icon
giftClose
profile

เข้าใจความเป็นปิตาธิปไตยผ่านเกมน้องอำนาจ

10170
ภาพประกอบไอเดีย เข้าใจความเป็นปิตาธิปไตยผ่านเกมน้องอำนาจ

คาบเรียนนี้จะเป็นคาบเรียนที่จะพานักเรียนไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปิตาธิปไตยและภาวะของความเป็นชายเป็นพิษผ่านกิจกรรมเกมน้องอำนาจ และร่วมกันหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากสังคมที่ชายเป็นใหญ่

“ทุกคนมีอำนาจเท่ากันจริงหรือไม่หรือยังคงไว้ซึ่งปิตาธิปไตยที่ชายยังคงเป็นใหญ่ในสังคม?”

“ยึดหลักความเป็นมนุษย์เป็นหลักใหญ่ ส่วนความเป็นเพศเก็บไว้เป็นเรื่องรอง”

“คุณใส่ชุดอะไรในวันที่โดนข่มขืน?”

ในชีวิตประจำวันของเรามีความรุนแรงทางสังคมเกิดขึ้นมากมายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงโดยการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายจิตใจ การทำร้ายทางเพศ หรือการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในคาบเรียนต่อไปนี้จะเป็นคาบเรียนที่จะพานักเรียนไปเรียนรู้พร้อมกันเกี่ยวกับการช่วยเหลือและหาทางออกของปัญหาความรุนแรงที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ ด้วยการเป็นบุคคลหนึ่งในฐานะพลโลก หรือ Active Citizen ที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นและร่วมกันสร้างให้ทุกที่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

ตัวอย่างคาบเรียนที่ 1

Part 1

ครูให้นักเรียนวาดรูป น้องอำนาจ ขนาดมหึมา โดยทำการแบ่งฝั่งหนึ่งเป็น “อำนาจที่เปลี่ยนแปลงได้ - เลือกที่จะไม่ใช้ได้” และอีกฝั่งคือ “อำนาจที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก - มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด” และภายในตัวน้องอำนาจให้เขียน “อำนาจภายในตัวมนุษย์” จากนั้นให้นักเรียนช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าอำนาจนั้นมีสิ่งใดบ้าง พร้อมแลกเปลี่ยนเหตุผลในการจำแนกอำนาจนั้น

Part 2 

ให้นักเรียนตอบคำถามที่ว่า ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นักเรียนคิดว่าความต้องการใดมีความสำคัญต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์  โดยนำคำตอบที่ได้นั้นมาใส่ลงภายในตัวของน้องอำนาจ และให้นักเรียนอธิบายถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่สะท้อนคุณค่าภายในตัวของมนุษย์ ที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ตัวอย่างคาบที่ 2

หลังจากที่ครูพานักเรียนรู้จักกับน้องอำนาจไปแล้วในคาบแรก คาบที่สองนี้จะเป็นการบรรยายเนื้อหาในประเด็นอำนาจนิยม ชายเป็นใหญ่ ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ การถูกคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ การช่วยเหลือและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงทางสังคม และทำการเชื่อมโยงเนื้อหาที่บรรยายกับเกมน้องอำนาจว่ามีความสอดคล้องกันอย่างไร

ซึ่งเกมน้องอำนาจนั้นเป็นกิจกรรมที่จะสื่อให้เหผ้นถึงการใช้อำนาจเหนือ (การกดขี่ ข่มเหง ลิดรอน และการทำให้กลัว) โดยการที่ครูและนักเรียนนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนั้นเปรียบเสมือนการใช้อำนาจร่วมกัน และการที่ให้นักเรียนได้ค้นหาอำนาจภายในตนเองหรือค้นหาคุณค่าภายในตนเองนั้น คือการเสริมพลัง (Empowerment) ให้แก่นักเรียน โดยจุดมุ่งหมาย คือ การให้นักเรียนมีทักษะในการใช้ชีวิต เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเอง จนนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งในระดับชั้นเรียนหรือในระดับครอบครัวต่อไปได้

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(4)