“ก. ถ้าไม่ใช่ไก่ เป็นอะไรได้บ้างน้า” แม่แม็กซ์ชวนลูกชาย ‘น้องบูดู’ เด็กบ้านเรียนอายุ 6 ขวบ 4 เดือน ตั้งคำถามระหว่างการเรียนรู้เรื่องพยัญชนะไทย ที่ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยการท่องจำว่า ‘กอ’ แล้วตามด้วย ‘ไก่’ แต่สามารถเป็นอะไรก็ได้ตามจินตนาการของลูก เช่น กอ ไก ชื่อเรียกพื้นถิ่นของสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่นิยมนำมารับประทาน ซึ่งพบมากในชุมชนที่น้องบูดูอาศัยอยู่ กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไม่เพียงทำให้น้องบูดูรู้จักพยัญชนะไทยแต่ยังได้ฝึกทักษะการสังเกต การตั้งคำถามรวมถึงการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัวผ่านผ่านสภาวะการเรียนรู้แบบอิสระ
หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้พยัญชนะไทยในวัน 5 ขวบเศษ
คุณแม่แม็กซ์ มาลี พัฒนประสิทธิ์พร อดีตบรรณาธิการนิตยสารรักลูก ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเป็นผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนให้ลูกชายวัย 6 ขวบ 4 เดือน น้องบูดู-เด็กชายบูมิบุตร ละมุล เจ้าของเพจ Homeschool BD Plearn & Learn แม่แม็กซ์มีหลักการที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้ลูกคือ “การเรียนรู้ต้องมีความสุข ความสุขเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์” จึงทำให้การทำความรู้จักพยัญชนะของน้องบูดูเป็นเรื่องสนุกและได้เรียนรู้ในรูปแบบที่ต่างออกไป
ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน บันไดสำคัญที่ไม่ควรข้ามขั้นของการเรียนรู้ภาษา
“ถ้าเด็กเขาพร้อมเรื่องอ่าน เขียนมันจะมาเอง และตอนนี้การเขียนสำหรับบูดูก็มาแล้ว และมาแบบที่เราไม่ต้องคะยั้นคะยอหรือจะไปหยุดเขาก็ไม่ได้” แม่แม็กกล่าวพร้อมหัวเราะ
เมื่อถามลงลึกถึงเทคนิคการจัดการเรียนรู้พยัญชนะรวมถึงการอ่านเขียนที่ใช้กับน้องบูดู แม่แม็กซ์เล่าถึงหลักการสำคัญของการเรียนรู้ภาษา ที่ต้องเริ่มต้นและพัฒนาไปเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การฟัง การพูด อ่านและเขียน โดยต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อหนังสือ แม่แม็กซ์จึงให้ความสำคัญกับความพร้อมและความสนใจของลูกมาก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยที่การอ่าน การเขียนยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรัด การอ่านให้ออก เขียนให้ได้จึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญสำหรับช่วงเวลานี้ของลูก โดยมีกระบวนการพัฒนาหลากหลายด้าน ดังนี้
แม่แม็กซ์จะอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ยังเล็กโดยใช้หนังสือนิทาน เช่น หนังสือภาพ หนังสือผ้า เป็นเครื่องมือในการสร้างจินตนาการและเสริมสร้างพัฒนาการของลูก ลูกจะได้รับการพัฒนาทั้งด้านสมอง ภาษา ฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่ ลูก ให้เกิดความผูกพันผ่านน้ำเสียงและความรู้สึกของเรื่องราวในนิทาน
เมื่อการอ่านนิทานให้ลูกฟังสามารถทำให้ลูกเกิดจินตนาการ เกิดความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องราวใหม่ๆ สำหรับแม่แม็กซ์รับบทเป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ลูก ผ่านการชวนคุย ชวนสังเกต ชวนตั้งคำถาม และหาคำตอบในสิ่งที่ลูกสนใจโดยใช้หนังสือเป็นสื่อ โดยเน้นการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ไม่ใช้การบังคับ เพราะถ้าบังคับลูกจะรู้สึกต่อต้านและไม่อยากทำสิ่งนั้นอีก จนอาจกลายเป็นทัศนคติลยต่อเรื่องนั้น ๆ ไปได้
