icon
giftClose
profile

"ขลานิเวศน์” บอร์ดเกมสู่การสร้างนวัตกรรุ่นใหม่

17960
ภาพประกอบไอเดีย "ขลานิเวศน์” บอร์ดเกมสู่การสร้างนวัตกรรุ่นใหม่

รู้จักเมืองสงขลาผ่านบอร์ดเกม ส่งต่อแรงบันดาลใจจากนวัตกรต้นแบบ เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่

ก่อนจะไปถึงไอเดียการสอน อยากให้ทุกคนลองจินตนาการถึงการเดินเที่ยวใน “ย่านเมืองเก่า” ทุกคนนึกถึงบรรยากาศแบบไหน? สำหรับเราคงเป็นแค่การเดินไปตามถนนที่รายล้อมไปด้วยตึกเก่า ๆ บรรยากาศเงียบสงบ แวะถ่ายรูปกับ street art สวย ๆ มองดูวิถีชีวิตของผู้คนสองข้างทาง แต่การสัมภาษณ์ “ครูเบนซ์” อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ทำให้เราอยากรู้จัก “เมืองเก่าสงขลา” มากขึ้น เพราะเราได้รู้ว่ามีบุคคลเบื้องหลังหลาย ๆ ท่านที่มีทั้งไอเดีย เจ๋ง ๆ ความสามารถ และแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมที่พัฒนาเมือง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ และคักคักอย่างทุกวันนี้


นี่จึงเป็นที่มาของบอร์ดเกม “ขลานิเวศน์” (Innovator of Songkhla) ของครูเบนซ์ ซึ่งเป็นการรวมเอาเรื่องราวของ “นวัตกรต้นแบบ” ทั้ง 9 ท่านที่สอดคล้องกับคุณลักษณะ 5 ประการของการเป็นนวัตกร (มีแรงบันดาลใจ มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถบูรณาการได้ ลงมือทำจริง) และมีความเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเมือง พิพิธภัณฑ์ อาร์ตแกเลอรี่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ มาส่งต่อ ให้แก่เด็ก ๆ ในท้องถิ่น ในรูปแบบที่ทั้งสนุก น่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก ๆ ในการสร้างนวัตกรรมของตนเอง จนเกิดเป็น “นวัตกรรุ่นใหม่” โดยใช้ STEAM4INNOVATOR ซึ่งเป็นแนวทางหลักสำคัญ ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มุ่งใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมกลุ่มเครือข่ายเยาวชน โดยบูรณาการ ศักยภาพด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM (Science วิทยาศาสตร์, Technology เทคโนโลยี, Engineering วิศวกรรมศาสตร์, Art ศิลปะ, และ Mathematics คณิตศาสตร์) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงาน ที่มีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมอยู่ด้วยอย่างสมบูรณ์ ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ


1.รู้ลึก รู้จริงผ่านการ์ดข้อมูลนวัตกร (Insight)

  • ความสำคัญของขั้นนี้ คือ การสังเกตและเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่เราจะได้ออกแบบนวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการสร้างนวัตกรรมที่ดี
  • แต่ละกลุ่มจะได้ข้อมูลนวัตกรภายใน 30 วินาที จากนั้นตัวแทนจึงทอยลูกเต๋าเพื่อสุ่มเลือกนวัตกร แล้วจึงแจกการ์ดให้ผู้เล่น 6 ใบ ซึ่งประกอบไปด้วย
  • การ์ดนวัตกร จำนวน 1 ใบ  
  • การ์ดข้อมูล เช่น lifestyle Inspiration ของนวัตกร จำนวน 4 ใบ 
  • การ์ดภารกิจ  จำนวน 1 ใบ
  • ผู้เล่นทอยลูกเต๋าและทำตามคำสั่งของช่องที่ทอยไปตก เช่น จั่วการ์ดเพิ่ม 1 ใบ แต่ต้องทิ้งการ์ดในมือ 1 ใบ ถามคำถามนวัตกร จั่วการ์ดเพิ่ม เป็นต้น
  • ถ้าจั่วเจอการ์ด “For Songkhla” ที่อธิบายถึงสิ่งที่นวัตกรทำเพื่อเมืองสงขลา และสามารถตอบได้ถูกต้องว่าเป็นผลงานของใคร จะมีสิทธิ์ถามคำถามกับนวัตกร 10 วินาที
  • ผู้เล่นเล่นวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผู้ที่สะสมการ์ดได้ข้อมูลที่สัมพันธ์กัน จนสามารถสร้างประโยค Challenge ที่อธิบายได้ว่านวัตกรเป็นใคร สร้างคุณประโยชน์อย่างไรให้แก่เมืองสงขลา จึงจะเป็นผู้ชนะ


