icon
giftClose
profile

พื้นที่ปลอดภัย

25822
ภาพประกอบไอเดีย พื้นที่ปลอดภัย

COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนได้รับผลกระทบและมีมุมมองต่อประสบการณ์ต่างกัน ผู้สอนจึงดึงมาเป็นโจทย์ ให้ผู้เรียนได้แสดงออก แต่เหนือกว่าการมอบหมายให้ทำ คือการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยที่จะรับฟังความคิดและความรู้สึก ให้เขาได้พูดสิ่งที่คิด อย่างอิสระ ห้องเรียนก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เพลินจนไม่อยากให้หมดเวลา

1 ปีการศึกษาที่ผ่านมา โควิด-19 อยู่กับเราในหลายๆช่วง

ทำให้ต้องสลับการเรียนที่รร.-ออนไลน์อยู่หลายครั้ง

ล่าสุดก่อนจะปิดเทอม มีโอกาสได้สอบและให้นักเรียนนำเสนอผลงานของตนเองในรูปแบบออนไลน์

การได้เป็นผู้ฟัง ผู้อำนวยความสะดวก ให้ผู้เรียนได้พูด ได้อธิบายสิ่งที่พวกเขาคิด ทำผ่านผลงานที่พวกเขาตั้งใจทำอย่างภาคภูมิใจ เป็นความสุขที่อธิบายได้ยาก


ก่อนจะมอบหมายงานให้ทำ เลยให้ภาพรวมกับนักเรียนไปว่า บางทีของหนึ่งสิ่ง เมื่อมองจากคนหลายคน มองจากความสนใจที่ต่างกัน ก็อาจจะเห็นความงดงามจากสิ่งๆนั้นต่างกัน ไม่ต่างกับงานทัศนศิลป์ที่ก็มีหลากหลายที่ไม่ใช่แค่การวาดภาพระบายสีเพียงเท่านั้น


เลยให้โจทย์ในการทำงานที่กว้างๆ บอกแค่ว่า....

“ให้สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ในรูปแบบใดก็ได้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสถานการณ์ COVID-19”

โจทย์ที่กว้าง ก็ทำให้เราต้องเจอกับคำถามมากมาย ...

“หนูจะทำอย่างนี้ได้มั้ย ผมอย่างโน้นได้มั้ย..?”

หลายคนรีๆรอๆไม่กล้าที่จะเริ่มต้นทำสักที..! เพราะคุ้นเคยกับการมีกรอบเทคนิค/ สี มากำหนด

แต่ก็มักตอบกลับไปว่า “เราต่างผ่านสถานการณ์นี้มาแล้วด้วยกัน คิดเห็นยังไงก็เล่า ถ่ายทอดมาตามที่คิดตามสิ่งที่ตัวเองถนัดแค่นั้นเลย...”


นักเรียนหลายคนเลือกที่จะวาด โดยผสมผสานความชอบและสไตล์ของพวกเขาลงไปในงาน

ตัวอย่างผลงาน ด.ญ.ณัฐนรี คูหะโรจนานนท์ : ที่ใช้ฝีมือในการวาดแบบไฟล์ดิจดตอล ด้วยความสามารถพิเศษแบบใช้นิ้วลากเส้นล้วนๆ ถ่ายทอดอารมณ์ของหมอที่พร้อมจะสู้กับเชื้อโควิดให้กระเด็นไปไกลๆ

ตัวอย่างผลงาน ด.ช.อิชยะ เทียนสว่าง ที่ใช้ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่สะสมจนวาดภาพถ่ายทอดผ่านท่าทางที่เต็มไปด้วยหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก

ตัวอย่างผลงาน ด.ช. โชติอนันต์ ประทีปสว่างวงศ์ ที่หยิบเอาประสบการณ์ตอนพบเห็นไอเดียตุ๊กตานั่งเป็นเพื่อนที่ญี่ปุ่น มาลองนั่งเป็นเพื่อนในยุคที่ชีวิตต้องเว้นระยะห่าง

ตัวอย่างผลงาน ด.ญ.วทันยาห์ จุธากรณ์ ที่เกิดจากแรงบันดาลใจผู้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในสถานการณ์นี้

ตัวอย่างผลงาน ด.ญ.นันท์นภัส เชี่ยวเชี่ยวนาวินธวัช ที่ได้แรงบันดาลใจจากข่าวธรรมชาติ ที่กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งจากสถานการณ์นี้

ตัวอย่างผลงานของ ด.ช.ชนาธิป มิ่งสุวรรณ ที่ใช้เทคนิคที่อยากทดลอง การรีด การวาดภาพลงบนเสื้อเพื่อต้องการสื่อให้กำลังใจผู้คน


เมื่อพวกเขาได้มีพื้นที่ ในการเล่าจากสิ่งที่เขาคิด ได้ลงมือทำเอง 

เล่าแล้วมีคนที่พร้อมรับฟัง และไม่มีอะไรผิดกับความคิดที่เขาจะแสดงออก

ปัญหาที่ครูเคยกังวลว่าผู้เรียนจะนำเสนอ อธิบายแนวคิดไม่ได้ นั้นจึงแทบไม่เกิดขึ้น


แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ผู้เรียนทุกคนที่จะทุ่มเทตั้งใจกับการทำงาน 

แต่ก็น่าแปลกใจ ที่เราให้พื้นที่และให้เกียรติกันมากพอ ทุกคนได้ร่วมกันฟังเพื่อนนำเสนอผลงานทีละคน

เราจึงพบว่า ผู้เรียนที่เคยให้ใจกับงานน้อย ก็จะมาขอทำงานส่งใหม่ ขอกลับไปพัฒนางานให้ดีขึ้นเอง โดยที่ครูไม่ได้คาดหวังหรือบอกให้ทำ แต่พวกเขากลับเต็มใจที่จะทำพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นหลังจากที่ได้เห็น ได้ เรียนรู้ร่วมกัน และเห็นมุมมองความคิดของเพื่อนร่วมชั้น


ผลงานชิ้นสุดท้ายนี้ จึงเป็น ผลของความเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนที่ทำให้เราได้มองเห็นอิสระ

ความเป็นตัวของตัวเอง การมีความรู้สึก การมีความรับรู้จากประสบการณ์ การรับฟังความคิดเห็น

มีความอยากเรียนรู้และอยากพัฒนาด้วยตนเอง จนที่ทำให้ยิ่งรู้สึก มั่นใจในตัวนักเรียนทุกคนว่า

ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์อะไร พวกเขาจะดูแลตนเองและก้าวผ่านสิ่งต่างๆที่จะต้องเจอไปได้…


#บันทึกครูโบว์


Cr. ภาพปก ผลงาน ด.ช. กิตติ์ธเนศ ลิมโพธิ์ทอง ที่อยากให้ความมุ้งมิ้งมาเตือนให้ใส่แมส!

และขอบคุณ ผลงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2

วิชาทัศนศิลป์ ปีการศึกษา2563 SATIT PIM ทุกคนที่ทำให้เราต่างเรียนรู้จากสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน



รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(4)