icon
giftClose
profile

Family Project เชื่อมต่อทุกความสัมพันธ์

26694
ภาพประกอบไอเดีย Family Project เชื่อมต่อทุกความสัมพันธ์

เมื่อครูขอเป็นนักฉวยโอกาสพลิกสถานการณ์โควิดให้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครู

Family Project เชื่อมต่อทุกความสัมพันธ์

เปลี่ยนสถานการณ์โควิดให้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเรียนรู้ ที่ชวนนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครู มาสร้างและหา "ความหมาย" ในการเรียนรู้ร่วมกัน


ที่มาและแรงบันดาลใจ

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้ครูเมย์ คุณครูประจำวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจากวิธีการดังกล่าว คุณครูพบว่านักเรียนมีการตอบสนองต่อการเรียนน้อยลง บวกกับโรงเรียนมักมีโครงการ (project) ให้นักเรียนได้ทำเป็นประจำ จึงเป็นที่มาและแรงบันดาลใจให้ครูเมย์ ออกแบบการสอนออนไลน์แนวใหม่ที่เชื่อมต่อทุกความสัมพันธ์


เริ่มกระบวนการ

Family project เกิดจากไอเดียของครูเมย์ที่เชื่อว่าการเรียนรู้อยู่รอบตัว และเป็นโอกาสดีที่จะชวนนักเรียนและผู้ปกครองมาเชื่อมสัมพันธ์ ในช่วงที่นักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวที่บ้าน


ครูเมย์เริ่มต้นจากการสังเกตปัญหารอบตัว แล้วทบทวนว่าปัญหาอะไรนะที่อยู่ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด


“ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ยังไงล่ะ ที่แม้เราจะไม่ทันก้าวเท้าออกจากบ้าน เราต่างก็พบปัญหานี้ร่วมกันและนั่นเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนมากกว่าที่คิด

“ปัญหาสิ่งแวดล้อม” จึงกลายมาเป็นหัวข้อหลักของ Family project ในครั้งนี้


Family project คือ การให้นักเรียนและผู้ปกครองร่วมมือกันสร้าง “โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม” จากสิ่งใกล้ตัว โดยอาศัยหลักการ Design Thinking จากนั้นจึงนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาผ่านทางออนไลน์ให้คุณครูฟัง


Design Thinking ในแบบฉบับของ Family project ประกอบด้วย

1. Define the problem (เลือกหนึ่งปัญหาใกล้ตัวที่คุณอยากแก้ไข)

ครูเมย์เริ่มต้นกระบวนการด้วยการชวนนักเรียนมองหาว่ารอบ ๆ ตัวของเขามีอะไรบ้างที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วจึงให้นักเรียนและผู้ปกครองร่วมกันเลือกปัญหาใกล้ตัวที่อยากแก้ไข

2. Find a solution (เสนอทางแก้ไขปัญหา)

จากนั้นให้นักเรียนและผู้ปกครองระดมสมองและร่วมมือกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

3. Prototype (ทดลอง)

ขั้นตอนนี้นักเรียนและผู้ปกครองจะได้ลงมือทดลองแก้ปัญหาจากแนวคิดที่เสนอมา เช่น หมักปุ๋ยจากเศษอาหาร ทำกระถางต้นไม้จากขวดน้ำ เป็นต้น

4. Test (ทดสอบ)

สุดท้ายจึงทดสอบ prototype ที่ได้ลงมือในข้อที่ 4 จากนั้นสรุปผลว่าจากการแก้ปัญหาครั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองได้ค้นพบข้อดีและข้อควรปรับปรุงอะไรบ้าง


ผลลัพธ์ของโปรเจค

ครูเมย์พบว่านักเรียนมีความภูมิใจและตั้งใจในการนำเสนอผลงานที่เขาได้มีโอกาสออกแบบและคิดค้นร่วมกับครอบครัว นอกจากนี้ผลตอบรับจากผู้ปกครองก็เป็นที่น่าประทับใจ เพราะหลายท่านดีใจที่ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับบุตรหลานมากขึ้น


Family project ไม่เพียงแต่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในสร้างความร่วมมือระหว่างคุณครูกับนักเรียน และคุณครูกับผู้ปกครอง ผ่านการได้ทดลองและการนำเสนอที่เชื่อมทุกความสัมพันธ์ให้แข็งแรง และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์


“In the midst of every crisis, lies great opportunity” – Albert Einstein

“ท่ามกลางวิกฤต ยังมีโอกาสเสมอ” – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์


คอลัมนิสต์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนมองเห็น “ความเป็นไปได้” และสามารถสร้าง “โอกาส” ในทุกสถานการณ์นะคะ


คุณครูเจ้าของไอเดีย: สุวรัตน์ บุญยะรัตพันธ์ (ครูเมย์) คุณครูประจำวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว: ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย (ครูเท็น) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(1)