icon
giftClose
profile

"ฝึก" ไว้ก่อนจะ "ไฝว้" ในโลกออนไลน์

16201
ภาพประกอบไอเดีย "ฝึก" ไว้ก่อนจะ "ไฝว้" ในโลกออนไลน์

เราจะวิ่งหนีการโต้แย้ง หรือ ฝึกการโต้แย้งอย่างมีคุณภาพด้วย Critical Thinking

เมื่อการโต้แย้งเกิดผ่านหน้าจอ “คอมเมนท์ ไลค์ รี แชร์ แฮชแท็ก” เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการแสดงออกในโลกออนไลน์ของเราเหล่านี้ผ่านกระบวนการไตร่ตรองมาอย่างดี พิจารณาเหตุผลอย่างรอบด้าน และไม่ได้เป็นการเผยแพร่ hate speech ดังนั้นทักษะ critical thinking จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กในยุคนี้ที่รับข้อมูลข่าวสารผ่านโลก social ครูเพชรจึงติดอาวุธให้นักเรียนด้วยกิจกรรม “ฝึก” การโต้แย้ง ก่อนที่จะตัดสินใจไป “ไฝว้” ในโลกออนไลน์


เช็คก่อนไฝว้ นี่มัน Fact หรือ Opinion?

การโต้แย้งในโลกออนไลน์แน่นอนว่าต่างมีฝ่ายที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ต่อประเด็นประเด็นหนึ่ง มีความคิดเห็นมากมายหลั่งไหลมาสู่โสตประสาทการรับรู้ของเรา ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมฝึกการโต้แย้งจึงจำเป็นต้องให้นักเรียนสร้างความตระหนักรู้ในตนเองว่าเรารับข่าวสารต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณ หรือ แค่ใช้อารมณ์ร่วม โดยสอนให้นักเรียนแยก ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น ออกจากกันให้ได้ก่อน รวมไปถึงการหาแหล่งข้อมูลเพื่อนำมาสนับสนุนข้อมูลที่ได้รับรู้ 


เราเป็นใครในการไฝว้ และ ฝึกอะไรได้บ้าง? 

ในกระบวนการครูกำหนดประเด็นที่เป็นกระแสอยู่ในสังคมสำหรับการโต้แย้ง เช่น เรื่องระเบียบทรงผม โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มและจับฉลากเพื่อเลือกเป็นฝ่ายเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย รวมทั้งจับคู่ว่ากลุ่มไหนจะได้ battle กัน ก่อนจะเป้ายิงฉุบตัดสินว่าฝ่ายใดจะได้เปิดประเด็นก่อน อีกฝ่ายสามารถยกป้ายขอโต้แย้งได้หากรู้สึกไม่เห็นด้วยระหว่างที่อีกฝ่ายพูด หากรู้สึกว่าเพื่อนโดนรุมก็สามารถยกป้ายขอพูดแทนได้อีกด้วย นักเรียนกลุ่มที่เหลือทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ และโหวตว่าให้ฝ่ายใดชนะ (สามารถอ่านกติกาโดยละเอียดใน link นี้)


ฝ่ายเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และผู้สังเกตการณ์ คือภาพสะท้อนภาพการเสพข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย บางครั้งเราเป็นผู้ที่คอมเม้นท์แสดงความคิดเห็น และบางครั้งเราก็เป็นผู้ตัดสินความคิดเห็นเหล่านั้นแค่ปลายนิ้วจิ้ม ไลค์ หรือ แชร์ ประเด็นสำคัญ คือ นักเรียนได้ใช้ critical thinking ในบทบาทที่ได้รับหรือไม่


ฝ่ายเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย: ทำให้เรามองเห็นกระบวนการการหาข้อมูลของนักเรียน ที่พยายามจะสนับสนุนฝ่ายของตนเอง ถึงแม้ว่าจะจับฉลากแล้วได้ฝ่ายที่ไม่ตรงใจตัวเองก็ตาม อย่างเรื่องระเบียบทรงผมบางกลุ่มถึงกับไปศึกษาระเบียบทรงผมล่าสุด ไปจนถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อนำมาใช้อ้างอิงกันเลยทีเดียว อีกทั้งการยกป้ายขอโต้แย้ง หรือ การขอพูดแทน ยังสะท้อนการโต้แย้งแบบเรียลไทม์ในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นการฝึกการโต้แย้ง วัดว่านักเรียนสามารถรับมือต่อสิ่งเหล่านี้ด้วยข้อเท็จจริง รับฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงอารมณ์


ผู้สังเกตการณ์: ทำให้เรามองเห็นการตัดสินโดยใช้ทักษะการแยกข้อเท็จจริง ออกจากข้อคิดเห็น พิจารณาน้ำหนักของข้อมูลที่ได้รับฟัง ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเลือกฝ่ายที่ชนะ


ไฝว้เสร็จแล้วต้อง “ฟีดแบค” 

ขั้นสุดท้ายครูให้นักเรียนมาช่วยกันสรุปความรู้ในประเด็นโต้แย้ง และช่วยกัน “ฟีดแบค” แต่ละกลุ่ม สรุปให้เห็นข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของแต่ละหัวข้อ อีกทั้งให้นักเรียนศึกษา Fake news และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ว่าการกระทำของเราในโลกออนไลน์มีผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง


หลาย ๆ ครั้งเรามองภาพการโต้แย้งเป็นสิ่งที่แสนจะวุ่นวาย เราชอบที่กิจกรรมนี้ไม่พาเราวิ่งหนีมัน แต่สร้างการโต้แย้งที่มีคุณภาพขึ้นมา เพราะในความเป็นจริงทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราคงจะห้ามการโต้แย้งไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถฝึกการ “ไฝว้” บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เปิดกว้างในการรับฟังอีกฝ่ายถึงแม้จะไม่เห็นด้วย อาจทำให้เราได้แง่คิด มองเห็นมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิม และสร้างสังคมที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแท้จริงมากกว่าการสาดคำพูดที่ไม่ดีใส่กัน 


เจ้าของไอเดีย: ครูเพชร พชร  

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(5)