เมื่อลูกรู้ว่าหนังสือคือคลังความรู้ที่มีคุณค่า สามารถให้คำตอบในสิ่งที่เขาสงสัยได้ ทำให้หนังสือกลายเป็นคลังความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอด โดยจัดมุมหนังสือให้ลูกตั้งแต่วัยขวบเศษ น้องบูดูสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ของตัวเองในการเปิดเล่น จนไปถึงการค้นคว้าได้ตลอดเวลา เช่น ช่วงที่สนใจไดโนเสาร์สามารถเปิดหนังสือเพื่อดูชื่อไดโนเสาร์ ลักษณะไดโนเสาร์ชนิดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างนิสัยการค้นคว้าและรักการอ่านให้น้องบูดูในเวลาเดียวกัน ขณะเดียวกันแม่แม็กซ์ก็เริ่มหาตัวอักษรต่างๆ ทั้งไทยและอังกฤษมาให้ลูกได้ทำความรู้จัก เบื้องต้นน้องบูดูไม่ค่อยสนใจเรียนรู้พยัญชนะไทยนักเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษที่มีจำนวนและรูปทรงที่ซับซ้อนน้อยกว่า มีสื่อและวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่า แม่แม็กซ์จึงพยายามคิดหากระบวนการเรียนรู้พยัญชนะไทยที่จะเชิญชวนให้ลูกสนใจและสนุกที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน
กระบวนการบ่มเพาะลูกด้านทักษะภาษาที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่แม่แม็กซ์ให้ความสำคัญ โดยภายในบ้านจะจัดพื้นที่ให้ลูกได้เล่นและเรียนรู้ไว้โดยเฉพาะ นอกจากมุมหนังสือแล้วยังมีมุมกิจกรรมอิสระที่มีอุปกรณ์ครบครัน ทั้งอุปกรณ์สำหรับงานศิลปะและงานประดิษฐ์ต่างๆ รวมถึงพื้นที่สำหรับการขีด เขี่ย วาดระบายหลากหลายรูปแบบ เช่น กระดานไวท์บอร์ดขนาดใหญ่ กระดาษเอสี่ กระดาษฟลิปชาร์ต สมุดบันทึก เพื่อให้ลูกมีอิสระในการสร้างสรรค์ ออกแบบ รวมไปถึงการขีดเขียนได้ทุกเมื่อที่ลูกพร้อมและต้องการ
เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มสนใจการขีดเขียนตัวหนังสือ วิธีการหัดเขียนพยัญชนะไทยในรูปแบบของแม่แม็กซ์คือ การหลีกเลี่ยงแบบฝึกเขียนตามเส้นประและฝึกการคัดคำซ้ำๆ เพราะจากประสบการณ์การทำงานที่ได้พูดคุยกับนักการศึกษาทำให้แม่แม็กซ์รู้ว่า “การให้เด็กหัดเขียนไม่จำเป็นต้องใช้สมุดหัดเขียน ก-ฮ แบบลากตามเส้นประ เพราะเป็นการจำกัดจินตนาการและอิสระการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งการให้เด็กมานั่งเขียนอะไรซ้ำ ๆ มันเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้”
น้องบูดูมีความสนใจทางด้าน การสำรวจผีเสื้อและดวงดาว ซี่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการอยากเขียน แม่แม็กซ์ใช้กระบวนการชวนลูกสำรวจผีเสื้อภายในโฮงเฮียนแม่น้ำของ จากนั้นให้จินตนาการภาพพื้นที่โฮงเฮียนเมื่อมองจากท้องฟ้าลงมา เพื่อวาดเป็นผังพื้นที่ แล้วให้น้องบูดูทบทวนว่าพบผีเสื้อชนิดใดที่จุดใด โดยนำภาพผีเสื้อติดลงบนจุดนั้นของผังพื้นที่โฮงเฮียน แล้วเขียนชื่อผีเสื้อกำกับโดยการเขียนตามแบบ ผลคือน้องบูดูกระตือรือร้นในการหัดเขียน และเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมฝึกเขียนด้วยตัวเองอีกหลากหลายวิธี สิ่งที่ตามมาคือพัฒนาการของทักษะการอ่านที่เดินหน้ามาควบคู่กับการเขียน รวมถึงสนุกและสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภาษาไทย สามารถอ่านและเขียนได้เมื่อวัย 6 ขวบ และปัจจุบันสามารถเขียนบันทึกประจำวันเองได้แม้จะไม่ได้ทำต่อเนื่องทุกวัน แต่งและเขียนเรื่องเล่าที่ประกอบด้วยภาพวาดและคำบรรยายได้
