icon
giftClose
profile

7 มนุษย์ครู ผู้ไม่ยอมจำนนกับสิ่งเดิม ๆ 🏆

13510
ภาพประกอบไอเดีย 7 มนุษย์ครู ผู้ไม่ยอมจำนนกับสิ่งเดิม ๆ 🏆

ชวนอ่านเรื่องเล่าของ 7 มนุษย์ครูผู้อยากเปลี่ยน จนลุกขึ้นมาเขียนวัฒนธรรมโรงเรียนใหม่เอง! . . เพราะคุณลักษณะที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย เริ่มสร้างได้ตั้งแต่ในโรงเรียน 🕊

"ปัจฉิม ที่แปลว่าการเริ่มต้น


EP. 1

ถ้าเราเชื่อว่า “โรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้” เราจะมองเห็นว่าทุกโอกาสและทุกกิจกรรม ล้วนแต่โอกาสที่ครูจะสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน งานปัจฉิมที่เราเห็นมาตลอดมักจัดขึ้นในหอประชุม บรรยากาศอำลา ม.3 และ ม.6 เป็นแบบเดิมทุกปี เราเริ่มตั้งคำถามกันว่า งานปัจฉิมสามารถไปได้สุดกว่านี้หรือไม่ ทั้งอารมณ์ บรรยากาศงาน ความหมาย และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้นักเรียนที่จัดงาน ได้แสดงฝีมือ แล้วเราก็เริ่มออกแบบงาน

.

โจทย์แรกที่อยากทำ คือการออกจากหอประชุม และรูปแบบการจัดแผนผังที่นั่งแบบเดิม ๆ เราเสนอไอเดีย “ธีมงานแต่ง” ในสไตล์ Rustic เนื่องจากเห็นว่า เราสามารถตกแต่งงานให้ดูดีโดยใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ทั้งในโรงเรียนและในชุมชน มาตกแต่งให้ดูดีได้ และประหยัดงบประมาณตามมาตรฐานส่วนตัวของเรา เราว่างานที่เท่ที่สุด คืองานที่ออกมาดูแพง ๆ ทั้งที่แทบจะไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบสิ่งรอบตัว และการกล้าออกจากกรอบเดิม ๆ

สิ่งที่เราอยากท้าทายตัวเองและนักเรียน การบิ๊วนักเรียนไม่ยากเลย เด็ก ๆ พร้อมที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ หากเขามีครูที่สามารถยืนหยัดอยู่ข้างพวกเขา เชื่อมั่น และสนับสนุนไอเดียของเขา


EP. 2

ปีแรกของการประกาศว่าจะจัดงานปัจฉิมนอกหอประชุม เราได้กระแสตอบรับทั้งบวกและลบ

ส่วนใหญ่จะมองว่า “มันจะไม่ขลังหรือเปล่า” หรือไม่สมศักดิ์ศรีของการจัดงานเพื่อนักเรียนที่จะจบไปหรือเปล่า ตรงนี้เราต้องไม่หวั่นไหวนะ ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำมันดีจริง ๆ ต้องจัดให้เห็นให้ได้

.

สุดท้ายเราได้จัดงานออกมาในรูปแบบที่เราต้องการ ช่วงเวลาของการเตรียมงานคือความสนุก เราเห็นพลังงานที่มาจากเด็ก ๆ สภานักเรียน ทุกคนช่วยกันเสนอไอเดีย ลองจัดวาง ลองย้ายตำแหน่งที่ตั้งของอุปกรณ์ต่าง ๆ ดูตัวอย่างจาก Pinterest อยากทำให้เหมือนฝรั่ง ก็ต้องหาวัสดุแบบไทย ๆ มาทดแทน เมื่อทุกอย่างเสร็จ เราลุ้นกันว่า พรุ่งนี้ทุกคนจะชอบงานของเราไหม สภานักเรียนก็ลุ้นว่า พี่และน้องของพวกเขาจะโอเคกับงานนี้หรือเปล่า

.

