icon
giftClose
profile
frame

บัวลอยแสนอร่อย

107442
ภาพประกอบไอเดีย บัวลอยแสนอร่อย

กิจกรรม “บัวลอยแสนอร่อย” เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับผู้เรียนช่วงอายุ 4-6 ปี (ระดับชั้นอนุบาล) จะพาไปเรียนรู้ในเรื่องของการชั่ง ตวง โดยจะนำขั้นตอนของการในการทำขนมบัวลอย เข้ามาเป็นตัวกลางที่จะพาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์จากการลงมือปฎิบัติจริง

กิจกรรม : บัวลอยแสนอร่อย

วัตถุประสงค์ : เพื่อเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องการชั่ง ตวง ในระดับปฐมวัย ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักวิธีการตวงของแห้งที่ถูกต้อง และเรียนรู้เรื่องการเรียนรู้เรื่องการเปรียบเทียบน้ำหนักของวัตถุเปรียบเทียบน้ำหนักของวัตถุสองกลุ่ม เพื่อให้เข้าใจความหมายของมากกว่า น้อยกว่า และเท่ากับ

กลุ่มเป้าหมาย : เด็กอายุ 4-6 ปี (จำนวน 15 คน)

เวลาทั้งหมด : 120 นาที

ประกอบไปด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1.ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

2.ขั้นตอนการสอนและการลงมือทำ

3.ขั้นสรุปบทเรียน

อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรม

1.กระดาษฟลิบชาร์ต

2.ปากกาเมจิก - สีเทียน

3.อุปกรณ์ – วัตถุดิบสำหรับทำขนมบัวลอย

อุปกรณ์ 

  • ถ้วยตวงขนาด 50 กรัม จำนวน 5 ถ้วย
  • ชุดช้อนตวง 1 ชุด
  • ชามสำหรับผสมอาหาร 5 ชาม
  • หม้อ
  • เตาไฟฟ้า
  • ทัพพี
  • ถ้วย-ช้อนสำหรับรับประทาน 15 ชุด

วัตถุดิบ

  • แป้งสำหรับทำบัวลอย หรือแป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
  • ผักที่สามารถให้สี 5 สี สีละ 50 กรัม 

อัตราส่วนผสมแป้ง : ผัก (1 สี) ทำให้สุกและบดให้ละเอียด

  2 ถ้วย(100กรัม) : 1 ถ้วย (50กรัม) 

สีม่วง จาก มันม่วง

สีเหลือง จาก ฟักทอง

สีชมพู จาก บีทรูท

สีส้ม จาก แครอท

สีเขียว จาก น้ำใบเตย

  • หัวกะทิ 500 ml
  • หางกะทิ 500 ml
  • น้ำตาลทราย 80 กรัม
  • น้ำตาลปี้บ 100 กรัม
  • เกลือ ¼ ช้อนโต๊ะ
  • น้ำเปล่า 500 ml
  • น้ำเย็น 150 ml

4.กระบอกวัดปริมาตรแป้ง (อุปกรณ์สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการตวง)

5.เครื่องชั่งสองแขน (อุปกรณ์สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการชั่ง)


การวิเคราะห์ธรรมชาติการเรียนรู้ตามช่วงวัยของผู้เรียน

      จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าพัฒนาการด้านสติปัญญาในเด็กช่วงวัย 4-6 ปี มีความสามารถในการใช้สัญลักษณ์ในการแทนภาษาที่จะมาอธิบาย วัตถุ สิ่งของ สถานที่ ตามประสบการณ์ที่เขามี และเป็นวัยที่สามารถใช้ความคิดในการคำนึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่ซับซ้อน รวมไปถึงมีการสร้างจินตนาการและการประดิษฐ์ ซึ่งเด็กวัยนี้จะมีความสามารถในการจดจ่อ และทำสิ่งต่างๆได้ทีละอย่าง ยังไม่สามารถพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือแบ่งเกณฑ์ต่างๆ หลายอย่างได้พร้อมกัน

      เด็กวัยนี้ค่อนข้างจะมีความสับสนในเรื่องของการเปรียบเทียบน้ำหนัก ปริมาตร ความยาว ของสิ่งของต่างๆ โดยการเรียนรู้และการตัดสินใจของเด็กในวัยนี้จะขึ้นอยู่กับการรับรู้ ต้องมีการส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์ เกิดกระบวนการในการค้นคว้า สังเกต สำรวจ องค์ความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านการลงมือทำจริง (เตวิช วรจารุวรรณ, 2558)


แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้


ขั้นนำสู่บทเรียน : 25 นาที

1.เชื่อมโยงประสบการณ์เกี่ยวกับขนมไทย และชวนพูดคุยเรื่องขนมบัวลอย

มีขั้นตอนดังนี้

- ผู้เรียนนั่งล้อมเป็นวงใหญ่

- คุณครูจำลองสถานการณ์ว่าวันนี้จะมีการจัดงานปาร์ตี้ขนมไทย โดย

o ตั้งคำถามเชื่อมโยงประสบการณ์กับขนมไทย เช่น รู้จักขนมไทยหรือไม่? รู้จักอะไรกันบ้าง?

o พูดคุยเชื่อมโยงเข้าสู่การทำความรู้จักกับขนมบัวลอย

o รู้จักขนมบัวลอยหรือไม่? หน้าตาเป็นอย่างไร?


**ขั้นตอนมีแนวคิดโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ และช่วยทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว , 2554)

 

2.อธิบายขั้นตอนการทำบัวลอยโดยใช้แผนภาพ ร่วมกันระดมความคิดว่าควรมีขั้นตอนอะไรบ้าง

มีขั้นตอนดังนี้

- อธิบายสัดส่วนของส่วนผสมโดยใช้รูปภาพ พร้อมตั้งคำถามทบทวน เช่น ให้ผู้เรียนนับเลขพร้อมกันว่าวันนี้ใช้แป้งกี่ถ้วย? น้ำตาลกี่ช้อน? น้ำกี่แก้ว?

 (ตัวอย่างการใช้แผนภาพในการอธิบาย)


**ขั้นตอนนี้มีแนวคิดการจัดการเรียนรู้ในเรื่องของการเรียนรู้สัดส่วน และทบทวนการนับ จากรูปภาพ การวาดรูปกราฟ การ์ตูน หรือสัญลักษณ์ จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีมากกว่าการเรียนรู้ผ่านทางตัวหนังสือ (Milgram, Dunn&Price, 1993)

 

ขั้นสอนและลงมือทำ : 75 นาที

3.เรียนรู้เรื่องการตวง

คุณครูจัดการเรียนรู้เรื่องการตวงแป้ง โดยมีขั้นตอนดังนี้

-แบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน

-ให้ผู้เรียนทำการตักแป้งทั้งหมด 1 ถ้วย ตามที่เข้าใจ จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับบิกเกอร์ตรงกลาง แล้วให้ผู้เรียนสังเกตว่าตรงเส้นหรือไม่

- คุณครูคอยตั้งคำถามชวนคิด เช่น

o 1 ถ้วยควรตักปริมาณเท่าใด?

o เพราะเหตุใดจำนวนแป้ง 1 ถ้วยของแต่ละคนไม่เท่ากัน?

o ทำอย่างไรจึงจะตักแป้งให้เท่ากับขีดตรงกลาง?


**ขั้นตอนนี้มีแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยเปิดโอกาสให้สำรวจและสังเกต เพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดสมบัติ โครงสร้าง ความสัมพันธ์ และรูปแบบของสิ่งต่าง ๆ ในเชิงจำนวน ปริมาณ และ การใช้สัญลักษณ์ (เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว , 2554)

 

4. ลงมือทำขนมบัวลอย

คุณครูพานักเรียนลงมือทำบัวลอย โดยมีขั้นตอนดังนี้

- แบ่งผู้เรียนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เพื่อทำบัวลอยกลุ่มละ 1 สี แต่ละกลุ่มช่วยกันนวดแป้งและค่อย ๆ เติมน้ำเย็นจนกว่าจะปั้นได้ (แป้งบัวลอย 5 สี ได้แก่ สีเขียว-ใบเตย สีเหลือง-ฟักทอง สีส้ม-แครอท สีแดง-บีทรูท และ สีม่วง-มันม่วง)

- นำแป้งบัวลอยทั้ง 5 สี มารวมกันตรงกลาง จากนั้นคุณครูจะให้โจทย์กับผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนปั้นบัวลอยคนละ 10 ลูก ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนปั้นได้อย่างอิสระตามจินตนาการของผู้เรียน โดยไม่จำกัดสี ขนาด และรูปร่างของบัวลอย


**ขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) จากการทำจริงในสถานการณ์จริงและใช้สีจริงที่หาได้ตามธรรมชาติ ผู้เรียนสามารถค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กในการนวดแป้ง รวมถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการสร้างประสบการณ์ (เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว , 2554)


5. เรียนรู้เรื่องการชั่ง

 หลังจากที่ผู้เรียนแต่ละคนได้ทำการปั้นบัวลอยเสร็จแล้ว ให้รวมบัวลอยของตัวเองกับเพื่อนๆภายในกลุ่มแล้วนำไปชั่งบนเครื่องชั่ง 2 แขน เพื่อเปรียบเทียบน้ำหนักบัวลอยของกลุ่มตนเองและกลุ่มอื่น 

  • โดยคุณครูจะต้องให้ความรู้ว่าแขนของเครื่องชั่งมีไว้เพื่ออะไร 
  • นักเรียนนำบัวลอยของกลุ่มตนเองมาชั่งเพื่อเปรียบเทียบกับบัวลอยของกลุ่มอื่น และคุณครูคอยตั้งคำถาม เมื่อนักเรียนทำการชั่งเสร็จในแต่ละครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า

“ถ้าแขนของเครื่องชั่งอยู่ในระดับเดียวกันแสดงว่าน้ำหนักของสิ่งของที่นำมาชั่งมีน้ำหนักเท่ากัน ถ้าแขนของเครื่องชั่งไม่อยู่ในระดับเดียวกันแสดงว่าน้ำหนักของสิ่งของที่นำมาชั่งไม่เท่ากัน”

  • การที่เลือกใช้เครื่องชั่ง 2 แขนเพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นภาพความแตกต่างของน้ำหนักที่ชัดเจนมากขึ้น


**ในขั้นตอนนี้เป็นการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ผ่านการสำรวจและสังเกต เพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิด สมบัติ โครงสร้าง ความสัมพันธ์ และรูปแบบของสิ่งของต่าง ๆ ในเชิงจำนวน ปริมาณ และการใช้สัญลักษณ์ (เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว, 2554)


6. จากนั้นให้ผู้เรียนและคุณครูทำน้ำกะทิร่วมกัน ตามสูตรที่คุณครูและผู้เรียนต้องการ โดยใช้ความรู้จากการตวงมาใช้ในการทำน้ำกะทิด้วย


ขั้นสรุปบทเรียน : 20 นาที

7. สรุปบทเรียน

ทบทวนกิจกรรมทั้งหมดที่ได้ทำไปในวันนี้ ผ่านแผนภาพขั้นตอนการทำบัวลอยในช่วงแรก โดยจะให้ผู้เรียนช่วยกันตอบคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำบัวลอยและระบายสีตามปริมาณของส่วนผสมที่ใช้ในวันนี้ทั้งหมด เพื่อเป็นการประเมินผลว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการสรุปบทเรียน

- ใช้แป้งทั้งหมดกี่ถ้วย

- การตวงแป้งที่ถูกต้อง ทำอย่างไร

- ปริมาณของแป้ง และผักที่ใช้ ใช้อะไรมากกว่า

- บัวลอยของเรามีทั้งหมดกี่ถ้วย


**ขั้นตอนนี้มีแนวคิดเพื่อประมวลผลเรื่องราวสำคัญที่ผู้เรียนได้เรียนไป รวมถึงเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนการสอนเข้าด้วยกัน และทบทวนประเด็นที่ได้เรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในบทเรียนให้ดีมากขึ้น (PANISAAE, 2554)


เงื่อนไขความสำเร็จของแผนการสอน

o ในการเรียนการสอนในครั้งนี้ ในทุกขั้นของการเรียนไม่ได้ต้องการความสวยงามหรือความสมบูรณ์ของผลงานผู้เรียน แต่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการชั่ง และการตวง

o ครูต้องไม่กลัวว่าทั้งผู้เรียนและห้องเรียนจะเลอะ เพราะการปล่อยให้ผู้เรียนได้ลองลงมือทำ ได้ทำเลอะบ้างจะทำให้สร้างการเรียนรู้ที่หลากหลาย

o ครูควรมีการเตรียมตัวก่อนการสอน เตรียมอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมให้พร้อม

o อาจจะต้องมีครู 2 คนเพื่ออำนวยความสพดวกและดูแลความเรียบร้อยของผู้เรียนอย่างทั่วถึง

o ระวังเกี่ยวกับความร้อนหรือไฟ

o ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ของผู้เรียน หากผู้เรียนมีข้อสงสัย หรือยังทำไม่ได้ยังไม่ควรปล่อยผ่าน ควรที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ถาม และลองผิดลองถูก

o มีการชมเชยเมื่อผู้เรียนทำถูกหรือสำเร็จ มีคำแนะนำเมื่อผู้เรียนยังไม่เข้าใจหรือยังทำไม่ถูกต้อง




บรรณานุกรม

เตวิช วรจารุวรรณ. (มปป.). พัฒนาการ 4 ด้านของเด็กปฐมวัย, สืบค้นจาก

sites.google.com/site/janetewit/phathnakar-4-dan-khxng-dek-pthmway

เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว. (2554).

ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี,

สืบค้นจากlibrary.ipst.ac.th/bitstream/handle/ipst/988/174_32-35_174_32-35_เทพกัญญา พรหมขัติเทพ.pdf

จิตตินันท์ บุญสถิรกุล. (2553). รูปแบบการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย, สืบค้นจากstou.ac.th/offices/rdec/yala/main/pdf/ชุดวิชา 21001/บทที่ 10.pdf

ปาณิศา เรืองจัน. (2544). ทักษะการสรุปบทเรียน, สืบค้นจาก

panisaae.wordpress.com/หลักการสอน-3/ทักษะและเทคนิคการสอน/ทักษะการสรุปบทเรียน

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: กิจกรรม บัวลอยแสนอร่อย.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 31 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(9)
เก็บไว้อ่าน
(10)