เรื่องและภาพที่ถูกขีดเขียนและแต่งขึ้นโดยน้องบูดู วัย 6 ขวบ 4 เดือน
เทคนิคการเรียนรู้พยัญชนะไทยแบบบ้านเรียน BD Plearn & Learn
“พยัญชนะไทยมันมีเยอะก็จริง แต่มันมีความคล้ายกันนะ จับกลุ่มพยัญชนะดูสิ” แม่แม็กซ์บอกเมื่อถูกถามถึงกระบวนการดึงความสนใจลูกสู่พยัญชนะไทย
การจับกลุ่มพยัญชนะเป็นการดูรูปลักษณ์ของตัวอักษรเป็นหลัก แล้วนำจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกัน เช่น กลุ่ม ก ภ ถ ณ ฌ ญ กลุ่ม ข ฃ ช ซ กลุ่ม ล ส เป็นต้น ทำให้ผู้เรียนสังเกตพยัญชนะที่เขียนคล้ายกัน ว่าเกิดจากการผสมพยัญชนะไหนร่วมกันบ้าง เช่น ถ.ถุง คือ ก.ไก่เก็บเหรียญ ณ.เณร คือ ถ.ถุงผสมกับน.หนู ฌ.เฌอ คือ ถ.ถุงผสมกับม.ม้า ฃ คือ ข.ไข่หัวแตก ช.ช้าง คือ ข.ไข่มีหาง เป็นต้น จะสังเกตเห็นว่าการเรียนพยัญชนะไทยไม่ได้เริ่มต้นจากการใช้ความจำ แต่จะเน้นการใช้ภาพเชื่อมโยงกับจินตนาการให้เกิดความเข้าใจแต่ละตัวอักษร ซึ่งแม่แม็กซ์ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเด็กวัยนี้เรียนรู้ได้ดีผ่านการมองเห็นและสัมผัส ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้พยัญชนะจึงไม่หยุดอยู่แค่รูปร่างหน้าตาของตัวอักษร
กระบวนการเรียนรู้พยัญชนะไทยที่ไม่ได้อยู่แค่กระดาษเพียงอย่างเดียว
เมื่อมองดูสิ่งของรอบตัว มีอะไรบ้างที่จะนำมาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้พยัญชนะได้ แม่แม็กซ์นำสาหร่ายน้ำจืดในแม่น้ำโขง ที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า “ไก” มาเป็นสื่อการเรียนรู้ “ตัว ก.” ในรูปแบบอื่นนอกเหนือจาก “ไก่” ทำให้น้องบูดูไม่ได้รู้จักแค่อักษร ก. แต่ได้รู้จัก “ไก” อาหารท้องถิ่นสำคัญของคนลุ่มน้ำโขงที่เชียงของ ผ่านการเห็น สัมผัส ดมและชิมเมนูต่างๆที่ทำจากไก สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้องบูดูจึงรู้จักและจำพยัญชนะไทยทั้ง 44 ตัวได้โดยไม่ใช้การท่อง ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก แต่เรียนรู้ผ่านสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว
การเรียนรู้พยัญชนะ ก. แบบลึกซึ้งและจับต้องได้จริงจากไก
การเรียนรู้มีเป้าหมายสุดท้ายที่อยากให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ สำหรับการเรียนรู้ทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ของแม่แม็กซ์ มีหัวใจหลักของกระบวนการพัฒนาที่สำคัญที่สุด คือการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและออกแบบกระบวนการที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียนและผู้จัดการเรียนรู้ การสร้างการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจมากกว่าการจดจำ เพื่อให้เกิดประโยชน์และยั่งยืนที่สุด
ขอขอบคุณภาพจากเพจ Homeschool BD Plearn & Learn
ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวโดย คุณแม่แม็กซ์-มาลี พัฒนประสิทธิ์พร
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย