icon
giftClose
profile

เรียนรู้หลักปฏิบัติศาสนาอิสลาม ผ่านการลงมือทำ

22290
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้หลักปฏิบัติศาสนาอิสลาม ผ่านการลงมือทำ

เมื่อครูไม่รู้จะสอนอย่างไร จึงเกิดเป็นการเรียนรู้ที่เด็กร่วมกันออกแบบเอง

ในวิชาหลักปฏิบัติศาสนาอิสลาม ชั้นม.3 ที่ครูชัชสอนนั้น เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ลงมือทำ ครูจึงพยายามจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริง หัวข้อสุดท้ายก่อนปิดภาคเรียนคือ

“การเชือดสัตว์ตามหลักการศาสนาอิสลาม” ที่เป็นการเรียนรู้หลักปฏิบัติที่มากกว่าแค่การเชือดสัตว์


โยนโจทย์ให้นักเรียน

ครูชัชอยากสอนแบบที่ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่เมื่อเป็นการเชือดสัตว์ จึงมีข้อจำกัดเรื่องงบที่ใช้ในการจัดเตรียมการเรียนเรื่องนี้ 

เมื่อไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร ครูจึงยื่นโจทย์นี้ให้กับนักเรียน ได้มาออกแบบการเรียนรู้กันว่าจะจัดกิจกรรมนี้อย่างไร


ครูชวนให้เด็ก ๆ คิดว่า เราจะเชือดจริงหรือเรียนแค่ทฤษฎีหรืออย่างไร

โดยที่ครูบอกเลยว่าเราไม่มีงบนะ เราจะช่วยกันออกแบบการเรียนรู้อย่างไร 

เด็ก ๆ บอกว่าเรียนเรื่องนี้เราต้องเชือดจริงไม่อย่างนั้นจะทำไม่เป็น และตามขั้นตอนจากไก่ที่เชือดแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อตามศาสนา ถ้าทำไม่เป็นต่อไปก็ไม่ได้ทักษะนี้ เด็กบอกว่าอยากลองจริง ๆ เพราะที่บ้านไม่ได้ทำอยู่แล้ว เลยต้องคิดกับนักเรียนว่าทำอย่างไร 


ช่วยกันคิด

เด็กมองว่าที่จริงพวกเขาก็มีไก่ที่เลี้ยงไว้ที่บ้านด้วย ก็เลยมองว่าเป็นไปได้ไหม ที่เราจะเอาไก่แต่ละคนมาเรียนรู้ร่วมกันว่าทำอย่างไร เด็ก ๆ บอกว่าเขาจะสำรวจในกลุ่มว่าใครมีไก่บ้าง ปรากฎว่าเลี้ยงไก่ที่บ้านกันทุกคน (ในห้องมีนักเรียน 5 คน)

เด็กบอกว่างั้นเอามาคนละตัวนะครู ห้องเรียนมีเด็กนักเรียนห้าคน เป็นผู้ชายหมดเลยและทุกคนเป็นมุสลิม พอเขาบอกว่ามีไก่ทุกคนก็ได้ข้อสรุปกันว่าว่าสัปดาห์หน้าให้นักเรียนเอามาคนละตัว 

พอใกล้ ๆ วันนั้น ครูชวนนักเรียนคิดว่า ไก่ห้าตัวเราจะเอาไปทำอะไรหลังจากเชือดเสร็จ นักเรียนบอกว่างั้นขอเรียนเป็นสองคาบไปขอคาบอื่นมา ถ้าเขากินไก่ห้าคนเยอะเกินอยากเชิญน้อง ๆ มากินด้วย ทำอาหารแบ่งกับเพื่อนรุ่นน้อง พอเราทำแล้วเกิดคำถาม เด็กถามว่าต้องทำไงต่อ ตอนทำอาหารเป็นเมนูง่าย ๆ ที่เด็กคิดเองว่าน่าจะย่างไก่ เด็กก็ออกแบบว่าจะทำเมนูอะไรเลี้ยง ม.1-2 ได้ เค้าอยู่กันสามชั้นคนไม่ได้เยอะ


