icon
giftClose
profile

ไดโคโตมัสคีย์ จัดจำแนกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเพื่อน

276591
ภาพประกอบไอเดีย ไดโคโตมัสคีย์ จัดจำแนกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเพื่อน

เรียนรู้การใช้ไดโคโตมัสคีย์ผ่านการจัดจำแนกเพื่อนในห้อง

Friend (noun) = a person who you know well and who you like a lot – Cambridge Dictionary

“ถ้าหากมีคุณครูที่ไม่เคยสอนพวกเราเดินเข้ามา คุณครูจะสามารถระบุตัวนักเรียนโดยใช้คู่มือจัดจำแนก เพื่อน ที่นักเรียนสร้างได้หรือไม่?” คือโจทย์สุดแปลกของ “ครูเนส” คุณครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนาที่โยนให้แก่นักเรียน ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเราต้องมาทำคู่มือเพื่อจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เพื่อน” คนที่เรารู้จักเจอหน้ากันในห้องทุกวันอยู่แล้ว มีลักษณะอะไรให้ต้องจำแนกกันอีกนะ แต่ด้วยโจทย์สุดแปลกนี้เองที่ทำให้นักเรียนเข้าใจ “ไดโคโตมัสคีย์” ได้อย่างถ่องแท้ โดยไม่ต้องท่องจำให้ปวดหัว


ไดโคโตมัสคีย์ เวทีแจ้งเกิดรึป่าว แฮร่ ! นั่นมันมาสเตอร์คีย์

ไดโคโตมัสคีย์ คือ เครื่องมือที่ใช้ในการระบุชนิดหรือกลุ่มของสิ่งมีชีวิต โดยใช้การเปรียบเทียบลักษณะที่ต่างกันของสิ่งมีชีวิตทีละคู่ จนสามารถระบุได้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นคืออะไร แต่ถ้าจะให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการบรรยายก็คงจะน่าเบื่อเกินไป ครูเนสจึงได้คิดไอเดียเปลี่ยนเรื่องที่ฟังดูยากให้กลายเป็นเรื่องน่าสนุก โดยให้นักเรียนได้ลองจัดจำแนกเพื่อนในห้องเรียนของตัวเอง 


“เอ๊ะ ๆ เพื่อนคนนี้มีไฝตรงนี้ด้วยเหรอ เพื่อนคนนี้ตาสีนี้เหรอ ทำไมเราจึงไม่เคยเห็นมาก่อน” 

นักเรียนเกิดอาการ “เอ๊ะ ๆ” เมื่อได้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านการสังเกตเพื่อนในห้อง เพราะในขั้นแรกนักเรียนแต่ละกลุ่มต้องลองคิดเกณฑ์เพื่อจัดจำแนกเพื่อนในห้อง โดยเขียนออกแบบมาเป็นรูปแบบใดก็ได้ให้ดู “ง่าย” ที่สุด เช่น แผนผัง หรือ ตาราง หากนักเรียนติดขัดหรือมีจุดที่ยังไม่เข้าใจ ครูจะให้คำแนะนำ ชี้แนะให้ลองเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นดู แต่ไม่ได้สอนตรง ๆ ทำให้ครูได้เห็นกระบวนการสังเกต การแก้ปัญหา และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน จากเกณฑ์ที่พวกเขาช่วยกันเลือก ตั้งแต่ลักษณะทางชีวภาพ เช่น สีผิว ติ่งหู ไฝ ส่วนสูง ไปจนถึงพฤติกรรมที่แสดงออกภายนอก เช่น ลักษณะของการไขว้มือกันเลยทีเดียว 


หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มออกมาแสดงผลงานหน้าห้องเพื่อเปรียบเทียบ มองหาจุดเด่น จุดด้อย เพื่อนำไอเดียมาต่อยอดและพัฒนารวมกันจนได้เป็นคู่มือการจัดจำแนกเพื่อน 


เมื่อได้คู่มือที่เสร็จสมบูรณ์ ก็ต้องนำมาทดสอบว่าใช้งานได้จริงหรือไม่ ครูเนสเลือกครูที่ไม่เคยสอนระดับชั้นนี้มาทดลองใช้ว่าสามารถระบุเด็กนักเรียนได้ถูกต้องหรือไม่จากคู่มือ ก่อนที่ครูสะท้อนว่าคู่มือควรปรับแก้อย่างไรเพื่อให้นักเรียนพัฒนาคู่มืออีกครั้งหนึ่งจากผลลัพธ์ที่นักเรียนได้ทดลอง อีกทั้งนักเรียนต้องสามารถอภิปรายร่วมกันว่า “คู่มือที่ดีคืออะไร” เพราะกระบวนการพัฒนานี้เองที่จะทำให้นักเรียนได้ตกตะกอนความคิด เข้าใจได้ว่าเกณฑ์การจัดจำแนกที่ดีจะต้องระบุให้ชัดเจน ละเอียด เช่น หากจะวัดจากความสูงก็ต้องกำหนดว่ากี่เซนติเมตร ไม่ใช่เปรียบเทียบแค่ว่าสูงหรือเตี้ย 



จากกิจกรรมนักเรียนสามารถเข้าใจการใช้ไดโคโตมัสคีย์แบบไม่ต้องท่องจำ โดยครูประเมินความรู้ผ่านชิ้นงาน ให้นักเรียนทำไดโคโตมัสคีย์ของสัตว์อะไรก็ได้ 10 ชนิด และพบว่านักเรียนสามารถทำได้อย่างถูกต้อง นักเรียนบางคนอาจมองว่าตนเองไม่เก่งเมื่อต้องเรียนรู้ผ่านการฟังบรรยาย แต่พอค้นพบว่าตนเองสามารถเข้าใจเนื้อหาผ่านกิจกรรมได้ ก็เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เปิดใจต่อวิชามากขึ้น นี่จึงเป็นการเรียนรู้แบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่กระตุ้นให้ เด็กทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  


ยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนรู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องมากขึ้นผ่านกระบวนการการสังเกต การทำงานเป็นทีม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นี่จึงเป็นการสร้างสัมพันธภาพในทางอ้อมให้แก่นักเรียน ให้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเพื่อนนี้ไม่ใช่แค่คนที่เรารู้จัก แต่รู้จักกันดี (know well) และจะดียิ่งขึ้นถ้าการสร้างสัมพันธภาพนี้จะทำให้นักเรียนรักกันมากขึ้น (like a lot) เฉกเช่นคำนิยามของคำว่าเพื่อนค่ะ



เจ้าของไอเดีย - ครูวิสนี ทินโนรส (ครูเนส)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(17)
เก็บไว้อ่าน
(5)