“เลียบร้อย” “กับบ้าน” “นะค่ะ” เป็นคำที่นักเรียนไม่ควรสะกดผิด เจอคนสองคนครูยังพอทนได้ เข้าใจ แต่เมื่อเจอเยอะขึ้น ครูก็ถือว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่แล้ว จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน การตรวจสอบจากใบงาน การจดสรุปความรู้ในสมุด และการเขียนตอบในข้อสอบอัตนัยพบว่า นักเรียน ม.3 มีปัญหาการเขียนสะกดคำไม่ถูกต้อง จำนวนมาก เนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ การขาดความสนใจที่จะสะกดให้ถูก การขาดความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และการใช้แนวเทียบผิด ซึ่งหากไม่ได้รับการพัฒนาหรือแก้ไขก็อาจส่งผลต่อการศึกษา การทำงาน และการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ ครูจึงคิดหาวิธีการที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ในเรื่องการเขียนสะกดคำ
โดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้แนวคิดพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ที่พัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) มีขั้นตอนของการจัดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ในการเรียนรู้และมีความน่าสนใจ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพหุปัญญาแต่ละด้านให้นักเรียน มีทั้งสิ้น 9 ด้าน ได้แก่1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) 2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) 3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence) 4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence) 5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) 6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) 7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intelligence) 8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) 9. ความฉลาดในการคิดใคร่ครวญ (Existential intelligence)
จากขั้นตอนของการจัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพหุปัญญาทั้ง 9 ด้าน จะเห็นได้ว่าเป็นแนวคิดการจัด การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งยังเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เป็น Active learner อีกด้วย ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบพหุปัญญา จึงมีความน่าสนใจและเหมาะสมที่จะนํามาพัฒนานักเรียนในเรื่อง การเขียนสะกดคำ
เนื้อหาในการเรียนอาจมีจำนวนมาก เนื่องจากการจัดการเรียนรู้นี้ ไม่ใช่การเริ่มจาก 0 เพราะนักเรียนได้เรียนเนื้อหาเหล่านี้มาบ้างแล้วในชั้นที่ผ่านมา และทั้งหมดนี้ใช้เวลาได้มากกว่า 4 ชั่วโมง
1. คำประวิสรรชนีย์และไม่ประวิสรรชนีย์
2. คำที่ใช้สระ เ-อ
3. คำที่ใช้ไม้ไต่คู้
4. คำที่ใช้ รร
5. คำที่ใช้ ใช้ ใ- ไ- -ัย และ ไ-ย
6. คำที่ใช้ –ำ -ัม –ำม และ –รรม
7. คำที่ใช้ บรร บัน
8. คำที่ใช้ ศ ษ ส
9. คำที่ใช้ ณ น
10. คำที่ใช้ ซ ทร
11. คำเป็นคำตาย
12. การผันวรรณยุกต์
ในการจัดการเรียนรู้ก็จะจัดตามเนื้อหาที่ต้องการสอนและประยุกต์ผ่านแนวคิดพหุปัญญา ดังนี้
1.ครูให้นักเรียนร่วมเล่นเกม “THE DAVINCE CODE รหัสลับ ดาวินชี” ผ่านโปรแกรม Power point ซึ่งเป็นเกมที่ให้นักเรียนทายคำศัพท์จากภาพที่กำหนดให้ภายในระยะเวลา 10 วินาที โดยมีคำต่าง ๆ ดังนี้ (พัฒนาในด้าน Visual/Spatial Intelligence ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยการมองเห็นภาพ/มิติ)
1.1 มะตะบะ
1.2 อิสรภาพ
1.3 เดิน
1.4 จรรยา
