icon
giftClose
profile

ไดอารี่ แลกเปลี่ยน 交換日記

19953
ภาพประกอบไอเดีย ไดอารี่ แลกเปลี่ยน 交換日記

การเขียนไดอารี่แบบกลุ่ม ที่สามารถพัฒนาทักษะการเขียน ความสามัคคี อีกทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอนได้อีกด้วย

เกริ่น(ยาว)นิดหน่อย

 ผู้สอนมีความต้องการอยากพัฒนาทักษะการเขียนภาษาญี่ปุ่น ของนักเรียนตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ซึ่งการเขียนไดอารี่แบบง่าย ๆ คือสิ่งที่คิดว่าตอบโจทย์ที่สุด แต่ทำยังไงถึงจะไม่เป็นภาระ(เพิ่มเติมจากการบ้าน) จนเขาไม่อยากทำกันล่ะ ? แม้แต่เวลาที่เราเขียนไดอารี่ หรือบันทึกประจำวัน เนี่ย ขนาดตัวเราเองยังเขียน ๆ หยุด ๆ บางครั้งเลยใช่ไหมคะ แล้วนี่ถ้าให้งานนักเรียนไปเขียนไดอารี่ ก็คงจะมีเฉากันบ้างแหละ (คนตรวจก็เหนื่อยด้วย) ถ้าให้เขียนแค่ครั้ง 2 ครั้ง ก็คงจะไม่เรียกว่าไดอารี่แล้วล่ะ แถมยังดูพัฒนาการของนักเรียนไม่ได้อีกต่างหาก ในระหว่างที่มีคำถามนี้ในใจมาตลอด จนวันหนึ่งที่ได้ไปอบรมแล้วมีครูท่านหนึ่งได้แชร์ไอเดีย 交換日記 (ไดอารี่แลกเปลี่ยน) ขึ้นมา

 

交換日記 (ไดอารี่แลกเปลี่ยน) คืออะไร ?

交換日記 (ไดอารี่แลกเปลี่ยน) เป็นการผลัดกันเขียนไดอารี่ในกลุ่มเพื่อน หรือผลัดกันเขียนกับแฟน ในอนิเมะเก่า ๆ จะมีซีนพวกนี้บ่อย ๆ เพราะเป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นผู้หญิงญี่ปุ่นสมัยก่อน (ทำไปแล้วได้กลิ่นอายญี่ปุ่นเบาๆ5555)

 

สิ่งที่ทำ

1.     ครูแบ่งกลุ่มนักเรียน โดยคละเด็กเก่ง-อ่อน ไว้ด้วยกัน กลุ่มละ 4 คน

2.     ให้นักเรียนในกลุ่มกำหนดลำดับ ว่าใครจะเขียนลำดับที่เท่าไหร่

3.     นักเรียนที่รับผิดชอบเขียนของแต่ละวัน วันรุ่งขึ้นต้องนำมาส่งบนโต๊ะครูก่อนเข้าแถว

4.     ครูตรวจแล้วแก้ไขสิ่งที่นักเรียนเขียนผิด คอมเม้นต์ในสิ่งที่นักเรียนสามารถเขียนเพิ่มได้ เช่น นักเรียนเขียนแค่ว่า 7 โมงครึ่งกินข้าว ครูก็เสริมว่า กินอะไร ที่ไหน กับใคร อร่อยไหม

5.     ครูประเมินนักเรียนโดยใช้ตราปั๊ม 4 ระดับตามสี (ชมพู-ทำได้ดีมาก แดง-ทำได้ดี เขียว-พยายามดีแล้ว น้ำเงิน-อีกนิดหนึ่งนะ)

6.     ก่อนเลิกเรียนนักเรียนมารับสมุดคืน เพื่อให้คนต่อไปเขียน

7.     ทำเช่นนี้ประมาณ 1 เดือน จะมีสะท้อนผลภาพรวมของกลุ่ม แต่ก่อนจะประเมินกลุ่มตนเอง ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม เวียนไดอารี่กันอ่าน (ทุกกลุ่มจะได้เห็นไดอารี่ของเพื่อนกลุ่มอื่น)


