกัน จากนั้นนำความรู้ที่ได้จากคลังความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ปัญหา

อีกทั้งนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการจัดการความรู้ หน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการสหวิทยาการ เรื่อง ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวโคราช ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.29 อยู่ในระดับ พึงพอใจมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากทุกด้านเรียงลำดับดังนี้ ด้านครูผู้สอนมีค่าเฉลี่ย 4.40 ด้านผู้เรียนมีค่าเฉลี่ย 4.25 และด้านกิจกรรมการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ย 4.21 ซึ่งสอดคล้องกับ พรพันธุ์ เขมคุณาลัย ( 2554 ) ที่ว่า การจัดการความรู้เป็นการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น ความเอื้ออาทร การแบ่งปัน การเปิดใจชื่นชมยินดีที่จะรับความความรู้ใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ แม้ความคิดนั้นจะแตกต่างจากความคิดเห็นของตน การเปิดใจรับฟังสิ่งที่คนอื่นคิดเป็นการไม่ปิดกั้นตัวเองจากคนอื่น ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการทบทวนไตร่ตรอง และเลือกสิ่งที่มีคุณค่ามาปรับประยุกต์ใช้ ช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดำเนินไปบนพื้นฐานความเป็นกัลยาณมิตรและความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งผู้สอนก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียนในการสอนในใช้กระบวนการจัดการความรู้ อีกทั้งผลการสอดคล้องกับงานวิจัยของ ผกามาศ พีธรากร ( 2558 ) ที่ว่า ผลการใช้รูปแบบการเรียน การสอนแบบบูรณาการโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ที่พัฒนาขึ้น พบว่า นักศึกษาพยาบาลพึงพอใจรูปแบบการเรียน การสอนโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลในระดับมาก



ข้าพเจ้าหวังว่าผลงานของข้าพเจ้าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน
นายยุทธเดช อันทอง
ครูโรงเรียนบ้านจอหอ



การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ



ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 2

ชื่อไฟล์​: NICCI-012 นายยุทธเดช อันทอง.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 19 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(0)