icon
giftClose
profile

ซ้อมลงตลาดธุรกิจ เรียนรู้ชีวิตเถ้าแก่วัยเก๋า

25981
ภาพประกอบไอเดีย ซ้อมลงตลาดธุรกิจ เรียนรู้ชีวิตเถ้าแก่วัยเก๋า

เปลี่ยนการแนะแนวอาชีพของนักเรียนให้อยู่ในรูปของการจัดทำธุรกิจตามความสนใจ เพื่อให้การแนะแนวครอบคลุมความชอบที่แตกต่างกันของนักเรียน

“เพราะบางอาชีพไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกสายการเรียน”

         อาชีพในฝัน คงเป็นคำที่นักเรียนหลาย ๆ คนกำลังตามหาอยู่เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา แต่ด้วยความหลากหลายของอาชีพซึ่งสามารถแตกแขนงได้อย่างกว้างขวาง และต้องใช้ความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน ทำให้คุณครูแนะแนวจะต้องหาวิธีการแนะนำอาชีพให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน โดยจากแผนการเรียนทั่วไปคุณครูจะใช้ใบงานในการสอนโดยให้นักเรียนหาข้อมูลอาชีพที่กำหนดไว้ ซึ่งพบว่าเป็นวิธีการที่ไม่น่าดึงดูด และยังลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับคุณครูอีกด้วย

         ด้วยไฟแห่งการแนะแนว ทำให้ ครูหนูหริ่ง วรรณอุไร ทำอินราช คุณครูแนะแนวระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนเบญจมานุสสรณ์ จังหวัดจันทบุรี ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมไม่ให้อยู่เพียงในใบงาน แต่ต้องลงมือปฏิบัติจริง ผ่านการออกแบบธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบสินค้าจนถึงการโฆษณา เพราะการทำธุรกิจ จะเรียนสายไหนก็ทำได้!


เริ่มก่อร่างสร้างตัว

         ครูหนูหริ่งจะทำการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 7-8 คน เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน จากนั้นนักเรียนจะต้องช่วยกันออกแบบธุรกิจที่ตนเองสนใจ โดยประกอบด้วยชนิดของสินค้า ชื่อร้าน สัญลักษณ์ประจำร้าน โปรโมชัน ตลอดจนออกแบบบรรยากาศในร้านลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ ซึ่งนักเรียนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการค้นหาข้อมูลและแหล่งอ้างอิง รวมถึงไอเดียต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่

         เนื่องด้วยมีข้อจำกัดด้านการให้คะแนนในรายวิชา ทำให้ครูหนูหริ่งต้องกำหนดขอบเขตธุรกิจเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้สามารถประเมินการทำงานของนักเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่การกำหนดขอบเขตธุรกิจก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ของเถ้าแก่วัยเก๋าเลยแม้แต่น้อย



ขายของพร้อมกัน ฉันต้องได้ลูกค้า!

         หลังจากนักเรียนแต่ละกลุ่มได้ผลงานธุรกิจอยู่บนกระดาษของตนเอง นักเรียนจะต้องนำเสนอผลงานเพื่อชักชวนให้ลูกค้าเข้ามาในร้านของตน แต่หนึ่งในปัญหาสำคัญของการนำเสนอผลงาน คือ นักเรียนไม่ฟังเพื่อนกลุ่มอื่นนำเสนอ เนื่องจากอาจต้องเตรียมความพร้อมในการนำเสนอของกลุ่มตนเอง รวมถึงพูดคุยเล่นกันภายในกลุ่ม

         ครูหนูหริ่งจึงได้เลือกใช้การวนฐาน มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกคนนำเสนอ 2 คนอยู่ประจำร้านค้าของตนเอง ส่วนนักเรียนที่เหลือจะเป็นลูกค้าเข้าใช้บริการร้านอื่น โดยในตอนเริ่มต้นนักเรียนจะอยู่ประจำร้านค้าของตนเอง จากนั้นครูหนูหริ่งจะเป่านกหวีดเป็นสัญญาณให้กลุ่มลูกค้าเดินไปใช้บริการร้านถัดไปตามลำดับฐาน โดยมีเวลาให้ผู้นำเสนอโฆษณาสินค้า 5 นาที ก่อนที่ครูหนูหริ่งจะส่งสัญญาณนกหวีดให้เปลี่ยนร้านค้า วนซ้ำเช่นนี้จนกระทั่งลูกค้าได้เข้าร้านครบทุกกลุ่ม ซึ่งน่าประทับใจที่นักเรียนแต่ละคนรับฟังการนำเสนอของเพื่อน ๆ มากยิ่งขึ้น


การแข่งขัน ไม่ได้วัดกันแค่ที่สินค้า

         เมื่อกลุ่มลูกค้าได้รับชมสินค้าของร้านค้าทุกร้านแล้วนั้น ครูหนูหริ่งจะแจกกระดาษโพสต์อิทกับนักเรียนกลุ่มลูกค้าคนละ 1 ใบ จากนั้นจะให้นักเรียนนำกระดาษโพสต์อิทไปแปะยังร้านค้าที่ตนเองชอบมากที่สุด โดยห้ามให้คะแนนกลุ่มของตนเอง จากนั้นจึงนับคะแนนและรอดูผลลัพธ์

         น่าประหลาดใจที่บางครั้งร้านค้าที่ออกแบบมาได้อย่างสวยงามกลับมีผลโหวตเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ร้านค้าที่ถูกร่างภาพอย่างเรียบง่ายกลับได้รับความนิยมสูง จากการสอบถามความเห็นของลูกค้าพบว่าการนำเสนอของร้านค้าดังกล่าวมีความน่าสนใจ ทำให้สามารถดึงดูดใจลูกค้าได้อย่างอยู่หมัด เท่านี้นักเรียนก็ได้เห็นแล้วว่าการทำธุรกิจหนึ่ง ๆ มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งคุณภาพสินค้า ลักษณะร้านค้า แผนธุรกิจ ตลอดจนวิธีการโฆษณา และอย่าลืมวิธีการหากำไรด้วยนะ!

         


         ความสนุกของกิจกรรมเถ้าแก่วัยเก๋า คือ การได้เห็นความคิดสร้างสรรค์และมุมมองที่แตกต่างจากนักเรียนทุกสายการเรียน เช่น นักเรียนสายวิทย์-คณิตจะนำเสนอธุรกิจอย่างจริงจัง ในขณะที่นักเรียนสายอื่น ๆ บางร้านค้าเลือกขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากเห็นกลุ่มลูกค้าเป็นวัยรุ่น และ บางร้านค้าขายคาเฟ่ที่ลูกค้าสามารถเล่นกับงูได้ ซึ่งน่าประหลาดใจที่ไอเดียจากนักเรียนกลุ่มนี้ได้มีคนนำมาสร้างจริงในช่วงปีต่อมา เห็นได้ชัดเลยว่านักเรียนของพวกเราก็เก่งไม่ใช่เล่น ๆ เลย :D

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(19)