2. ครูให้นักเรียนสรุปความรู้ที่ได้จากการศึกษาใบความรู้ แล้วเขียนเป็นแผนผังลงในกระดาษฟลิปชาร์ต กลุ่มละ 1 แผ่น (พัฒนาในด้าน Interpersonal Intelligence ความฉลาดที่จะสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจผู้อื่น)
3. ครูสุ่มให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอแผนผังสรุปความรู้ของกลุ่มตนเอง โดยมีครูและเพื่อนร่วมให้ผลป้อนกลับ (พัฒนาในด้าน Verbal/Linguistic Intelligence ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยการฟัง พูด และใช้ภาษา)
4. ครูตั้งคำถามพัฒนาการคิด ดังนี้ (พัฒนาในด้าน Logical/Mathematical Intelligence ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยเหตุผล ตรรกะ และตัวเลขและ Naturalistic Intelligence ความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรอบตัว)
1) ครูถามนักเรียนว่า “ทำไมคำว่า “ก็” ไม่เขียนว่า ก้อ” (แนวคำตอบ : เพราะคำว่าก็ ประสมด้วย ก - สระ เอาะ – วรรณยุกต์เสียงโท ถ้าเขียนตรงตัว คือ เก้าะ แต่หลักภาษาไทยกำหนดให้ เมื่อ ก ประสมกับ ไม้โท และสระเอาะ ต้องเปลี่ยนรูปเป็นไม้ไต่คู้ ซึ่งมีคำเดียวเท่านั้นในภาษาไทย)
2) ครูถามนักเรียนว่า “ทำไมบางคนถึงเขียนสะกดคำผิด” (แนวคำตอบ :
1. อ่านหนังสือน้อย พออ่านหนังสือน้อย คลังคำศัพท์ในหัวก็จะน้อยตามไปด้วย แล้วเวลาได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆ ก็จะใช้แค่ประสาทหู จำเอาแค่เสียง ซึ่งมีโอกาสในการฟังเพี้ยนสูงมาก เช่น "รัชกาล" กับ "ราชการ" พอถึงเวลาต้องเขียนนั้นจึงเขียนผิดได้
2. แยกภาษาพูด-ภาษาเขียนไม่ออก ภาษาพูด เป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ ใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน ทั้งพูด และเขียน/พิมพ์ ที่ไม่ใช่การติดต่อกิจธุระ ภาษาเขียน เป็นภาษาที่ใช้ติดต่อกันอย่างเป็นทางการ ในการติดต่อกิจธุระ เช่น เขา /เค้า, ไหม /มั้ย)
3. ผันวรรณยุกต์ไม่เป็น เช่น เครืองสำอาง – เครื่องสำอาง คะ ค่ะ วะ ว่ะ นะ น่ะ จ้ะ จ๊ะ
4. ไม่เข้าใจคำพ้องรูป-พ้องเสียง เช่น กานเวลา กาลเวลา)
3) ครูถามนักเรียนว่า “ถ้ามีคนในประเทศเขียนสะกดคำผิดบ่อยครั้ง เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆจะเกิดอะไรขึ้น” (แนวคำตอบ: ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลง/สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง/ลำบากในการทำงาน การศึกษา/สูญสิ้นภาษาไทย)
5. ครูขออาสาสมัครตอบคำถามครู ดังนี้ “การที่เราเขียนสะกดคำได้ถูกต้องนั้นมีประโยชน์อย่างไร” (แนวคำตอบ: การที่เรารู้จักการเขียนสะกดคำให้ถูกต้องนั้น จะทำให้เราสามารถสื่อสารผ่านการเขียนได้ดีขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเขียนในวิชาอื่น ๆ ได้ ทั้งยังเป็นพื้นฐานความรู้ในการศึกษาต่อในเรื่องการเขียนในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้นไปด้วย) (พัฒนาในด้าน Logical/Mathematical Intelligence ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยเหตุผล ตรรกะ และตัวเลข)
6. ครูและนักเรียนร่วมกันทบทวนความรู้ที่ได้เรียนไปเมื่อคาบที่แล้ว (พัฒนาในด้าน Existential Intelligence ความฉลาดในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ)
7. ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มตามความสมัครใจ กลุ่มละ 4-5 คน เพื่อร่วมทำกิจกรรม “ภาษาไทยสมบัติชาติ” (พัฒนาในด้าน Interpersonal Intelligence ความฉลาดที่จะสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจผู้อื่น)
1) ครูให้นักเรียนส่งตัวแทนออกมารับหมายเลขกลุ่มและใบคำใบ้ที่ 1
