icon
giftClose
profile

ตัวตนที่ไหลออกมาจากปลายปากกา ในพื้นที่ปลอดภัย

50294
ภาพประกอบไอเดีย ตัวตนที่ไหลออกมาจากปลายปากกา ในพื้นที่ปลอดภัย

ในช่วงแรก ๆ ของการทำให้ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย การส่งเสียงผ่านตัวอักษรในหน้ากระดาษ อาจให้ความรู้สึกปลอดภัยกว่าการส่งเสียงออกมาจริง ๆ ถ้านักเรียน "เชื่อ" ว่าเราจะให้เกียรติเรื่องราวของพวกเขา

เมื่อคุณมองเห็นนักเรียน

คุณมองเห็นอะไรบ้าง

.

และมีอะไรอีกบ้างที่คุณยังมองไม่เห็น

.

มีโลกอีกกี่ใบในแววตาคู่นั้น

และเสียงแห่งความรู้สึกอีกกี่ playlist

ที่รอให้ใครสักคน

.

ใครสักคนที่จะไม่ตัดสิน

หรือเอาชุดความดีสำเร็จรูปไปครอบ

และเบือนหน้าหนีเหตุที่มาของเสียงเหล่านั้น

.

ผมรู้สึกว่ามันยากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะออกแบบการเรียนรู้

หรือกระบวนการใด ๆ ให้กับคนที่เรายังไม่รู้จัก และผมรู้สึกว่าการตัดสินไปแล้ว

ว่าเรา "รู้จัก" ใครสักคนโดยที่ยังไม่ได้มีโอกาสได้ "รับฟัง" คน ๆ นั้นจริง ๆ

เป็นสิ่งที่น่ากลัว

.

เพราะแม้ว่าเราจะมีสมุดพก ใบบันทึกพฤติกรรม ภาพถ่าย หรือแม้แต่คลิปวีดีโอ

แต่มนุษย์ (เช่นเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ) ก็มีการเปลี่ยนแปลงและเติบโต

อยู่ตลอดเวลา ทำให้การรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่

ไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่าอยากมองเห็นเพื่อนมนุษย์ที่หายใจอยู่ข้างหน้าเรา

.

.

.

Free Writing หรือ "การเขียนโดยอิสระ" เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักเรียนจะสามารถ

ส่งเสียงสิ่งที่พวกเขารู้สึก คิด เชื่อ หรือไม่เชื่อ ออกมาผ่านการร้อยเรียงกันของตัวอักษร

โดยมีผืนกระดาษ และตัวพวกเขาเองเป็นผู้รับฟังเสียงนั้นในเบื้องต้น

ก่อนที่กระดาษและถ้อยคำเหล่านั้นจะถูกส่งต่อให้กับคุณครู

.

ความละเอียดอ่อนของการชวนนักเรียนทำ Free Writing มีดังต่อไปนี้


1) การแสดงความเคารพต่อเรื่องราวของนักเรียน ผ่านการการรักษาความลับในเรี่องราวเหล่านั้น

บางครั้งเมื่อนักเรียนรู้สึกปลอดภัยมาก ๆ พวกเขาอาจเลือกที่จะสื่อสารเรื่องราวที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ

ที่นอกจากเรา ซึ่งเป็นครูที่พานักเรียนทำกิจกรรมดังกล่าว พวกเขาอาจยังไม่พร้อมที่จะแชร์กับคนอื่น

ดังนั้น แม้ว่าเราจะมีเจตนาที่ดี แต่ก็ควรจะเก็บเรื่องราวของนักเรียนไว้เป็นความลับ

(เว้นแต่นักเรียนจะให้ความยินยอมว่าสามารถนำไปเล่า หรือแชร์ต่อได้)


2) การละวางซึ่งการตัดสินถูกผิด รวมถึงการพยายามเกรดชิ้นงานดังกล่าว

เป้าหมายของ Free Writing คือการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้สามารถถ่ายเรื่องราวของพวกเขาออกมา

ไม่ใช่การฝึกทักษะด้านการเขียน ดังนั้นเราจึงไม่ควรตรวจถูกผิด หรือให้คะแนนชิ้นงานดังกล่าว

และชิ้นงานดังกล่าวเป็นงานเพื่อตัวนักเรียนเอง มากกว่าเป็นการเพื่อคุณครูผู้สั่ง

ดังนั้นถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่เข้าใจ หรืออยากเข้าใจมากขึ้น สิ่งที่สามารถทำได้

คือการเข้าไปชวนนักเรียนพูดคุย และรับฟังเสียงของนักเรียนอีกครั้ง และอีกครั้ง

.

.

.

