icon
giftClose
profile

ห้องเรียนศิลปะ สนุก...เลือกได้!

86341
ภาพประกอบไอเดีย ห้องเรียนศิลปะ สนุก...เลือกได้!

คาบเรียนศิลปะฐานทางเลือกที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการเลือกตามความสนใจ ทดลองเทคนิค สร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ และมีประสบการณ์แบบศิลปิน โดยครูจูเนียร์และครูน้ำน้อย

ห้องเรียนศิลปะ สนุก...เลือกได้

สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้ทักษะของคนในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม จึงมีความจำเป็นในการเตรียมคนไทยให้มีความพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันรุนแรง (วิจารณ์ พานิช, 2555) ด้วยการพัฒนาคนไทยให้สามารถเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ (ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์,2558) โดยจะต้องเน้นทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูกระบุไว้ 4 ทักษะสำคัญ ได้แก่ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ทักษะการสร้างสรรค์ (Creativity) ทักษะการสื่อสาร (Communication) และทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration) (Stauffer, 2020) ทั้งนี้กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะดังกล่าว ควรจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ดังนั้นหลักการสอนจึงต้องให้ผู้เรียนกำหนดเป้าหมายและหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนต้องรู้จักเลือกและคัดกรองข้อมูลเพื่อนำมาสร้างความรู้ ประยุกต์ปรับใช้และสามารถประเมินตนเองได้ ซึ่งบทบาทของผู้สอนจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้สอนบอกความรู้ให้กับผู้เรียน ผู้เรียนมีหน้าที่ฟัง จด ท่อง จำและนำไปสอบ รูปแบบนี้จึงไม่ทำให้เกิดทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21  ผู้เรียนไม่สามารถคิดและพัฒนาความรู้ จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการสอนมาเป็นการสอนที่ผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำให้ผู้เรียนหาความรู้ด้วยตัวเอง ด้วยหลักการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์สร้างองค์ความรู้ใหม่ (ไพฑูรย์  สินลารัตน์, 2558)

            ศิลปะเข้ามารับบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสามารถส่งเสริมสมาธิและการรับรู้อัตลักษณ์ส่วนบุคคลและสังคม จนเกิดความมั่นใจและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคม โดยศิลปะเป็นกิจกรรมที่มีสภาพแวดล้อมปลอดภัยต่อการเรียนรู้ของเด็กและง่ายต่อการเรียนรู้ ตลอดจนท้าทายสติปัญญาจากการกระตุ้นความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงเปรียบเทียบ และการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น รวมถึงมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้และการพัฒนา (Chemi & Du, 2017) ณชนก หล่อสมบูรณ์ และอภิชาติ พลประเสริฐ (2563) กล่าวว่าศิลปะมีความสำคัญและต้องส่งเสริมในระบบการศึกษา โดยการออกแบบการเรียนการสอนที่คำนึงถึงพัฒนาการทางศิลปะในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์บูรณาการเข้ากับศาสตร์อื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เมื่อผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ ก็จะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการในการแสดงออกทางความรู้สึก ความคิดของผู้เรียน และพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา

คณะผู้พัฒนาจึงมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าศิลปะควรเข้ามาเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกัน อย่างครบวงจร โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษารูปแบบการเรียนรู้ศิลปศึกษาบนฐานทางเลือก โดยมีหลักการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เชื่อว่าผู้เรียนเปรียบเสมือนศิลปิน เน้นให้ผู้เรียนมีทางเลือกอย่างหลากหลายเพื่อตอบสนองความสนใจและความถนัดของผู้เรียนผ่านการลงมือปฏิบัติจนเกิดการเรียนรู้และสามารถทำความเข้าใจกับขั้นตอนการสร้างสรรค์งานศิลปะ (Douglas & Jaquith, 2009) จนตกผลึกเป็นความคิด ได้เป็นแนวคิดห้องเรียนศิลปะที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในปัจจุบัน


หลักการสำคัญของ CBAE

ผู้เรียนเปรียบเหมือนศิลปิน เรียนรู้ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านศิลปะปฏิบัติ ประวัติศาสตร์ศิลป์ ศิลปะวิจารณ์ และสุนทรียศาสตร์ ครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ สอนเทคนิค อำนวยความสะดวก เตรียมพื้นที่ อุปกรณ์ให้มีความหลากหลายเป็นลักษณะฐานกิจกรรม จัดแหล่งเรียนรู้เพื่อใช้ในการค้นคว้า กำหนดเป้าหมายร่วมกันการจัดการเรียนรู้ (Modified Choice) และต้องใช้มีการประเมินผลหลากหลาย ทั้งเกณฑ์ ประเมินตนเอง สังเกตพฤติกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ครูควรใช้คำถามกระตุ้นความคิด และส่งเสริมศิลปะนิสัยที่ดี เช่น การทำความสะอาด เก็บของเข้าที่ การแบ่งปัน การยอมรับฟังความคิดเห็นและคำวิจารณ์ของเพื่อน รู้จักคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในห้องเรียน เป็นต้น คณะผู้พัฒนาได้นำหลักการของ CBAE มาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทย และเป็นที่มาของ "ห้องเรียนศิลปะ สนุก...เลือกได้!"