2. “นวัตกรรุ่นใหม่” ต่อยอดไอเดียจาก “นวัตกรต้นแบบ” (Wow! Idea + Biz Model + Production& Diffusion)

  • เมื่อทำความเข้าใจจากข้อมูลที่ได้มาแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือสร้างสรรค์ผลงานสักที! ในขั้นนี้เองที่นักเรียนจะได้
  • Wow! Idea: กำหนดเป้าหมายและปัญหาให้ชัดเจนเพื่อสร้างสรรค์ไอเดีย
  • Biz Model: วางแผนบริหารจัดการ ทดลองสร้างผลงานต้นแบบจากไอเดีย
  • Production & Diffusion: นำนวัตกรรมออกสู่ตลาดจริง
  • ครูเบนซ์ได้จัดกิจกรรม workshop ขึ้นที่ร้าน Songkhla Station กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 นอกจากจะได้เล่นเกมแล้ว นักเรียนยังได้พูดคุยกับนวัตกรต้นแบบตัวจริงเสียงจริง รวมทั้งได้ประสบการณ์จากไปการเรียนรู้และสัมผัสนวัตกรรมในสถานที่จริง 
  • กิจกรรมนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของนวัตกรรุ่นใหม่เหล่านี้ เรียกได้ว่าจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะนวัตกรรมที่เด็ก ๆ ออกแบบและสร้างนั้น ล้วนมีความสร้างสรรค์ เอาไปใช้งานในธุรกิจได้จริง และมีส่วนช่วยต่อยอดการพัฒนาเมืองของนวัตกรต้นแบบ (prototype) เช่น 
  • แอพพลิเคชั่นเพื่อร้านอาหาร ที่ออกแบบมาเพื่อแนะนำวัตถุดิบในอาหารซึ่งเป็นของดีจากที่ต่าง ๆ ในสงขลา 
  • แอพพลิเคชั่นจัดการการส่งอาหารให้มีความรวดเร็ว พร้อมๆกับเก็บ Data Base ไปด้วยว่าเมนูใดได้รับความนิยมมากที่สุด
  • แอพพลิเคชั่นสำหรับพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ ที่จำลองการสวมใส่ผ้าโบราณของผู้ที่ไปเยี่ยมชมว่าเมื่อผ้าเหล่านี้อยู่บนร่างกายของเราจะออกมาเป็นอย่างไร


ตั้งแต่กระบวนการของบอร์ดเกมจนถึงการสร้างนวัตกรรม เด็ก ๆ ไม่เพียงรู้จักและมองเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตัวเอง แต่ยังสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทของการเป็นพลเมืองในสังคม ที่จริง ๆ แล้วทุกคนล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะพัฒนาเมืองต่อ ๆ ไป ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ และทำให้มองเห็นถึงความสามารถของตนเองผ่านการลงมือสร้างนวัตกรรม และนำไปใช้ในธุรกิจจริง ในวันหนึ่งที่พวกเขาเหล่านี้เติบโตและก้าวขึ้นมารับช่วงต่อ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า นวัตกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะสืบสานแรงบันดาลใจดี ๆ ที่ได้รับจากบอร์ดเกมขลานิเวศน์เพื่อบ้านเกิดที่พวกเขารักต่อไป 


เจ้าของไอเดีย: ครูเบนซ์ นินนาท์ จันทร์สูรย์

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(0)