icon
giftClose
profile

ปิตาธิปไตยกับระบบขนส่ง: หรือว่าเราต่างก็โดนกดทับ?

24763
ภาพประกอบไอเดีย ปิตาธิปไตยกับระบบขนส่ง: หรือว่าเราต่างก็โดนกดทับ?

เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมประชาธิปไตยโดยการนำเรื่องใกล้ตัวอย่างเช่น “ระบบขนส่งสาธารณะ” และเรื่องที่กำลังเป็นกระแส นั่นคือ “ปิตาธิปไตย” มารวมกันแล้วจัดเป็นกิจกรรมการเรียนการสอน ระบบขนส่งสาธารณะเกี่ยวอะไรกับปิตาธิปไตย และเราจะนำสองสิ่งนี้มาสอนวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างไร มาติดตามกันเลย!

ชื่อไอเดีย: หรือว่าเราก็ต่างโดนกดทับ


สาระสำคัญ: การเรียนรู้ความเสมอภาคในสังคมผ่านแนวคิดปิตาธิปไตยที่ส่งผลต่อระบบขนส่งสาธารณะเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย


วัตถุประสงค์

  1. ผู้เรียนอภิปรายมุมมองที่เกี่ยวกับปิตาธิปไตยที่มีผลต่อระบบขนส่งสาธารณะ
  2. ผู้เรียนตระหนักถึงความเสมอภาคในสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชาธิปไตย


เนื้อหาสาระ

  1. แนวคิดความเสมอภาค
  2. แนวคิดปิตาธิปไตย
  3. สภาพการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวกับการขนส่งสาธารณะ


กระบวนการจัดการเรียนรู้

  1. ผู้สอนให้ผู้เรียนดูสถานการณ์ในโลกโซเชียลหรือสื่อต่าง ๆ ที่มีการโต้เถียงกันว่าทำไมบนรถสาธารณะผู้ชายถึงไม่ลุกให้ผู้หญิงนั่ง โดยมีการตอบโต้กันทั้งฝั่งผู้ชายและผู้หญิง
  2. แบ่งกระดานออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งชายและฝั่งหญิง (หากในห้องเรียนมี LBTQ+ ให้ผู้เรียนสามารถเลือกฝั่งได้ตามความสะดวกใจของผู้เรียน) โดยผู้สอนตั้งคำถามว่า “ในการใช่บริการขนส่งสาธารณะ ผู้ชายควรลุกให้ผู้หญิงนั่งหรือไม่”
  3. ให้ผู้หญิงออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวก่อน โดยเขียนลงในกระดาษแล้วนำไปติดหน้าชั้นเรียน (หรือจะให้เขียนกระดานเลยก็ได้ หรือวิธีไหนก็ได้ที่ผู้สอนสะดวก ตรงนี้ไม่บังคับเลย) จากนั้นผู้สอนก็รวบรวมคำตอบของผู้เรียน
  4. ต่อมาให้ผู้ชายทำเช่นเดียวกันกับผู้หญิง แต่ให้ตอบคำถามในประเด็นว่า “การเสียสละที่นั่งให้กับผู้หญิง เป็นหน้าที่ของผู้ชายหรือไม่” จากนั้นผู้สอนก็รวบรวมคำตอบของผู้เรียน
  5. เสร็จแล้วผู้สอนก็ตั้งคำถามว่า “ผู้เรียนคิดว่าราวจับบนรถสาธารณะเหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้บริการหรือไม่” แล้วผู้สอนก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบรถขนส่งสาธารณะว่าเวลาออกแบบนั้น ไม่ได้คำนึงถึงความสูงของผู้ชายและผู้หญิง แต่เอาค่าเฉลี่ยความสูงของคนทุกเพศมา ทำให้ราวจับก็ยังคงสูงเกินกว่าที่ผู้หญิงหลายคนจะเอื้อมถึงอยู่ดี ผู้หญิงจึงไม่สามารถที่จะจับราวได้อย่างถนัด ส่วนผู้ชายก็ถูกตีตราว่าต้องเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า จึงต้องแสดงความเข้มแข็งอยู่เสมอ ซึ่งผลกระทบที่ทั้งสองเพศได้รับนั้น คือ “ผลกระทบจากปิตาธิปไตย”
  6. เมื่อผู้สอนทำการสอนเสร็จแล้ว ก็ให้ผู้เรียนช่วยกันออกแบบว่า “เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้ระบบขนส่งสาธารณะเหมาะสมกับคนทุกคน ไม่ต้องมีใครลำบากหรือเสียสละ” (ตรงนี้จะทำเป็นกลุ่ม เดี่ยว หรือร่วมกันอภิปรายทั้งห้องก็ได้)
  7. เมื่อรวบรวมคำตอบของผู้เรียนแล้ว ผู้สอนก็ได้ทำการสรุปว่า สิ่งที่เราได้เรียนวันนี้ เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับความเสมอภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ได้มีแค่มิติของการปกครอง แต่ยังมีมิติของสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(4)