ลงมือปฏิบัติ

วันเรียนจริง ตอนเช้านักเรียนเอาไก่มา ครูก็เตรียมไก่มาด้วย ทำตามขั้นตอนให้ได้มาตรฐานฮาลาล ครูเชือดให้เด็กดู หลังจากนั้นให้เด็กลองทำเอง คนละหนึ่งตัว 

ได้ไก่มาเจ็ดตัว (ของครูสอง) เชือดจริงใช้เวลา 15 นาที จากนั้นเรียนการชำแหละ เรียนทำอาหารไปด้วยในตัว



นักเรียนได้เรียนรู้กันเอง ออกแบบโดยนักเรียนโดยที่เราคอยช่วยชงให้พวกเขา สิ่งที่แฝงคือเรื่องพลเมือง พอเขามีไก่จำนวนนึงที่กินไม่หมด เขาไม่ได้คิดว่าจะเอาของใครของมันกลับบ้าน แต่รู้สึกว่าเขามีรุ่นน้อง อยากให้รุ่นน้องได้กิน ถึงกินได้คนละไม่เยอะ ได้เห็นเรื่องน้ำใจแบ่งปัน


เด็กได้คิดว่าอยากเรียนรู้แล้วทำอะไรต่อยอด เมื่อเรามีทักษะนี้แล้วเราเอาไปทำอะไรต่อได้ในอนาคต ในเรื่องเศรษฐศาสตร์ อาชีพ แนวทางในอนาคตว่าไม่ใช่แค่เชือดไก่เป็น แต่เชือดเป็นสามารถประกอบอาชีพ เป็นผู้ประกอบการอะไรได้บ้าง


สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนครั้งนี้ คือสิ่งที่เราทำกันในห้องเฉพาะเด็กชั้นม.3 แต่หลังจากคาบ เด็ก ๆ ไปพูดกับม.2 ว่าเขาได้เรียนสนุก เขากล้าที่จะทำ กล้าที่จะเรียนรู้ พอเด็กม.2 รู้เลยบอกว่าปีหน้าอยากเรียนแบบนี้ด้วย เด็กม.2 ก็คุยกันว่าต้องเริ่มเลี้ยงไก่แล้ว



เมื่อได้เรียนแบบนี้แล้ว...

ครูเห็นว่าผู้เรียนรู้สึกว่าเขามีค่า เมื่อเราถามว่าหัวข้อนี้อยากเรียนแบบไหน เขารู้สึกว่าท้าทาย เขารู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรมนั้น ๆ รู้สึกมีส่วนร่วมในการออกแบบ ไม่ใช่แค่ครูจัดให้เขา สิ่งที่เขาอยากทำก็มาหาครูว่าต้องทำอย่างไร เป็นการออกแบบกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่เราเห็นระหว่างการเรียนรู้ด้วยกัน เห็นผลพวงจากคาบก่อนหน้าว่าเด็กเริ่มมั่นใจในวิธีการตัวเอง ว่าทำได้มีความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ มีความสุข


ก่อนหน้านี้เราออกแบบให้นักเรียน ไม่เคยได้เปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมออกแบบกับเรา การที่เราได้เชื่อใจเขาให้ได้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับเรา โยนไปให้ เราไม่เคยคิดว่าเด็กจะพูดว่า “ผมมีไก่อยู่ที่บ้าน จะเอามา” ถ้าเราออกแบบเองไม่มีทางเอามาได้แบบนี้ ผลลัพธ์ออกมามากกว่าที่คาดหวังไว้


ดูภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/106028394256097/posts/204363161089286/?sfnsn=mo



ขอขอบคุณ คุณครูผู้ร่วมแบ่งปันไอเดีย :D

ครูชัชวาล สะบูดิง

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 9 จ.นราธิวาส

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(2)