icon
giftClose
profile

การปลูกความอยากเรียน และความกล้าที่จะสร้างสรรค์

6580
ภาพประกอบไอเดีย การปลูกความอยากเรียน และความกล้าที่จะสร้างสรรค์

เรื่องราวจากครูคูณ ณิชนันทน์ ชนกกุล จากโรงเรียนบ้านโคก กับเส้นทางการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน เพื่อหาวิธีการออกแบบการเรียนรู้ การบ่มเพาะความคิด และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการวัดประเมินผลที่หลากหลาย ให้กับนักเรียนที่ตั้งคำถามว่า "เรียนไปทำไม บ้านผมมีวัวเยอะ ๆ ก็พอแล้ว)

วิชาที่เราสอนคือวิทยาการคำนวณ ในขณะที่บริบทของเราโรงเรียนที่นักเรียนจะตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า "เรียนไปทำไม บ้านผมมีวัวเยอะ ๆ ก็พอแล้ว" และสิ่งที่ทำให้นักเรียนมาโรงเรียนคือ "ความสัมพันธ์" กับคุณครู และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน มากกว่าที่จะเป็นการมาเพื่อหาความรู้จากในตำรา ดังนั้นโจทย์แรกของเราเลยคือทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียนก่อน วิธีการเตรียมตัวของเราจะเริ่มจาก


  • ประเมินนักเรียนของเราก่อนว่าความรู้ของพวกเขาอยู่ในระดับไหน และพวกเขาสนใจเรื่องอะไร

.

  • ทำความเข้าใจเนื้อหา แบบเข้าใจจนเราสามารถออกแบบได้ว่าจะสอนอย่างไรให้นักเรียนที่ต่างระดับความสามารถกันสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาเดียวกันได้ ซึ่งแน่นอนว่าในหลาย ๆ ครั้งเราต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันเพื่อเข้าถึงกลุ่มกัน

.

  • สนับสนุนนักเรียนกลุ่มที่อาจจะยังไม่เคยได้รับการฝึกให้ใช้จินตาการ ซึ่งทำให้ในบางครั้งพวกเขาจะสะดุดเวลาที่ต้องต่อจุดทางความคิด

.

สำหรับขั้นตอนแรก เราต้องมีการมานั่งคุยกันก่อนว่าเรียนไปเพื่ออะไร และจะต่อยอดในทิศทางที่มันจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของนักเรียนได้อย่างไรบ้าง เช่น "ถ้ามีวัว แต่ไม่มีความรุ้ โตไปเค้าก้มาหลอกเราได้"

ในขณะเดียวกันเราก็ออกแบบห้องเรียนให้มีสีสันด้วย เพราะถ้ามันน่าเบื่อ การเรียนรู้ของนักเรียนก็จะหยุดลง ตัวอย่างของสีสันในห้องเรียนที่เรากับนักเรียนสนุกไปด้วยกันได้ เช่น

.

>>>การให้นักเรียนเรียนรู้ ผ่านการได้ลงมือทำจริง

จุดร่วมที่เราเจอคือนักเรียนที่เราสอนจะชอบกิจกรรมที่ได้ลงมือทำ เช่นตอนนั้นเราได้ไปสอนวิทยาศาสตร์ ตัวชี้วัดพูดเรื่องพืช เราก็ให้นักเรียนออกจากห้องเรียน และไปสำรวจพืชจริง ๆ ในบริเวณโรงเรียนเลย โดยมีภารกิจให้ว่าให้ไปตามหาใบไม้ที่มีลักษณะต่าง ๆ และลองนำใบไม้เหล่านั้นมาวาดภาพ เริ่มแรกก่อนเลยคือนักเรียนก็รู้สึกสนุกกับการได้ออกจากความจำเจของการต้องอยู่ในห้องเรียน และนักเรียนก็ได้เรียนรู้เรื่องพืชตามที่ตัวชี้วัดต้องการด้วย

.

.

