“ความภูมิใจจากการได้มาเป็นครูคือ เราสามารถพัฒนาให้นักเรียนมีอนาคตที่ดีขึ้น ทำให้เขาเรียนจบ ทำให้เขาอ่านหนังสือได้เก่งขึ้น และในทางกลับกันพวกเขาเองก็เป็นแรงผลักดันให้ครูเดือนก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยให้ลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ” ครูเดือนกล่าวถึงความประทับใจครั้งหนึ่งของการมาเป็นครูอาสา
จากนักศึกษาชั้นปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา เมื่อได้เห็นการประชาสัมพันธ์โครงการ Teach For Thailand ผ่านงาน Job fair ซึ่งเป็นโอกาสหนึ่งในการทำงานเพื่อสังคม ในที่สุดจึงได้เกิดครูเดือน-ธิติมา เรืองทองดี ครู Teach For Thailand รุ่นที่ 4 สอนวิชาวิทยาศาสตร์ประจำชั้นมัธยมศึกษาที่ 1 ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ครูเดือนเป็นครูที่ไม่ดุ ไม่ตีนักเรียน แต่จะใช้หลักทางจิตวิทยาในการสื่อสารกับนักเรียน สร้างความเข้าใจและกฏกติกาในการอยู่ร่วมกัน ครูเดือนเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นและความพยายามในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาของการเป็นครูอาสา
การฟังเนื้อหานาน ๆ มันน่าเบื่อ เรามาลองหาอะไรเล่นกันเถอะ...
ไอเดียนี้มีจุดเริ่มต้นจากการสังเกตลักษณะการเรียนรู้ของนักเรียน ที่พบว่าการแบ่งห้องเรียนตามระดับการเรียนหรือเกรด ทำให้เห็นความแตกต่างการเรียนรู้ของนักเรียน กลุ่มเด็กที่ถนัดวิชาการจะสามารถนั่งฟังการบรรยายเนื้อหาตลอดทั้งคาบเรียนได้มากกว่าการทำกิจกรรมเรียนรู้ที่จะต้องเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งตรงข้ามกับนักเรียนอีกกลุ่มที่ถนัดการเรียนรู้แบบ Active learning ซึ่งพอเด็กกลุ่มนี้ได้ฟังเนื้อหาเชิงวิชาการมักจะไม่ค่อยโฟกัสในสิ่งที่ครูพูด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของครูเดือนที่ตั้งใจออกแบบวิชาวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วม ตื่นเต้น และใช้ทรัพยากรในห้องเรียนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
กระบวนการ
เมื่อครูเดือนเห็นความแตกต่างของการเรียนรู้นักเรียนแต่ละกลุ่ม จึงได้ออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับนักเรียนที่ชอบการใช้ฐานกายมากกว่าการใช้ฐานคิด ครูเดือนจึงออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้เรียน ดังเช่นเนื้อหาเรื่องเซลล์ของวิชาวิทยาศาสตร์ ม.1 ผ่าน “กิจกรรมนักสืบเซลล์”
1. ติดภาพส่วนประกอบของเซลล์ตามมุมห้อง ขั้นตอนนี้สามารถเชิญชวนนักเรียนให้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์ห้องเรียนตามแบบที่พวกเขาต้องการได้ว่าอยากจัดใส่มุมไหน ส่วนไหนของห้องเรียน
2. แจกกระดาษนักเรียนคนละ 1 แผ่น สามารถทำเดี่ยวหรือกลุ่มก็ได้
3. ให้โจทย์กับนักเรียนในการไปสืบหาเซลล์ที่มีในห้องเรียน
4. ให้เวลานักเรียนไปค้นหาองค์ประกอบของเซลล์ตามโจทย์ที่ให้ไป
5. สรุปสิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมทั้งในส่วนของเนื้อหาและการทำกิจกรรมในห้องเรียน
นอกจากกิจกรรมนักสืบเซลล์แล้ว ครูเดือนยังออกแบบกิจกรรมนอกห้องเรียน โดนให้นักเรียนได้สำรวจธรรมชาติ เช่น การสำรวจก้อนเมฒ ต้นไม้ พืชในบริเวณโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าการเรียนไม่น่าเบื่อ และเห็นความเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์กับธรรมชาติ ซึ่งแท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา
เรียน ๆ เล่น ๆ ก็เกิดผลดีนะ
หลังจากที่ครูเดือนออกแบบกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ทั้งความสนุกและเนื้อหาสาระไปพร้อมกันนั้นสามารถดึงความสนใจของนักเรียนให้มีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนในรูปแบบ Active learning พบว่านักเรียนมีความกระตือรือร้นและให้ความสำคัญต่อการส่งงานได้ถึงร้อยละ 90 จากแต่เดิมนักเรียนส่งงานไม่ถึงร้อยละ 50 นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขาได้ใช้ศักยภาพที่เหมาะสมตัวเองในการทำกิจกรรม นักเรียนกลุ่มนี้ถนัดการใช้ร่างกาย การลงมือปฏิบัติ ส่งผลให้การตอบสนองต่อครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี
ข้อเสนอแนะจากครูเดือน
1. การทำกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน การเคลื่อนไหวร่างกาย อาจเกิดเสียงดังรบกวนห้องอื่น ครูจะต้องตั้งกฏร่วมกับนักเรียนหรือให้นักเรียนตั้งกฏก่อนที่จะเริ่มกิจกรรม
2. การแจกกระดาษเปล่าแล้วให้นักเรียนขีดเขียนด้วยตัวเอง อาจทำให้ได้ผลงานที่มีหน้าตาหลากหลาย เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการตรวจงานครูควรสร้างแบบฟอร์มหรือเอกสารสำเร็จไปให้นักเรียนเลย
ขอขอบคุณเจ้าของไอเดียและรูปจากจาก ครูเดือน-ธิติมา เรืองทองดี ครูTeach for Thailand รุ่นที่ 4
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!