icon
giftClose
profile

เมื่อผู้เล่น กลายเป็นผู้ออกแบบ

39401
ภาพประกอบไอเดีย เมื่อผู้เล่น กลายเป็นผู้ออกแบบ

ไอเดียจากครูแฮรี่ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม หนึ่งในห้องเรียนที่สนุกมาก ๆ คือห้องเรียนที่คุณครูถอดเนื้อหาของรายวิชาต่าง ๆ มาเป็นเกมให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการเล่น แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียนก้าวต่อจากบทบาทของการเป็นผู้เล่น เข้าสู่การเป็นผู้ออกแบบเกม

เราจุดประกายครั้งแรกตอนงานครูปล่อยแสง ครั้งที่ 2 ที่มีการพูดคุยเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตอนนั้นยังไม่รู้จักบอร์ดเกม ก็เดินทางไปศึกษาเองเลย ตอนแรกรู้สึกว่ามันยากมาก ๆ เลยกับการออกแบบเกม พอกลับมาแรก ๆ ก็ลองจากเกมสิทธิมนุษย์ชนที่ได้มาลองเล่นเอง และให้นักเรียนได้ลองเล่น และเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ เลย


จุดเปลี่ยนจากการออกแบบให้ เป็นการให้ออกแบบ คิดว่าน่าจะเป็นความรู้สึกที่อยากให้เกิดการทำงานเป็นทีม และอยากลองรับฟังนักเรียนในขณะที่ได้ทำงานร่วมกัน โดยเราออกแบบให้พื้นที่ของการทำงาน เป็นพื้นที่ที่นักเรียนได้ส่งเสียงของพวกเขาออกมาด้วย


โดยวิธีการของเราคือ


1) พูดคุยเนื้อหาให้คอนเซปตรงกันก่อน ว่าวิชานี้ ในเนื้อหาส่วนนี้ เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร


2) นำบอร์ดเกมที่นักเรียนมีอยู่แล้ว และอาจจะหาเกมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเรา ได้ลองเล่นประมาณ 3 - 4 เกม และชวนพูดคุยผ่านบอร์ดเกม ให้นักเรียนได้คุ้นเคยกับทั้งเนื้อหา และกลไกของเกมเหล่านั้น


3) แบ่งกลุ่มย่อยให้เด็กไประดมความคิดกันว่า ถ้าอยากออกแบบเกม อยากทำเกี่ยวกับเรื่องอะไร นักเรียนอาจจะเลือกมาหนึ่งองค์ประกอบของวิชาที่กำลังเรียนอยู่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยกมาทั้งทั้งหมด


4) ลองนำเสนอข้อมูลที่จะใช้เป็นเนื้อหาในการออกแบบเพื่อตรวจทานความถูกต้อง และลองนำเสนอรูปแบบบอร์ดเกมที่อยากลองออกแแบบก่อน


5) เราจะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์สำหรับการประดิษฐ์ต่าง ๆ และเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ลงมือสร้างเกมตามที่ได้ออกแบบไว้ ขั้นตอนในการสร้างนี้อาจจะใช้เวลามากกว่า 1 คาบ


6) เมื่อได้ต้นแบบของเกมออกมาแล้ว เราจะเวียนกันเล่นเกมของเพื่อน และมีการโหวตกันว่าเกมของใครพอที่อยากลองนำไปพัฒนาต่อร่วมกัน โดยในหนึ่งห้องจะเลือกมา 1 เกม


7) เมื่อเลือกเกมได้แล้ว ขั้นต่อไปคือแบ่งฝ่ายในการจัดทำ และเชื่อมโยงว่าแต่ละฝ่ายเกี่ยวโยงยังไงกับวิชาต่าง ๆ ที่เรียนอย่างไร เช่นการเก็บคะแนนกับวิชาคณิตศาสตร์ ในขั้นตอนนี้จะเป็นช่วงที่นักเรียนจะเริ่มตั้งคำถาม และเริ่มหาคำตอบว่าเพราะอะไรถึงต้องออกแบบอร์ดเกม มันเกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิชาการที่เราต้องเรียนอย่างไร


หลักจากนั้นเป็นการติดตามงานในแต่ละฝ่าย โดยมีการคิดคะแนนในระหว่างกระบวนการไปด้วย โดยประเมินจากการทำงานเป็นกลุ่ม การระดมความคิด ความสามัคคีในกลุ่ม


ทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณหนึ่งเทอม และจบที่ Demo Day หรือ "วันทดสอบ ที่นักเรียนมาทดสอบด้วยกัน หรืออาจเป็นการทดสอบเกมจากห้องข้าง ๆ


และสุดท้ายคือมีการแจกจ่ายเกมที่ทำเสร็จแล้วลงในอินเตอร์เน็ต ในลักษณะที่เป็น Print and Play คือผู้คนที่สนใจสามารถนำไปปริ๊นท์เพื่อเล่นเองได้เลย


ในระหว่างกระบวนการเราจะมีการชวนนักออกแบบบอร์ดเกมมาช่วยเป็นที่ปรีกษาให้กับนักเรียน ซึ่งเราจะมีการสร้างกลุ่มไลน์ของตัวแทนระบบต่าง ๆ ในเกม เพื่อให้นักเรียนได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งบทบาทของครูจะค่อนข้างหนักในส่วนนี้ ในขั้นตอนของการเตรียมการและประสานงาน


และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ตอนสิ้นเทอมจะมีการประกวดเกมของแต่ละห้องกัน โดยการจัดแสดงและสื่อสารว่าเกมนี้มันมากกว่างานที่ทำส่งนะ มันมีประโยชน์กับโรงเรียน และสังคมอย่างไร เช่นไฟล์ปริ้นท์แอนด์เพลย์ที่แจกจ่ายได้ และผลงานนักเรียนที่มีการจัดแสดงในงาน open house ของโรงเรียน รวมถึงเกมที่เป็นบันไดให้นักเรียนได้เข้าประกวดในเวทีระดับประเทศต่อไป 


***ในเดือนเมษายนนี้ เครือข่ายผู้ใส่ใจนวัตกรรมของเยาวชนไทย นี้มีโครงการผลิตสื่อนวัตกรรมเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และความปลอดภัยทางเพศ และจะจัดค่ายนวัตกรรม ระยะเวลาการทำงานร่วมกัน 2 ปี เพื่อเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยรอบนี้เราโฟกัสที่พื้นที่อีสาน สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเพจ "เครือข่ายผู้ใส่ใจนวัตกรรมของเยาวชนไทย"


___________________________________

ร่วมแบ่งปันโดย ครูแฮรี่

วิชาหน้าที่พลเมือง ม.5

ASEAN ศึกษา ม.5 

และภูมิศาสตร์ท่องเที่ยว ม. 6

โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(16)
เก็บไว้อ่าน
(7)