แล้ววันงานมาก็ถึง เราเห็นหลาย ๆ คนชอบบรรยากาศของงานเรา ถ่ายรูปกับมุมต่าง ๆ และชื่นชมในความแปลกใหม่ อ้อ เราขอความร่วมมือจากคณะครู ให้แต่งตัวเหมือนมางานแต่งงานด้วยนะซึ่งคุณครูหลาย ๆ ท่านก็ให้ความร่วมมือ บรรยากาศของงาน ถ้าไม่บอกใครว่านี่คืองานปัจฉิมนิเทศ มันก็คืองานแต่งดี ๆ นี่เอง


EP. 3

ฟีดแบ็กแรกอย่างเป็นทางการของการจัดงาน เราถูกตำหนิจากผู้นำพิธีการ ว่าไม่ให้ความศักดิ์สิทธิ์ต่อการจัดงาน รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์ในช่วงพิธีบายศรีของเรานั้นยังตกหล่นไปบางอย่าง ซึ่งแม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจว่าการจัดในหอประชุมนั้นศักดิ์สิทธิ์กว่าอย่างไร แต่เราก็น้อมรับและปรับปรุงในปีต่อมาในเรื่องอุปกรณ์

.

เรากลับมานั่งเลือกรูปภาพที่ถ่ายในงาน บรรยากาศในงาน มุมต่าง ๆ เพื่อโพสต์ลงใน Facebook เรามีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะให้คนในโรงเรียนเห็นและมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีจริง คนในโซเชียลมีเดียจะเป็นผู้ยืนยันความเชื่อนี้

.

และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ มียอดแชร์โพสต์ของเราอย่างมหาศาล แม้เราเองจะยังไม่ได้แชร์ไปที่เพจอะไรอะไรก็ครู เราเห็นคำชื่นชม เห็นการแท็กเพื่อนแล้วบอกว่าอยากจัดแบบนี้ อยากทำแบบนี้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจของพวกเราพองโต

.

เราเห็นศิษย์เก่าแชร์โพสต์ไปพร้อมกับแคปชั่นที่แสดงถึงความภาคภูมิใจ และเหนือสิ่งอื่นใด เด็ก ๆ สภานักเรียนของเรา ที่ได้เห็นฟีดแบ็กจากสิ่งที่ตัวเองทำด้วยตาตัวเอง ว่าพวกเขาไม่ได้เหนื่อยเปล่ากับงานนี้


EP. 4

หลังจากงานปัจฉิมในครั้งนั้นของเรา เราสังเกตเห็นหลาย ๆ โรงเรียนจัดงานปัจฉิมในรูปแบบเรียบง่ายแต่สวยงามเช่นเดียวกับเรา ทั้งจากที่เห็นโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดีย และจากการขับรถผ่านโรงเรียนใกล้เคียง ที่มีเก้าอี้อยู่กลางสนาม และประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ประตุหน้าต่างเก่า และวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นที่สำคัญที่สุด

.

เราเห็นวิธีคิดของนักเรียนของราที่เปลี่ยนไป เราเห็นวิธีการออกแบบงาน ที่จากเดิมน้อง ๆ จะถามรุ่นพี่ว่า การจัดงานปีที่แล้วต้องเตรียมอะไรบ้าง เป็นการย้อนดูว่าปีที่แล้วจัดธีมอะไร และปีนี้จะต้องจัดธีมอะไรที่จะไม่ซ้ำกับปีก่อน ต่อยอดไปถึงรูปแบบการจัดงานกีฬาสี และเปิดบ้านวิชาการ ซึ่งใช้แนวคิด “เท่แต่ประหยัด” มาเป็นโจทย์ในการคิดเสมอ

.

เราว่าโรงเรียนมันควรเป็นแบบนี้ เป็นพื้นที่ที่ให้ทั้งครูและนักเรียนได้ลองผิดลองถูกเพราะการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้นั้น ควรจะเป็นการต่อยอดความรู้ ไม่ใช่การผลิตซ้ำความรู้เดิม

.

สิ่งสำคัญคือการเก็บเอา “หัวใจ” ของงานหรือกิจกรรมไว้ให้ได้ แล้วเราจะไม่หลุดประเด็น ว่าแท้จริงแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ จัดขึ้นเพื่ออะไร หรือเราจะได้ประโยชน์อะไร จากการจัดงานและสุดท้าย นักเรียนจะมั่นใจ ถ้าพวกเขามีครูที่พร้อมจะยืนข้าง ๆ พวกเขาอยู่เสมอ

.

