icon
giftClose
profile
frame

เรียนสมการด้วยภาพเป็นไปได้จริง?

25075
ภาพประกอบไอเดีย เรียนสมการด้วยภาพเป็นไปได้จริง?

ไอเดียที่จะช่วยทำให้เด็ก ๆ อยากเข้าใจสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น ‘ภาษามนุษย์ต่างดาว’ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


ครูอ้วนบอกกับเราว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของวิชาคณิตศาสตร์ไม่ใช่การคิดคำนวณ และในขณะเดียวกัน การคิดคำนวณเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องรู้ แต่ผู้ใหญ่เองก็ต้องรู้เพราะมันซุกซ่อนอยู่ในมุมต่าง ๆ ของการใช้ชีวิต


วิชาบางวิชาเป็นทักษะที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสะสมมาตั้งแต่เด็ก เช่น ภาษาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์ ดังนั้น การจะฝึกให้เด็ก ๆ ชอบคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น


การสอนคณิตศาสตร์เรื่องต่าง ๆ ของครูอ้วนจึงเริ่มจาก การคิดว่าการที่เด็กคนหนึ่งหรือแม้กระทั่งตัวครูเองจะสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ แก้สมการ หรือหาค่าตัวแปรได้ ต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง มีความคิดอะไรที่เกิดขึ้นมาเป็นอย่างแรกหลังจากที่ได้เห็นโจทย์คณิตศาสตร์


ครูอ้วนพบว่าหลังจากเห็นโจทย์ โดยธรรมชาติเด็กจะเกิดความคิดเป็นทางแยก 2 ทาง คือ ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ เพราะคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว มีแค่ตอบถูกหรือตอบผิด อีกความรู้สึกที่แวบเข้ามาก็คือ โจทย์คณิตศาสตร์เป็นเหมือนภาษาต่างดาว ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่น่าเข้าใกล้


ครูอ้วนจึงเลือกสอนคณิตแบบที่ทำงานกับสมองของเด็ก โดยขึ้นโจทย์หรือหัวข้อที่ใช้สอนเป็นภาพให้เด็กก่อน แล้วให้พวกเขาได้ใช้ความคิดของตัวเองถอดรื้อภาษาแปลก ๆ ยาก ๆ นั้นให้ออกมาเป็นวิธีการที่นำไปสู่คำตอบได้ในท้ายที่สุด



เทคนิคการสอนคณิตศาสตร์โดยใช้ภาพ

  • เริ่มต้นด้วยการขึ้นภาพโจทย์สมการ แล้วให้เด็ก ๆ เขียนความรู้สึกของตัวเองใส่โพสต์อิท โดยในเบื้องต้นให้ตัดเรื่องความรู้ออกไปก่อน ให้เขียนแค่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้เห็นภาพที่คุณครูเตรียมมา 
  • จากนั้น ชวนเด็ก ๆ แลกเปลี่ยนความรู้สึกที่เขียนร่วมกันกับเพื่อน ๆ แล้วลองจัดแยกประเภทเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มที่รู้สึกสับสนว่าสิ่งนี้

คืออะไร หรือกลุ่มที่รู้สึกมึน ๆ และตกใจ หลังจากนั้น ให้เด็ก ๆ ลองดูโพสต์อิทของตัวเองอีกครั้ง พร้อมกับให้ลองคิดกับตัวเองว่า เราจะมีวิธีการเข้าใจสิ่งนี้ได้ อย่างไร เราจะต้องใช้กระบวนการแบบไหนที่จะพยายามเข้าใจมันได้ ระหว่างที่เด็ก ๆ กำลังทบทวนสิ่งที่ตัวเองเขียน คุณครูก็เตรียมภาพ 6 ภาพ ซึ่งเป็นขั้นตอนในการแก้สมการในรูปแรก 

  • ให้เด็ก ๆ ใช้เวลาช่วยกันปะติดปะต่อภาพทั้งหก โดยที่ยังไม่ได้เรียน หรือเข้าใจขั้นตอนแบบละเอียด แต่ให้ลองใช้การคาดคะเนลำดับวิธีการแก้สมการว่าภาพไหนควรจะขึ้นมาเป็นลำดับก่อน-หลัง ด้วยตัวเอง
  • จากนั้น ให้ลุกจากที่ เพื่อไปแลกเปลี่ยนคำตอบกับเพื่อน ๆ โดยอาจเริ่มจากการจับเป็นคู่ ไปสู่การแลกเปลี่ยนเป็นกลุ่ม
  • ให้เด็ก ๆ ลองดีเบตกันว่าคำตอบของกลุ่มไหนควรจะเป็นคำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยสิ่งที่สำคัญก็คือต้องใช้เหตุผลในการอธิบาย

หลังจากผ่านไปประมาณ 2 นาที ให้เด็ก ๆ ลองช่วยกันสรุปคำตอบสุดท้ายที่คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การแก้สมการทำได้หลายวิธี เพราะฉะนั้นก็การเรียงลำดับก็อาจจะมองได้หลายทาง แต่สิ่งที่คุณครูควรจะเน้นย้ำคือทุกคนต้องสามารถให้เหตุผลกับทางที่ตัวเองเลือกได้ เช่น มีจุดสังเกตจากอะไรบ้าง


Reminder เรื่องที่ควรใช้เป็นจุดสังเกตในแต่ละกระบวนการคือความรู้เดิมที่คุณครูเคยสอนเด็ก ๆ ไปหรือเคยเรียนในชั้นเรียนก่อนหน้านั้น สำหรับในการสอนเรื่องสมการ ตัวอย่างจุดสังเกตก็มีที่มาจากความรู้หลากหลายเรื่อง เช่น เศษส่วน การแก้สมการตัวแปรเดียว เลขยกกำลัง 


ผลที่ได้รับคือเด็ก ๆ จะได้ใช้กระบวนการคิดจากชุดความคิดเดิม สะท้อนความรู้สึกในตอนท้ายกิจกรรมที่แตกต่างจากตอนที่ได้เห็นรูปแรก เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเจออะไรที่เป็น ‘ภาษาต่างดาว’ หรือเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นชิน ไม่เคยเจอมาก่อน ก็จะไม่หันหน้าหนี แต่จะกล้าที่จะพยายามทำความเข้าใจ ฝึกฝนทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ เทคนิคการสอนแบบนี้ยังทำให้เด็ก ๆ ได้เเลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน ๆ นำสิ่งที่จำได้หรือเคยมีประสบการณ์มาผสมผสาน ช่วยเหลือกันจนหาทางออกหรือได้คำตอบในที่สุด


ครูอ้วนยังเล่าติดตลกในตอนท้ายว่า เด็กบางคนถึงกับบอกว่า 

“ต่อให้เจอมนุษย์ต่างดาวมายืนตรงหน้า เขาก็จะไม่วิ่งหนี”

แต่เขาจะลองสังเกตอากัปกิริยาท่าทาง แล้วคุยกับมนุษย์ต่างดาว


เพราะเขาเชื่อมั่นว่า เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างที่เขาพูดก็ได้ แค่ลองสังเกต ทำความเข้าใจอีกฝ่าย มนุษย์ต่างดาวก็อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เคยคิด เหมือนกันกับที่เด็ก ๆ เริ่มเปิดใจให้กับการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น



บอกเล่าไอเดียโดย คุณครูณรงค์ชัย เต็นยะ (ครูอ้วน)

จาก Teach For Thailand

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(5)