icon
giftClose
profile

ห้องเรียนที่สนุก และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

9904
ภาพประกอบไอเดีย ห้องเรียนที่สนุก และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การสอนของครูใหม่ และการออกแบบห้องเรียนที่จะทำให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม และความสนุก


“ถ้าครูสามารถทำให้นักเรียนสนุกได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถึงแม้นักเรียนยังไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม” 
- ครูใหม่


หนึ่งในความท้าทายที่ครูใหม่เจอตอนเป็นคุณครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ คือการที่นักเรียนไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ซึ่งปัญหานี้เปรียบเสมือนเงื่อนที่มัดซ้อนกันมาหลายๆปม จนปัจจุบันนั้นยากที่จะแก้ (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไม่ได้)


ทำห้องเรียนให้สนุก 

ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนเกิดจากความไม่เข้าใจสะสมมาตั้งแต่เริ่มต้น เปรียบเหมือนเงื่อนที่ผูกทับกับมาเรื่อยๆ จะแก้ปัญหานี้ก็ต้องค่อยๆคลายเงื่อนออกทีละปมๆ เมื่อเงื่อนของเด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน การจัดการในหนึ่งห้องเรียนต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่อย่างนั้นนักเรียนที่พื้นฐานไม่ดี ก็จะรู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือถ้าสอนง่ายเกินไป นักเรียนที่รู้อยู่แล้วก็จะรู้สึกว่าไม่ได้อะไรเลย

ครูใหม่เชื่อว่าถ้าครูทำให้นักเรียนสนุกได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้นักเรียนเริ่มมาสนใจการเรียนมากขึ้น ถึงแม้ว่านักเรียนจะยังไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไมก็ตาม


ห้องเรียนที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ครูใหม่พยายามออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม และให้เหมาะสมกับศักยภาพที่ทุกคนมี ที่นอกเหนือจากความสนุกที่จะได้รับแล้ว ยังได้ฝึกทักษะทั้ง 4 ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) 

ขั้นที่ 1 ปูพื้นฐาน 

สมมติครูใหม่จะสอนเรื่อง “เสื้อผ้า” ครูใหม่จะเริ่มสอนจากคำศัพท์ก่อน ตั้งแต่การสะกด การออกเสียง รวมทั้งความหมายของแต่ละคำ

ขั้นที่ 2 กิจกรรม (ฝึกการฟังและอ่านออกเสียง) 

ขั้นนี้จะเป็นกิจกรรมกลุ่ม (ประมาณ 4-5 คน/กลุ่ม คละกัน) โดยครูใหม่จะนำ flash card ที่มีทั้งรูปและคำศัพท์หลายๆคำเกี่ยวกับเสื้อผ้าวางไว้กลางห้อง และจะพูดคำศัพท์นั้นให้นักเรียนฟัง นักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องส่งตัวแทนออกไปหาคำศัพท์ที่ครูพูด กลุ่มละ 1 คน (ฝึกทักษะการฟัง) เมื่อหยิบคำศัพท์มาแล้วต้องอ่านออกเสียงให้ถูก (ฝึกการอ่านออกเสียง) ซึ่งตรงนี้ ครูสามารถใส่เงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมได้ เช่น ครูออกแบบให้มีทั้งความยากและง่ายสลับกัน (เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้ร่วมเล่น) ห้ามนักเรียนออกซ้ำ ให้นักเรียนช่วยเพื่อนได้ เป็นต้น เล่นแบบนี้ไปจนครบทุกคำ 

ขั้นที่ 3 นำไปใช้ (ฝึกการอ่านและเขียน)

เมื่อนักเรียนสามารถออกเสียงและรู้ความหมายของแต่ละคำศัพท์แล้ว ต่อไปก็เป็นการฝึกพูด โดยครูใหม่จะให้ตัวอย่างประโยคเพื่อให้นักเรียนเลือกคำมาเติมในช่องว่าง เช่น “I am wearing a _______” ( ให้นักเรียนเลือกคำมาเติม เช่น shirt, scarf, hat, pants etc. เป็นต้น) อาจจะจับคู่พูด หรือฝึกพูดเป็นกลุ่มก็ได้ เมื่อพูดได้แล้วต่อไปก็มาถึงการเขียน ครูใหม่จะให้นักเรียนเขียนประโยคที่พูดลงในสมุด นอกจากนักเรียนจะได้ฝึกทักษะการเขียนแล้ว ครูยังสามารถเก็บที่นักเรียนเขียนเป็นหลักฐานการเรียนรู้ได้อีกด้วย 


แก้ปัญหา ‘เรียนไปทำไม’ ผ่าน Reflection และ Feedback

3 คำถามหลักที่ครูใหม่ถามนักเรียนหลังการเรียนในแต่ละคาบ คือ I like (นักเรียนชอบอะไร), I wish (นักเรียนอยากปรับปรุง/พัฒนาอะไร), I learn (นักเรียนได้เรียนรู้อะไร) + next step (สิ่งที่จะทำต่อไป) ซึ่งเมื่อนักเรียนได้สะท้อนตัวเองบ่อยๆจะทำให้นักเรียนได้อยู่กับตัวเองและได้ใคร่ครวญถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการมากขึ้น นอกจากนี้การให้ Feedback จากครูผู้สอนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยครูใหม่จะเน้นการให้ feedback ที่เป็นแบบ positive feedback (การให้ข้อเสนอแนะเชิงบวก) ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนโฟกัสในจุดแข็งของตัวเองและพัฒนาจุดนั้นให้โดดเด่นขึ้น


ถึงแม้ว่าการศึกษาไทยยังต้องมีอีกหลายก้าวที่จะต้องฝ่าฝันกว่าจะไปถึงจุดที่เราทุกคนอยากให้เป็น แต่ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าครูทุกท่านไม่ทอดทิ้งนักเรียนเหมือนที่ครูใหม่ทำ นักเรียนก็จะไม่ทอดทิ้งการเรียนเช่นกัน 


ขอบคุณเรื่องราวจาก คุณครูใหม่ Teach for Thailand รุ่น 2 

เขียนโดย นพมาศ คำแสน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)