ดีใจ ที่งานปัจฉิมนิเทศของโรงเรียนเรา เป็นจุดเริ่มต้นของใครหลาย ๆ คน ในการตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ ในพื้นที่การเรียนรู้ของตนเอง"


ดูภาพกิจกรรมได้ที่ : https://bit.ly/31yhEB5


"อันนี้นักเรียนเป็นคนเริ่มตั้งคำถามก่อน 


เขาตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และพบว่าพวกเขาเติบโตมาในยุคที่สิ่งผิดปกติถูกทำให้กลายเป็นความปกติ ในสังคมที่เด็กไม่สามารถไว้วางใจอะไรได้เลยตั้งแต่ รัฐ กฎหมาย สื่อ โรงเรียน หนังสือเรียน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัว แต่เขามีความกล้าหาญมากพอที่จะร้องบอกและกล้าพอที่จะถามหาการเปลี่ยนแปลง เราเห็นว่านี่เป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ก็เลยลุกขึ้นมาสู้ไปพร้อมกับพวกเขา

.

เราจึงอยากให้นักเรียนตระหนักถึงพลังของพวกเขาเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ว่าเขาเองก็เป็นเจ้าของร่วม และมีสิทธิในการออกแบบสังคมที่อยากเห็นทั้งในระดับโรงเรียนและสังคมไม่ต่างจากผู้ใหญ่

.

เราว่าการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในไทยมันเหมือนกับการวิ่งมาราธอนบวกวิ่งพลัด เราอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรมในชั่วชีวิตนี้และพยายามอยู่ แต่ถ้าไม่มีโอกาสได้เห็น ก็เชื่อว่าความหวังจะกระจ่างชัดขึ้นในรุ่นเรา และถูกส่งต่อไป ไม่มีอะไรหยุดการเปลี่ยนแปลงได้

.

ในระยะสั้นที่เห็นเป็นรูปธรรมคงเป็นกฎระเบียบในโรงเรียนที่เปลี่ยนไป บรรยากาศของโรงเรียนที่นักเรียนกล้าตั้งคำถามและสื่อสารสิ่งที่เขาคิด รู้สึก และต้องการมากขึ้น ครูเองก็ตระหนักถึงปัญหาของวัฒนธรรมอำนาจนิยมและเคารพความเป็นมนุษย์ของนักเรียนมากขึ้นด้วย ช่วงปีที่ผ่านมานี้เราได้ยินชุดคำอย่างความเป็นธรรม ความเป็นมนุษย์ รัฐสวัสดิการ คนเท่ากัน ความเท่าเทียมทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ เป็นเหมือนคำสามัญในบทสนทนาของนักเรียน ซึ่งตอนเราเป็นนักเรียนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ดังนั้น ในระยะยาวเรามีความหวังมากจริง ๆ ว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ทุกคนได้อยู่อย่างฅน"


ดูภาพกิจกรรมได้ที่ : https://bit.ly/2PGXsub


"เรามองว่าคุณธรรมมันตีความหมายได้หลายอย่างมาก

.

หลายคนตีความหมายว่าจะต้องเกี่ยวกับวัด เอาพระมาเทศน์

แต่เรามองว่าคุณธรรมพื้นฐานอย่างแรกที่ต้องสร้างเลยคือ ความรับผิดชอบและมีวินัยต่อหน้าที่ของตัวเอง รวมไปถึงกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนมากกว่าสิ่งอื่น เลยคิดว่าค่ายคุณธรรมที่อยากจัด ควรเป็นค่ายอะไรบางอย่างที่ฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง คนอื่น โรงเรียน หรือสังคมภายนอกผ่านการลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา เลยจัด The Student ขึ้น

.

ค่ายแบบเดิมบังคับตามคำสั่ง

แต่ค่ายแบบใหม่มุ่งสร้างความรับผิดชอบและวินัยต่อตัวเอง

ซึ่งเราอยากสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาที่ตัวเองเจอมาทั้งในครอบครัว โรงเรียนและที่สำคัญในสังคม

.

เราพยามทำค่ายไปในแนวเรื่องของ "ความรับผิดชอบ" ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหากแต่ละคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง ทำอย่างไรให้ปัญหาต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปและให้นักเรียนช่วยกันระดมความคิดเชิงแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การมาสาย การทิ้งขยะไม่เป็นที่ การกลั่นแกล้งในโรงเรียน การเข้าใจผู้อื่น เป็นต้น

.