>>> การสร้างพื้นที่ที่นักเรียนจะได้ลองคิด และลองค่อย ๆ ยืดเหยียดจินตนาการของตัวเอง

ในส่วนของวิชาวิทยาการคำนวณ อุปกรณ์เราไม่ได้พร้อมเลย แต่แก่นของวิชาวิทยาการคำนวณมันคือการลำดับความคิด ดังนั้นเราสามารถให้นักเรียนฝึกทักษะการคิดผ่านสิ่งรอบตัวได้ เช่นการเดินทางจุด A ไปยังจุด B ในโรงเรียน นักเรียนจะวางแผนอย่างไร และตัดสินใจอย่างไร

.

แต่เมื่อคำตอบไม่ได้ตายตัว เราได้เรียนรู้อีกเรื่องหนึ่งจากนักเรียนว่าสำหรับบางคน "ความคิดสร้างสรรค์" เป็นเรื่องที่ใหม่ ๆ มาก ๆ สำหรับพวกเขา เพราะในชีวิตประจำวันของพวกเขาอาจไม่ได้มีพื้นที่ที่พวกเขาจะต้อง "สร้าง" อะไรใหม่ขนาดนั้น และทำให้นักเรียนเกิดอาการ "ไม่กล้าสร้าง" ไปด้วย วิธีการของเราคือเริ่มจากการให้ทำตามก่อน ทีละขึ้นตอน เช่นการวาดรูปพระจันทร์ เราชวนนักเรียนมาเทพื้นหลังเป็นสีดำก่อน และค่อย ๆ วาดวงกลมสีเหลือง หลังจากนั้นเราจะยังไม่บอกนะ เราจะถามก่อน ว่านักเรียนเห็นอะไร

.

เราคิดว่าหัวใจของมันคือเข้าใจถึงระดับความเร็วในการเรียนรู้ที่ต่างกันของนักเรียน และการใจเย็นกับการเติบโตของแต่ละคน

.

.

>>> การออกแบบจากความเข้าใจ ในความไม่เข้าใจ

เราเองก็เคยเป็นเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองเรียนไม่ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าใจนักเรียนที่อาจจะกำลังรู้สึกเหมือนกัน และเริ่มตั้งคำถามว่าคำว่า "เรียนไม่ได้" นั้นมันเกิดจากอะไร จนเราได้พบว่าโจทย์ที่หนังสือให้มามักเป็นคำพุดปรุงแต่ง เราก็เลยเอามาปรับเป็นภาษาบ้าน ๆ แล้วพอบทเรียนมันใกล้ตัวพวกเขามากขึ้น นักเรียนก็เข้าใจมันได้มากขึ้น

.

.

และสุดท้าย ในเรื่องของการวัดผล

การวัดผลในแต่ละคาบเราจะดูจากชิ้นงานของนักเรียน บางครั้งจะเป็นการเขียนอธิบาย ซึ่งถ้าหากว่าบางคนเขียนไม่เป็นความ เราก็จะบอกนักเรียนว่าลองพยายามวาดออกมาก็ได้ นักเรียนก็จะได้เรียนรู้การฝึกการสื่อสารผ่านภาพด้วย และถ้าวาดไม่ได้ จะมาพูดสรุปบทเรียนให้ครูฟังเลยก็ได้

.

เมื่อนักเรียนไม่ถูกจำกัดด้วยการเรียนรู้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พวกเขาจะไม่ดูถูกคุณค่าของตัวเองเพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถทำตามกรอบได้ และเราเองก็ได้เรียนรู้ว่า ในบทบาทของครู เราก็ไม่ได้มีวิธีการสอนแบบเดียวที่ถูกที่สุดสำหรับนักเรียนทุกกลุ่มเช่นเดียวกัน

.

.

ขอขอบคุณ ครูคูณ ณิชนันทน์ ชนกกุล โรงเรียนบ้านโคก สำหรับการแบ่งปันเรื่องราว และควาเป็นไปได้ในโลกของนักเรียน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(2)