การชวนทำ Free Writing มีความหลากหลาย

และขึ้นอยู่กับเวลาที่คุณครูแต่ละคนมี โดยหนึ่งในวิธีที่เรียบง่ายที่สุดอาจะเป็นคอมโบ 3 คำถาม

ซึ่งคุณครูทุกคนสามารถทำได้ ดังนี้

.

.

ขั้นเตรียมการ

1) เตรียมกระดาษ A4 ใหม่ (ไม่แนะนำกระดาษ reuse เพราะสิ่งที่อยู่ในอีกหน้าหนึ่ง

ของกระดาษอาจจะรบกวนการลื่นไหลขณะที่เขียนของนักเรียนได้) ไว้ "มากกว่า" จำนวน

ของนักเรียน เผื่อมีนักเรียนขอกระดาษใหม่ระหว่างทาง


2) เช็คก่อนเริ่มว่านักเรียนทุกคนมีเครื่องเขียน ซึ่งถ้าเป็นเครื่องเขียนหัวเล็กสามารถ

ใช้ได้ทุกประเภทเลย ดินสอ ปากกา สีไม้ ได้หมด ขอให้นักเรียนรู้สึกโอเคที่จะเขียน

ด้วยอุปกรณ์นั้น


3) สร้างข้อตกลงเรื่องการเคารพพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน เพราะโดยธรรมชาตินักเรียน

จะมีความอยากรู้อยากเห็นที่จะพาให้พวกเขาชะโงก หรือเดินเข้าไปเพื่อโน้มตัวลงดู

กระดาษของเพื่อน ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการรบกวนเพื่อนที่กำลังเขียนได้


ขั้นดำเนินการ

1) ให้นักเรียนนำเครื่องเขียนที่จะใช้ขึ้นมาถือไว้ และแจกกระดาษให้กับทุกคน

2) ให้นักเรียนหาพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ให้ห่างจากเพื่อนคนที่อยู่ใกล้ที่สุดอย่างน้อย

1 ช่วงแขน (ถ้าพื้นที่ไม่พอ สามารถแก้ปัญหาโดยการให้หันหลังเข้าหากันได้)


3) อธิบายเรื่อง Free Writing ว่า "จากนี้ไปอยากให้ทุกคนลองเขียน โดยครูจะมีคำตั้งต้นให้

หลังจากนั้นไม่ว่าจะมีคำว่าอะไร หรือความรู้สึกแบบไหนที่เกิดขึ้น ขอให้เขียนทุกอย่างลงไป

ในกระดาษที่อยู่ตรงหน้าเรา ไม่ต้องกังวลเรื่องการสะกด ไม่ต้องห่วงว่าครูจะอ่านรู้เรื่องไหม

อยากให้เป็นการเขียนที่เราทำเพื่อสื่อสารแค่กับตัวเองก็พอ"


4) ให้คำตั้งต้น โดยพยายามเรียงลำดับ เบา ไปหาหนัก และกลับมาที่เบา ยกตัวอย่างเช่น

  • เราชื่อ...เราชอบ...

(เว้น 4 นาที เพื่อให้นักเรียนเขียน)

  • สำหรับเราแล้ว "ความรัก" คือ...

(เว้น 3 นาที เพื่อให้นักเรียนเขียน)

  • เมื่อพูดถึง "ครอบครัว" เรารู้สึก...

(เว้น 4 นาที เพื่อให้นักเรียนเขียน)

  • ของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับเราคือ...

(เว้น ...เท่าที่เวลามีอยู่... เพื่อให้นักเรียนเขียน


ความหนักเบาของแต่ละคำถามอาจจะขึ้นอยู่กับบริบทของนักเรียน เช่นประเด็นเรื่อง "ครอบครัว"

อาจกลายเป็นประเด็นที่หนักมาก สำหรับนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสที่ส่วนมากอาจไม่ได้

อาศัยอยู่กับพ่อแม่ รวมถึงอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่บ้าน


5) สุดท้าย นำข้อความจากนักเรียนมาอ่าน เพื่อ "ทำความเข้าใจ" โลกจากมุมมองของนักเรียน

โดยชะลอไว้ซึ่งการตัดสิน และความรู้สึกอยากสั่งสอน หรือแนะนำที่อาจเกิดขึ้น

และเปลี่ยนให้ตัวเองกลายเป็นคนที่ได้เรียนรู้จากนักเรียน เพื่อให้เราสามารถออกแบบการเรียนรู้

และการเดินทางที่เหมาะกับนักเรียนของเรา ร่วมกับผู้คนในชีวิตของพวกเขาได้อย่างมีความหมาย

มากขึ้น ต่อไป

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(32)
เก็บไว้อ่าน
(13)