สุดท้ายนักเรียนชอบมาก ๆ เพราะ มันเป็นมุมมองของเขาเองในหลายเรื่องต่อผู้อื่น แล้วค่ายไม่ได้บังคับว่าจะตั้งตื่นเช้ามาออกกำลังกาย หรือมานั่งสมาธิ แต่เราแค่นัดเวลา แล้วให้เขารับผิดชอบต่อหน้าที่ตัวเอง พอทำแบบนี้ก็ไม่มีนักเรียนคนไหนมาสาย เพราะทุกคนรับผิดชอบต่อหน้าที่ตัวเอง พอดู feedback เด็กๆ ก็อยากให้จัดอีก บอกว่าเป็นค่ายคุณธรรมที่อยากเข้าที่สุดเท่าที่เคยมีมา"


ดูภาพกิจกรรมได้ที่ :

https://bit.ly/3sIotMs

https://bit.ly/3fu6KEE


"เราเชื่อว่านักเรียนน่าจะเป็นคนที่สำคัญที่สุดในโรงเรียน ดังนั้นถ้าอยากได้การศึกษาจะดี อยากมีห้องเรียนจะมีความหมาย เราต้องเปิดใจรับฟังฟีดแบ็คจากนักเรียนเพื่อนำมาปรับปรุงห้องเรียนประกอบการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติตัวของเรา

.

ช่วงนั้นมีคุณครูท่านนึงซึ่งเป็นเพื่อนใน Facebook ได้ลองใช้ซองจดหมายติดหน้าห้องหมวดเพื่อรับเสียงสะท้อนจากนักเรียน เราเห็นว่ามันเข้าท่าดี แล้วมองว่าทำไมเราไม่ทำในระดับโรงเรียนไปเลยล่ะ ทั้งโรงเรียนจะได้รับข้อความจากเด็ก แถมยังเปิดช่องทางสื่อสารให้นักเรียนที่อยากสื่อสารกับครูแต่ไม่กล้าด้วย เลยไปปรึกษากับครูหาวและครูต้น ประจวบกับใกล้วันไหว้ครูพอดี เลยจัดกิจกรรมออกมาในรูปแบบนี้ครับ

.

กิจกรรมนี้มาจากแนวคิดที่ว่า "ครูทุกคนควรได้รับฟีดแบ็คจากนักเรียน“ เพราะจริงๆแล้ว "นักเรียนคือกระจกสะท้อนครู" ห้องเรียนเป็นการทำงานร่วมกันของครูและนักเรียน ดังนั้น ครูและนักเรียนควรจะได้แลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกัน อาจมีดีบ้างแย่บ้างแต่ถ้าลองเปิดใจรับฟังแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเด็ก ๆ ดู ก็จะทำให้เราได้เห็นมุมที่ครูอาจไม่ทันสังเกตุ แนวคิดดี ๆ เจ๋ง ๆ จากนักเรียนมากมายเลยทีเดียวครับ ซึ่งก็จะทำให้โรงเรียน นักเรียน ครูปรับตัวเข้าหากัน และพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นด้วย โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอนครับ

.

หลังจากประชาสัมพันธ์ไปว่าจะมีกิจกรรมนักเรียนตื่นตัวกันมากครับ ซึ่งก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สื่อสารบ้าง มันก็ทำให้บรรยากาศโดยรวมของโรงเรียนดีขึ้น ดูเป็นมิตรกับนักเรียนแล้วทำให้สื่อถึงว่าโรงเรียนและคุณครูก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับนักเรียนเช่นกัน ฟีดแบ็คที่ได้จากนักเรียนหลากหลายอาจมีทั้งชื่นชมและอยากให้ปรับปรุง ซึ่งหลังจากจบกิจกรรมคุณครูหลายท่านก็แฮปปี้นะครับ เพราะมันเป็นเสียงสะท้อนที่บางครั้งนักเรียนไม่ได้พูดกับเราง่ายๆเหมือนกัน และเอาจริงๆมันก็เหมือนกับการ PLC กับนักเรียนกลายๆนั่นเอง ที่จะทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามมาหลายๆอย่างได้เลย"


ดูภาพกิจกรรมได้ที่ : https://bit.ly/3m8GvEY


"เราต้องการให้เด็กประหยัดเงินในการซื้อน้ำดื่มและลดปริมาณขยะขวดพลาสติก เลยเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กมีกระบอกน้ำของตนเอง เพราะเมื่อมีขวดน้ำประจำตัว นักเรียนจะรักษาขวดน้ำเสมือนเป็นสมบัติล้ำค่าของตนเอง แถมยังสะอาดปลอดภัย ไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น ที่สำคัญที่สุดคือครูไม่ต้องบอกหรือดุให้นักเรียนเก็บขวดน้ำ (ขยะพลาสติก) เป็นการส่งเสริมวินัยที่ไม่ต้องใช้อำนาจ

.