ห้องเรียนศิลปะ สนุก...เลือกได้

(คณะผู้พัฒนา ครูจูเนียร์ ณชนก หล่อสมบูรณ์ และ ครูน้ำน้อย ปรียศรี พรหมจินดา)

คาบเรียนศิลปะฐานทางเลือกที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการเลือกตามความสนใจ ทดลองเทคนิค สร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ และมีประสบการณ์แบบศิลปิน


1.ค้นหาไอเดีย

ขั้นการค้นหาแรงบันดาลใจสู่ไอเดีย เป็นขั้นที่เด็กและครูระดมสมองพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่แต่ละคนสนใจ ครูค่อยกระตุ้นด้วยคำถามปลายเปิดและสนับสนุนทุกไอเดียของเด็ก โดยปราศจากการตัดสินไอเดียของเด็ก กล่าวคือเน้นไอเดียทั้งที่มาจากจินตนาการหรือเหตุผลเป็นหลัก ทั้งนี้เด็กเป็นผู้กำหนดการทำงานแบบกลุ่มและเดี่ยวด้วยตนเอง รวมถึงจัดหาแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม เช่น หนังสือภาพ ผลงานประติมากรรมชิ้นงานจริง จัดทัศนศึกษาที่หอศิลป์ เป็นต้น



2.เลือกสรร...ที่ฉันสนใจ

เป็นขั้นที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก ทดลอง เทคนิคการสร้างงานศิลปะและอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ โดยครูทำหน้าที่เอื้ออำนวยการเรียนรู้ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนจัดหาแหล่งเรียนรู้ที่จะส่งเสริมเพื่อให้ได้ไอเดียที่สมบูรณ์ตามความสนใจของเด็ก เด็กจะประเมินความเป็นไปได้ด้วยตนเอง เพื่อเตรียมตัวสู่ขั้นการเรียนรู้ต่อไป


3.สตูดิโอของเรา 

เป็นขั้นที่เด็กได้ร้อยเรียงไอเดียที่เป็นนามธรรม สู่การสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม จากการได้เลือกสรร สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคและอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ เป็นขั้นตอนที่เด็กจะได้เรียนรรู้ แก้ปัญหา ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยเด็กจะสามารถปรึกษาเพื่อนและครูระหว่างการสร้างสรรค์ โดยยังมีครูคอยเอื้ออำนวยการเรียนรู้ 


4.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน

เป็นขั้นตอนหลังจากที่เด็กๆได้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว เด็กจะมีโอกาสบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและไอเดีย ในการสร้างสรรค์ให้แก่เพื่อนในห้องเรียนได้ฟัง ซึ่งเด็กแต่ละคนจะได้เรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ผลงานของทุกคนจะได้นำไปร่วมจัดแสดงในชั้นเรียน ซึ่งครูจะเป็นผู้อำนวยการจัดบรรยากาศห้องสตูดิโอให้เป็นเช่นเดียวกับการแสดงผลงานในหอศิลป์ ครูจะเปิดโอกาสให้เพื่อนๆทุกคนในชั้นได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้ระหว่างการทำงานในขั้นที่ผ่านมา รวมถึงร่วมกันชื่นชม แนะนำเพื่อนๆอย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาผลงานของเพื่อนให้ดียิ่งขึ้นไป



ผลลัพธ์จากห้องเรียนศิลปะ สนุก...เลือกได้

จากการสัมภาษณ์เด็กๆ พบว่าเด็กทุกคนมีความรู้สึกเชิงบวกต่อการจัดการเรียนรู้... เพราะได้สร้างสรรค์ผลงานจากทางเลือกที่หลากหลายด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยเด็กๆส่วนใหญ่ประทับใจขั้นสตูดิโอของเราเพราะได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อน มีเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่กดดัน บรรยากาศในชั้นเรียนเป็นไปอย่างอิสระและผ่อนคลาย โดยมีครูที่พร้อมจะให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ และรองลงมาคือ ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน เพราะได้ประเมินคนเองและเพื่อน ๆ รู้สึกท้าทายและตื่นเต้นเวลาเพื่อนมาประเมิน และได้รับคำชื่นชมจากเพื่อนๆ ทำให้รู้สึกมีความสุข

อีกทั้งเด็กๆทุกคนรับรู้ได้ว่าผลงานศิลปะของพวกเขาดีขึ้นกว่าเดิม


อ้างอิง

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. (2558).  80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. พิมพ์ครั้งที่6. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ไพฑูรย์  สินลารัตน์. (2558). ปรัชญาการศึกษาเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณชนก หล่อสมบูรณ์ และอภิชาติ พลประเสริฐ, .(2563). ศิลปะเพื่อจูงใจการเรียนรู้ของเด็ก. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 24(1), 97-108

Douglas, K., & Jaquith, D. (2009). Engaging Learners Through Artmaking. Teachers College Press.

Stauffer, B. (2020). What are the 4C’s of 21st century skills?. Retrieved from https://www.aeseducation.com/blog/four-cs-21st-century-skills

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(9)
เก็บไว้อ่าน
(7)