2) ครูอธิบายกติกาการทำกิจกรรม ดังนี้ (พัฒนาในด้าน Bodily/Kinesthetic Intelligence ความฉลาดที่จะควบคุมร่างกาย การเคลื่อนไหว และจัดการงานต่าง ๆ)
1. ครูให้นักเรียนจับกลุ่มกันตามที่ได้แบ่งไว้
2. ครูให้นักเรียนออกเดินทางตามหาสมบัติในบริเวณโรงเรียนตามคำใบ้ที่ครูให้ไป (พัฒนาในด้าน Naturalistic Intelligence ความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรอบตัว )
3. เมื่อนักเรียนไปตามคำใบ้ที่ครูให้ถูกต้อง นักเรียนจะเจอสมบัติชิ้นที่ 1 (ใบความรู้การเขียนสะกดคำ แผ่นที่ 1) พร้อมกับคำใบ้ของสมบัติชิ้นที่ 2 (ใบความรู้การเขียนสะกดคำ แผ่นที่ 2)
4. ให้นักเรียนตามหาคำใบ้และสมบัติให้ครบทุกชิ้น ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชิ้น
5. เมื่อนักเรียนได้สมบัติครบชิ้นแล้วให้รีบขึ้นมาที่ห้องเรียน ครูให้คะแนนตามสมบัติที่ได้และลำดับการขึ้นห้องเรียน
3) ครูให้นักเรียนนั่งอภิปรายเนื้อหาจากใบความรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคนเขียนสรุปความรู้ที่ได้เป็นแผนผัง โดยบันทึกลงในสมุด
4) ครูถามนักเรียนว่า “การเรียนในวันนี้เชื่อมโยงกับการเรียนในคาบที่แล้วได้อย่างไร” (แนวคำตอบ : การเรียนเนื้อหาการเขียนสะกดคำในคาบที่แล้วกับคาบนี้เป็นการเขียนสะกดคำที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แต่ก็ยังเป็นปัญหาของนักเรียนหลายคนในการสะกดคำ ฉะนั้น เนื้อหาของการเรียนคาบเรียนนี้และคาบเรียนที่แล้ว หากเราทำความเข้าใจใหม่อีกครั้งด้วยความตั้งใจ ก็จะเป็นพื้นฐานอันดีที่จะช่วยให้เราเขียนสะกดคำได้ถูกต้องมากขึ้น) (พัฒนาในด้าน Existential Intelligence ความฉลาดในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ)
8. ครูแบ่งกระดานออกเป็น 5 ส่วน เพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมสะกดคำ โดยครูจะอ่านคำที่ใช้ ศ ษ ส / ซ ทร จำนวน 10 คำ แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนเพื่อนออกมาเขียนคำดังกล่าวบนกระดานทีละ 1 คน จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันเฉลยคำดังกล่าวและครูอธิบายเพิ่มเติม กลุ่มใดเขียนถูกจะได้รับคะแนนโบนัสเพิ่มทั้งกลุ่ม (พัฒนาในด้าน Bodily/Kinesthetic Intelligence ความฉลาดที่จะควบคุมร่างกาย การเคลื่อนไหว และจัดการงานต่าง ๆ)
9. ครูและนักเรียนร่วมกันทำกิจกรรม “ยกดีมีชัย” ครูนำเสนอคำศัพท์ที่ใช้ ณ และ น จำนวน 10 คำ โดยใช้โปรแกรม Power point ถ้าคำตอบข้อนั้นคือ น ให้นักเรียนยกป้ายสีเขียว ถ้าคำตอบคือ ณ ให้นักเรียนยกป้ายสีแดง (พัฒนาในด้าน Bodily/Kinesthetic Intelligence ความฉลาดที่จะควบคุมร่างกาย การเคลื่อนไหว และจัดการงานต่าง ๆ) จากนั้นครูรวมคะแนนเพื่อมอบรางวัลให้นักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก
10. ครูให้นักเรียนนั่งหลับตา จากนั้นครูเปิดวีดิทัศน์เพลง Mozart - Sonata for Two Pianos in D, K. 448 เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนมากยิ่งขึ้นตามงานวิจัยที่บอกว่าเพลงนี้มีผลต่อการพัฒนาของสมอง (ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 สิงหาคม 2548) (พัฒนาในด้าน Musical/Rhythmic Intelligence ความฉลาดที่จะสร้างและดื่มด่ำกับสุนทรีย์ทางดนตรี)
11. ครูแจกเนื้อเพลง นอยด์ - ไข่มุก ft. The rude ให้นักเรียนคนละ 1 แผ่น จากนั้นครูให้นักเรียนอ่านเนื้อเพลงในใจ เป็นเวลา 1 นาที แล้วจึงเปิดวีดิทัศน์เพลงนอยด์ - ไข่มุก ft. The rude ให้นักเรียนฟัง (นอยด์ - ไข่มุก ft. The rude เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในรายการสงครามทำเพลง ตอนที่ 13 (แขกรับเชิญ-ครูลิลลี่) เนื้อหาของเพลงจะมุ่งเน้นกล่าวถึงปัญหาการเขียนสะกดคำของคนไทยในปัจจุบันที่สะกดคำว่า คะ ค่ะ ผิด และยังกล่าวถึงการใช้ ร ล อีกด้วย) เมื่อเพลงจบแล้ว ครูและนักเรียนร่วมร้องเพลงด้วยกัน 1 รอบ (พัฒนาในด้าน Musical/Rhythmic Intelligence ความฉลาดที่จะสร้างและดื่มด่ำกับสุนทรีย์ทางดนตรี)
12. ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน 7 กลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน จากนั้นครูแจกกระดาษเอสี่ให้นักเรียนกลุ่มละ 1 แผ่น
จากนั้นครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันเขียนคำตอบตามคำถามที่ครูตั้งไว้ ดังนี้
1) คิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า “เราไม่จำเป็นต้องสะกดคำให้ถูกต้องทุกคำ ขอเพียงคนที่เราสื่อสารด้วยรับรู้ว่าเราต้องการจะสื่อสารว่าอะไร เพราะในปัจจุบันมีคนในสังคมมากมายที่สะกดผิด แต่ทุกคนก็ยังเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารร่วมกัน” จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง (พัฒนาในด้าน Verbal/Linguistic Intelligence ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยการฟัง พูด และใช้ภาษา(การใช้ภาษาในการเขียนอธิบายคำตอบของกลุ่ม) Logical/Mathematical Intelligence ความฉลาดที่จะเรียนรู้ด้วยเหตุผล ตรรกะ และตัวเลข (การคิดถึงหลักเหตุและผลที่เกิดจากข้อความที่กำหนดให้)Naturalistic Intelligence ความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรอบตัว (การคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งรอบตัว ในที่นี้ หมายถึง ผลกระทบต่อสังคมที่เกิดจากการเขียนสะกดผิด)
(แนวคำตอบ : ไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว เพราะการสื่อสารให้ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อผู้รับสารมากกว่าการสะกดผิด แล้วปล่อยภาระให้เป็นของผู้ที่วิเคราะห์สารอยู่แล้ว ในปัจจุบันที่คนยังสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจตรงกันแม้จะมีการสะกดผิด อาจเป็นเพราะว่าผู้คนในสังคมอาจกำลังเขียนสะกดคำผิดหรือผู้รับสารเกิดความเคยชินแล้ว จึงสามารถทำความเข้าใจสารที่สะกดผิดได้
หากคนในสังคมคิดเห็นแบบข้อความดังกล่าวอาจทำให้เกิดความวุ่นวายเสียหายแก่การใช้ภาษาในแวดวงต่าง ๆ ได้ เช่น ในปัจจุบันที่มีผู้นิยมเขียนสระเอสองตัวเพื่อแทนสระแอ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนได้กระทำไป เพียงเพราะไม่สนใจที่จะหาสระแอบนแป้นพิมพ์ สิ่งที่จะส่งผลต่อมาคือเมื่อเราต้องกรอกข้อมูลหรือทำผลงานอิเล็กทรอนิกส์ หากเรายึดติดกับการใช้สระเอสองตัวแทนสระแอ อาจส่งผลให้คนอื่น ๆ ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่มีสระแอได้ เพราะถูกแทนที่ด้วยสระเอ สองตัว ดังนั้น หากคนในสังคมจงใจที่จะใช้ภาษาไทยแบบผิด ๆ ก็อาจทำให้ในอนาคตเกิดความวุ่นวายในการสื่อสารและการค้นคว้าข้อมูลได้) โดยขั้นนี้ครูและนักเรียนร่วมกันแบ่งปันคำตอบร่วมกันในแต่ละกลุ่ม
13. ครูแจกกระดาษโน้ตให้นักเรียนคนละ 1 แผ่น จากนั้นให้นักเรียนเขียนสะท้อนความรู้สึกของตนเองที่มีต่อบทเรียนเรื่องการเขียนสะกดคำ (พัฒนาในด้าน Intrapersonal Intelligence ความฉลาดในการเข้าใจตนเอง)
ผลที่ได้จากการจัดการเรียนรู้
1) Visual/Spatial Intelligence
จากการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนพบว่าการเรียนรู้โดยการมองเห็นภาพ ในขั้นนี้นักเรียนมีความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมีความชื่นชอบในการดูภาพและสื่อวิดีทัศน์ ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนให้จดจ่ออยู่กับกิจกรรมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
