ในมุมของนักเรียนหลายๆการทำพอร์ตฟอลิโอเหมือนการตีตั๋วรถไฟเที่ยวแรกที่กำลังจะออกจากชานชาลาไปสู่สวนสวรรค์ ใบเบิกทางชั้นดีที่พาก้าวผ่านความกดดันในการสอบและความวิตกจากการไต่ระดับสู่อุดมศึกษา แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อตั๋วรถไฟเที่ยวนี้ราคาไม่เบาเลย มันต้องจ่ายด้วยทั้ง “เวลา” “ความสามารถ” และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ความเข้าใจในตัวเอง” นักเรียนมากมายทำพอร์ตโฟลิโอส่งด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม มีอีกมากที่ยังคงกระวนกระวายหาผลงานมาเรียงร้อยเข้าเล่ม และอีกมากโขที่ยังลังเลสับสนในเส้นทางของตัวเอง
“เด็กบางคนไม่รู้ว่าพวกเขาอยากเป็นอะไร บางคนรู้แล้วแต่ยังลังเล และบางคนนั้นไม่กล้าจะพูดความฝันของตัวเองให้ใครฟังด้วยซ้ำเพราะกลัวความผิดหวัง”
สำหรับวันนี้เรามาชวนคุยกับคุณครูแจง (ศิริพร ทุมสิงห์) เธอเป็นครูแนะแนวของโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง ครูแจงได้ให้คำปรึกษาเด็กๆที่กำลังจะก้าวพ้นวัยมัธยมหลายต่อหลายคน และค้นพบว่าพวกเขายังคงหาตัวเองไม่เจอและมีเหตุผลเฉพาะทางหลากหลายกรณีด้วยกัน
“ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาที่ยังคงลังเลหรือไม่รู้ตัวว่าจริงๆควรเดินตัวไปในทิศทางไหน ทุกคนเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ร้อยพ่อพันแม่ ความกดดัน แรงผลักดันไม่เท่ากันอยู่แล้ว เราในฐานะครูผู้สอนต้องคอยประคับประคองเขา ชี้ทางที่เขาจะสามารถเข้าใจตัวเองได้ แต่ไม่ใช่ไปเดินนำ ไปชี้บอกว่าเธอเรียนเก่งเป็นหมอสิ หรืออะไรทำนองนั้น สิ่งที่นักเรียนต้องการคือความเข้าใจ เข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบที่มีอยู่นั้นพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรนั่นคือคำถามที่ต้องพากันขบคิด คิดจนสมองแทบแหลก”
คุณครูผู้อารมณ์ดีพูดเหมือนยิ้มคล้ายไม่ยิ้ม เมื่อทบทวนตัวเองได้ดังนี้แล้ว ครูแจงจึงคิดแผนการแนะแนวขึ้นมา
โดยริเริ่มก้าวเล็กๆจากการให้เด็กๆทำความรู้จักตัวเอง ความฝัน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
ความพิเศษของกิจกรรมนี้อยู่ที่การแบ่ง Section ของเด็กๆหลังการทำแบบทดสอบ เพราะนอกจากเด็กๆจะรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นแล้ว คุณครูผู้สอนยังจะได้รู้จักพวกเขาเพิ่มขึ้นเพื่อจัดคำแนะนำที่เหมาะสมได้ด้วย โดยอ้างอิงจากทฤษฎีกินซ์เบิร์ก
กระบวนการทำกิจกรรม
1.ให้นักเรียนเริ่มการค้นหาตัวเองจากแนวทางตามแผนผังดังรูป เมื่อตอบปัญหาได้ครบตามหัวข้อแล้วก็จะรู้ได้ว่าตัวเองอยู่ Section ไหนและได้เริ่มทำแบบทดสอบต่อไป
โดยแต่ละแบบทดสอบนั้นนักเรียนแต่ละกลุ่มจะได้คำถามที่ไม่เหมือนกัน เช่น Section A จะได้คำถามที่เฉพาะเจาะจงเพราะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะมั่นใจในเป้าหมายของตัวเอง Section B และ C จะได้คำถามที่ละเอียดกว่าเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นปลายทางของเด็กคือจุดหมายเดียวกัน จุดหมายที่จะค้นพบว่าเขาคือใครและต้องการอะไรสำหรับอนาคตของตัวเอง
**** มีไฟล์เอกสารเพื่อประกอบการแนะแนวการสอนตอนท้ายของบทความ
และเมื่อสำเร็จเป้าหมายขั้นหนึ่งแล้วลำดับต่อมาคือการเรียบเรียงออกมาเป็นเรียงความ
ในขั้นตอนเหล่านี้คุณครูแจงได้ฝากใจความสำคัญข้อสุดท้ายเพื่อเน้นย้ำไว้ว่า
“พอทำในกระดาษนั้นตามทฤษฎี สิ่งที่สำคัญของคาบเรียนนี้คือการให้เวลาหลังเลิกเรียน หรือ พักเที่ยง ให้เขาร่วมกลุ่มเพื่อนมานั่งคุยกับครูแหละ ซึ่งมันจะมีเวลาได้ลงดีเทลได้เข้าใจเขามากกว่าการทำใบงาน สิ่งควรใส่ดอกจันว่าควรทำ
เพราะไม่ใช่ครูทุกคนที่คิดว่าเด็กต้องเข้าหาครู ครูเองก็อาจจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขาก็ได้ ครูต่างหากที่ควรทำหน้าที่เปิดรับและเปิดใจรับฟังความยากลำบากของเขาในการตัดสินใจเลือกอาชีพและวางแผนการศึกษาต่อ ที่มันจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตเขาที่จะช่วยครอบครัวหรือช่วยให้คุณภาพชีวิตเขาดีมากขึ้น”
สามารถติดตามและแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณครูแจงได้ที่ เพจ ศิริพรพร้อมปรึกษา เพราะว่าทุกเรื่องราวมีทางออก (Facebook)
ขอขอบคุณสำหรับไอเดียดีๆและประสบการณ์การพูดคุยที่สร้างแรงบันดาลใจ...
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!