8.     หลังจากเห็นไดอารี่เพื่อนกลุ่มอื่นแล้ว ประเมินไดอารี่ของกลุ่มตนเอง และเขียนสิ่งที่ทำได้ดีกับสิ่งที่จะพยายามทำให้ดีต่อจากนี้ จากนั้นติดไว้ในไดอารี่ของกลุ่มตนเอง

9.     นักเรียนเริ่มเขียนไดอารี่อีกครั้ง โดยครูค่อยๆ กำหนดสิ่งที่ควรมีไดอารี่เพิ่มขึ้นทีละเล็กน้อย เพื่อเป็นเงื่อนไขในการได้ตราปั๊มสีแดง 5555555555

10.  วันสุดท้ายของการเรียนการสอน ให้นักเรียนประเมินกลุ่มตนเองอีกรอบ ว่าต่างจากรอบแรกไหม มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และนับจำนวนตราปั๊มแต่ละสี

 

สิ่งที่ได้

1.     นักเรียนได้ทบทวนไวยากรณ์ที่เรียนมา ผ่านการเขียนไดอารี่

2.     นักเรียนมีแรงจูงใจในการเขียนให้ดี เพราะไม่อยากเป็นตัวถ่วงของกลุ่ม

3.     นักเรียนกับครูได้สนทนากันผ่านเรื่องราวของนักเรียน

4.     นักเรียนเกิดความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา เพราะไม่อยากให้เพื่อนในกลุ่มต้องเดือดร้อน

5.     นักเรียนมีความสามัคคีมากขึ้น เพราะต้องตามเพื่อนให้ส่งงาน, ช่วยเพื่อนที่ไม่เก่งเขียน หรือประเมินกลุ่มก็ต้องช่วยกันตัดสินใจในการให้คะแนน

6.     นักเรียนที่ไม่เก่งก็สามารถมีคะแนนกับเพื่อนได้เช่นกัน

 

เพิ่มเติม

1.     นักเรียนที่ไม่เก่งภาษาญี่ปุ่น ก็สามารถเขียนได้ โดยอ่านของเพื่อนก่อนหน้านี้แล้วประยุกต์เป็นเรื่องของตนเอง

2.     ถ้านักเรียนส่งช้า ครูผู้สอนตรวจความถูกต้องให้ แต่ไม่ให้ตราปั๊ม

3.     ช่วงที่มีการสอบหรืองานเยอะ ๆ จะงดกิจกรรมนี้เพื่อผ่อนคลายนักเรียน

4.     จะมีนักเรียนที่อยากเขียนแบบล้ำ ๆ ก็ค่อย ๆ เขียนให้คำแนะนำในหน้านั้น ๆ

5.     นักเรียนบางกลุ่ม ตามเพื่อนให้ส่งงานแบบจริงจังมาก ไม่รู้ว่าจะกลัวกลุ่มเดือดร้อนหรือกลัวเพื่อนด่า 5555

6.     ตกลงกับนักเรียนก่อนเขียนว่า ตราปั๊มทุกสีมีคะแนนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเขียนให้ดี เขียนให้มีพัฒนาการ ปรับปรุงการเขียนตามที่ครูเขียนแนะนำด้วย (มีนักเรียนคนหนึ่งช่วงท้าย ๆ เขียนบอกครูว่าขอสีแดงเถอะครับ 555)

7.     การเขียนตราปั๊มแต่ละสี ไม่ได้ขึ้นกับเกณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ดูพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนควบคู่ไปด้วย 



** จำไม่ได้ว่าคุณครูท่านไหนเป็นคนแชร์ไอเดียนี้นะคะ แต่เป็นตอนอบรมและสะท้อนผลการสอนครูอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นของ Japan Foundation **

*** สำหรับใครที่นำไปใช้แล้ว ได้ผลอย่างไร ลองมาแชร์กันนะคะ :)



ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: สะท้อนผลเขียนไดอารี่.docx

ดาวน์โหลดแล้ว 17 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)