ดังนั้นเราจึงจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดและเย็นให้เพียงพอ มีมาตรฐานความสะอาด เพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ เติมน้ำใส่กระบอกน้ำเติมน้ำของตัวเองได้ ไม่ต้องซื้อใหม่ทุกขวดเมื่อดื่มหมด"


"มันเริ่มจากการเห็นครูปล่อยของครูปทุมธานีแล้วรู้สึกว่ามันคงจะดีถ้าในนนทบุรีจะมีพื้นที่แบบนี้บ้าง

.

พื้นที่ที่ว่า คือ "พื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครู" ในนนทบุรีที่จัดกันแบบง่าย ๆ ใครมีอะไรก็เอามาเล่าสู่กันฟัง แชร์กัน อารมณ์ง่าย ๆ เหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อน

.

แนวคิดหลักมาจากความรู้สึกว่าในทุกคาบของทุกห้องเรียน จะมีบางอย่างที่ทำให้ครูเรียนรู้เด็ก เด็กเรียนรู้ครู เกิดเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมันเป็นธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องยาก และการต่อยอดเองก็สำคัญไม่แพ้กับการเริ่มต้นเลย

.

สุดท้ายในโรงเรียนยังไม่ได้เห็นผลมากนัก เพราะเราทำกับกลุ่มข้างนอกเนอะ แต่ปีที่แล้ว (2563) มีโควิดเลยงดจัดไปก่อน ปีนี้ (2564) มีทีมมาร่วมคิดร่วมทำโดยมีประเด็นร่วมกันมากขึ้น คาดว่ากลางปีนี้น่าจะได้จัดกันแบบ onsite กัน"


ดูภาพกิจกรรมได้ที่ : https://bit.ly/3ua84kk


"เราเป็นครู เป็นนักการศึกษา ที่สนใจปัญหาเรื่องการศึกษา เป็นครูไฟแรงที่อยากทำอะไรแต่ตันกับระบบ แม้พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงห้องเรียนแล้ว ก็ยังเจอปัญหาหรือขีดจำกัดบางอย่างที่ทำให้เราไม่เต็มที่ พอได้มาเจอกับเพื่อนครูที่เหมือนๆกัน เราจึงมองเห็นว่า เราควรขับเคลื่อนอะไรที่อาจไกลกว่าตัวเอง ปัญหาเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่กดทับครูอยู่ ไม่ให้เราทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งระบบราชการ วัฒนธรรมอำนาจนิยม แนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้การศึกษาเป็นเหมือนสินค้า

.

เราจึงอยากเห็น "ระบบการศึกษาที่ทำให้ครูได้สอนและพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง” แนวคิดที่เป็นหัวใจของครูขอสอนคือ บางปัญหามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นวัฒนธรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นเราก็จะเห็นครูรุ่นใหม่ไฟแรงคนแล้วคนเล่าต่างมอดไหม้ ถูกกลืนกินไปกับระบบเดิม ครูทุกคนจะต้องตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของตนเอง ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยได้ พยายามยืนยันหลักการว่าการศึกษาปัจจุบันควรเป็นอย่างไร ครูควรมีบทบาทอย่างไร และช่วยกันสื่อสารให้สังคมเห็นปัญหาและมองเห็นเป้าหมายใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่ๆร่วมกัน ให้การศึกษาเป็นของคนทุกคน

.

จากการเคลื่อนไหว เท่าที่สังเกตเห็น เรารู้สึกว่าครูจำนวนมากเริ่มตื่นตัว เริ่มตั้งคำถามมากขึ้น เมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษา เราก็ออกมาสื่อสาร หรือชวนตั้งคำถามว่า ปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน พอเรากล้าที่จะออกมายืนหยัดทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควรเป็น ครูก็ตระหนักถึงพลังอำนาจของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น รวมไปถึงนักเรียนที่เขารับรู้ได้และมีความหวังที่เราแสดงจุดยืนให้เขารู้สึกได้ว่ามีครูที่ทำเพื่อเขา พร้อมอยู่เคียงข้างเขา เพื่ออนาคตการศึกษาที่ดีกว่า คนเริ่มมองเห็นปัญหาที่แท้จริงมากขึ้น และกล้าฝันถึงการศึกษาที่ควรจะเป็น"

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)