icon
giftClose
profile

เมื่อนักเรียนขอ “แรป” เพื่อ “เรียนรู้”

24384
ภาพประกอบไอเดีย เมื่อนักเรียนขอ “แรป” เพื่อ “เรียนรู้”

ห้องเรียนภาษาไทยที่จะขอฉีกทุกกฎการเรียนรู้ เมื่อครูชวนนักเรียนมาร้อง “เพลงลูกทุ่ง” แต่นักเรียนขอ “แรป” เพื่อ “เรียนรู้” หลักภาษาความแตกต่างที่ซ่อนความลับบางอย่างเอาไว้

เมื่อนักเรียนขอ “แรป” เพื่อ “เรียนรู้”

ห้องเรียนภาษาไทยที่จะขอฉีกทุกกฎการเรียนรู้ เมื่อครูชวนนักเรียนมาร้อง “เพลงลูกทุ่ง” แต่นักเรียนขอ “แรป” เพื่อ “เรียนรู้” หลักภาษาความแตกต่างที่ซ่อนความลับบางอย่างเอาไว้

.

ก่อนการ “แรป” (ที่มาและแรงบันดาลใจ)

“คุณครูค่ะ หนูเบื่อ หนูไม่เข้าใจ” - เสียงเล็ก ๆ สะท้อนความรู้สึกฉงนกับฉันทลักษณ์และหลักภาษาเมื่อต้องประจันหน้ากับกลอนแปด

.

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูทราย คุณครูประจำวิชาภาษาไทย จัดการเรียนรู้เรื่อง “กลอนแปดหรือกลอนสุภาพ” ด้วยการนำ “เพลงลูกทุ่ง” เข้ามาเชื่อมโยงบทเรียนเพื่อให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับ “สัมผัสของกลอน” ได้ง่ายขึ้น

.

แต่เรื่องราวในคาบนี้กลับสนุกและน่าตื่นเต้นขึ้นไปอีก เมื่อนักเรียนสะท้อนว่า “คุณครูค่ะ แล้วเพลงแรปใช้เรียนรู้ได้ไหมคะ”

เมื่อนักเรียนสะท้อนมา มีหรือที่ครูทรายจะไม่จัดให้ จึงเป็นต้นกำเนิดของคาบภาษาไทยที่จะมา “แรป” เพื่อ “เรียนรู้”

.

เริ่ม “แรป” เพื่อ “เรียนรู้” (กระบวนการ)

.

ครูทรายเริ่มต้นคาบด้วยบอกว่าในคาบนี้จะเรียนเรื่อง “กลอนสุภาพ” ก่อนจะชวนนักเรียนสังเกตฉันทลักษณ์ (โครงสร้าง) ของกลอนแปด แล้วจึงชวนนักเรียนมองหาว่าอะไรที่เป็นจุดเด่นและสิ่งเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันอย่างไร

.

ในช่วงแรกของกิจกรรมนักเรียนสะท้อนกลับมาว่าไม่ค่อยเข้าใจ คุณครูจึงเปิดเพลงลูกทุ่ง “ดาวเรืองดาวโรย” เพื่อให้นักเรียนได้ลองสังเกตอีกครั้ง คราวนี้นักเรียนหลายคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่คุณครูชวนสังเกตคืออะไร

.

การ “สัมผัส” นั่นเอง - กลอนสุภาพหรือกลอนแปดมีฉันทลักษณ์ที่บังคับการสัมผัสนอกและสัมผัสใน

.

ก่อนจะแยกไปทำกิจกรรมกลุ่ม มีนักเรียนบางส่วนแสดงความเห็นว่า “คุณครูค่ะ แล้วเพลงแรปใช้เรียนรู้ได้ไหมคะ” .

แน่นอนว่าทุกการเรียนรู้เป็นไปได้ และเพลงแรปก็มีสัมผัสเชื่อมโยงที่น่าสนใจเช่นกัน ครั้งนี้นักเรียนจึงเป็นฝ่ายขอคุณครูเปิดเพลงแรป “จำเลยรัก” ของฟักกลิ้ง ฮีโร่ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องของการสัมผัสของหลักภาษาอีกครั้ง

.

เมื่อนักเรียนเริ่มเข้าใจและมองเห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการสัมผัสของกลอนแปดเรียบร้อยแล้ว ครูทรายจึงมอบหมายให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 3 คน แต่งกลอนสุภาพภายใต้หัวข้อ “วันสำคัญ” ซึ่งในคาบนี้ได้เลือกหัวข้อ “วันครู”

.

ครูทรายแนะนำว่าหัวข้อที่ใช้ในการแต่งกลอนควรเลือกตามความสนใจของนักเรียน เพราะนักเรียนจะได้รู้สึกเชื่อมโยงและทำความเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น

.

ช่วงท้ายคาบ คุณครูทบทวนเรื่องที่เรียนในวันนี้อีกครั้ง และชวนนักเรียนสะท้อนว่าจากกิจกรรมดังกล่าวมีอะไรบ้างที่พวกเขาได้เรียนรู้

.

ผล “แรป” (ผลลัพธ์)

.

“ผมสนุกที่ได้เรียนรู้แบบนี้ครับ”
“มันง่ายมากเลยค่ะครู” – เสียงสะท้อนจากห้องเรียนภาษาไทยของครูทราย

.

นักเรียนอธิบายได้ว่าการแต่งกลอนต้องมีสัมผัสคล้องจอง และเข้าใจฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพ รวมถึงขอไปหาเพลงแรปมาฟังอีก เพื่อจะเรียนรู้เพิ่มเติม

.

คุณครูได้เรียนรู้เช่นกันว่าการเปลี่ยนการกระบวนการเรียนหรือเนื้อหาให้เป็นสิ่งที่นักเรียนสนใจ จะทำให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมและสนุกกับการเรียนมากขึ้น

.

ทุกการ “แรป” สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ “ไร้ขีดจำกัด”

.

“กลอนสุภาพแรปรู้เราจำจด ท่องกลอนบทสดับรับรองส่ง

สัมผัสนอกสัมผัสในอย่างวยงง  ความรู้คงทนทานผ่านการเรียน”

– โดย ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว

ขอมอบกลอนบทนี้ให้แด่คุณครูทราย คุณครูทุกท่าน และทุกการเรียนรู้ที่ “เป็นไปได้”

.

คุณครูเจ้าของไอเดีย: สิริภรณ์ พัชราวุฒิ (ครูทราย) คุณครูประจำวิชาภาษาไทย โรงเรียนดาราวิทยาลัย

ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว: ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย (ครูเท็น) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโครงการทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(4)