2) Verbal/Linguistic Intelligence
ในด้านนี้เป็นด้านที่ทำให้นักเรียนได้มีการฝึกพูดและฝึกเขียนซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว
3) Logical/Mathematical Intelligence
เป็นด้านที่กำหนดกิจกรรมในชั้นเรียนโดยใช้วิธีการถามคำถาม ซึ่งเป็นคำถามที่สามารถพัฒนาการคิดวิเคราะห์และทำให้นักเรียนได้พัฒนาการด้านการใช้เหตุผลมากขึ้น ยกตัวอย่างคำถาม เช่น นักเรียนคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า “เราไม่จำเป็นต้องสะกดคำให้ถูกต้องทุกคำ ขอเพียงคนที่เราสื่อสารด้วยรับรู้ว่าเราต้องการจะสื่อสารว่าอะไร เพราะในปัจจุบันมีคนในสังคมมากมายที่สะกดผิด แต่ทุกคนก็ยังเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารร่วมกัน” จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง
4) Bodily/Kinesthetic Intelligence
จากการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนที่ออกแบบให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเต็มที่ พบว่านักเรียนทุกคนมีความกระตือรือล้นและให้ความร่วมมือกับกิจกรรมอย่างมากที่สุด เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนรู้ให้นักเรียนมีความตื่นเต้นท้าทายจากตัวกิจกรรมที่ให้มีการแข่งขันกันหาสมบัติแล้วนำมาศึกษาและอภิปรายร่วมกันกับเพื่อนในกลุ่ม
5) Musical/Rhythmic Intelligence
ได้มีการนำเพลงมาใช้ในการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้ฟังและร้องเพลงเกี่ยวกับการจดจำการสะกดคำ “คะ ค่ะ” และ “การใช้ ร ล” ซึ่งนักเรียนให้ความสนใจกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างมาก
6) Interpersonal Intelligence
ในการกิจกรรมการเรียนรู้ในด้านนี้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังให้นักเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นที่จะช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น
7) Intrapersonal Intelligence
เป็นด้านที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนตนเองผ่านการเรียนสะกดคำ ซึ่งผู้เรียนจะได้สะท้อนตนเองผ่านกิจกรรมใน 3 คาบ โดยกิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนได้เข้าใจตนเองมากขึ้นในการเรียนรู้เรื่องการเขียนสะกดคำ รวมถึงได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเขียนสะกดคำมากยิ่งขึ้น
8) Naturalistic Intelligence
ในด้านนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้ในการคิดถึงผลกระทบว่าการเขียนสะกดคำจะส่งผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเขียนสะกดคำมากยิ่งขึ้น
9) Existential Intelligence
เป็นด้านที่ทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนการคิดเชื่อมโยง กล่าวคือได้ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาแล้วนำมาเชื่อมโยงกับบทเรียนใหม่ รวมถึงการคิดเชื่อมโยงการเรียนรู้เกี่ยวกับการสะกดคำว่ามีการส่งผลกระทบต่อบุคคล สังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
ข้อเสนอแนะ
1. ในการจัดกิจกรรมกลุ่ม ควรจัดให้มีการคละความสามารถของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนที่มีทักษะที่ดีแล้วได้สามารถช่วยเหลือนักเรียนในกลุ่มที่ยังมีทักษะในการเขียนสะกดคำที่ยังไม่ดีมาก
2. ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยใช้แนวคิดพหุปัญญามากขึ้นในบทเรียนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!