icon
giftClose
profile

ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยใช้โครงงานเป็นฐาน

60494
ภาพประกอบไอเดีย ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยใช้โครงงานเป็นฐาน

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยใช้โครงงานเป็นฐานร่วมกับการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน รายวิชาประวัติศาสตร์ ม.3

การสอนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าเราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่อสำนึก และทราบซึ้งในความเป็นชาติดังที่เขาสร้างกับดักไว้ แต่ประวัติศาสตร์ให้อะไรได้มากกว่าที่คิด หากเราเลือกใช้วิธีการสอนที่สอดคล้อง และเหมาะสม


รายวิชาประวัติศาสตร์ ม.3 กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยใช้โครงงานเป็นฐานร่วมกับการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน

ขั้นที่ 1 ขั้นกระตุ้นความสนใจ

เป็นการสร้างสิ่งซึ่งเร้าให้นักเรียนเกิดความสนใจ โดยควรเริ่มจากการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเด็กไม่ค่อยอินกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จึงเริ่มด้วยการใช้คำถาม เนื่องจากหลายปีก่อนในหมู่บ้านพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ จึงให้เด็ก ๆ ที่พอทราบเหตุการณ์เล่าให้ฟัง เพื่อนเริ่มเสริม เติม แต่งเหตุการณ์ กระทั่งเกิดความสนใจที่มากพอจึงโยงเข้าสู่การศึกษาความเป็นท้องถิ่น

ภาพข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ จาก facebook.com/permalink.php?story_fbid=1804865023163675&id=1506300256353488


ขั้นที่ 2 ขั้นกำหนดปัญหา

เป็นการเลือกกำหนดปัญหาที่จะศึกษา ซึ่งต้องเริ่มจากความสนใจของนักเรียน แต่เอาเข้าจริงครูก็ต้องตะล่อมเยอะเหมือนกันกว่าจะได้เป็นปัญหาที่สงสัยร่วมกัน นำมาซึ่งชื่อโครงการการจัดกิจกรรมประกอบการเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ เรื่อง “ประวัติ ความเป็นมาของบ้านธาตุ ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ”

กำหนดวัตถุประสงค์คือ

  1. เพื่อศึกษาประวัติ ความเป็นมาของบ้านธาตุ ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
  2. เพื่อศึกษาที่มาของชื่อบ้านธาตุ ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
  3. เพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุ ในวัดธาตุวนาราม


ขั้นที่ 3 ขั้นวางแผน

เป็นขั้นที่ครูให้นักเรียนร่วมกันเขียนโครงร่างของโครงงาน โดยผู้สอนใช้การสนทนาประกอบแสดงขั้นตอนของโครงงาน โดยเริ่มจากการร่วมกันเขียน และแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงาน (ครูแทบจะต้องดำเนินการเอง/กระตุ้นอย่างหนักหน่วงในทุกหน้าที่)

  1. ชื่อโครงการ
  2. ผู้ดำเนินโครงการ
  3. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 
  4. พื้นที่ดำเนินงาน
  5. หลักการและเหตุผล
  6. วัตถุประสงค์ 
  7. เป้าหมาย 
  8. วิธีการดำเนินงาน
  9. ทรัพยากรและงบประมาณ 
  10. การติดตามประเมินผล
  11. ผลที่คาดว่าจะได้รับ 

หมายเหตุ : แนบไฟล์โครงการไว้ตอนท้าย

จากนั้นร่วมกันสร้างแบบสัมภาษณ์ ให้นักเรียนแต่ละคนนำไปสัมภาษณ์บุคคลในชุมชน (นักเรียน 1 คน สัมภาษณ์ 2 คน)

ติดต่อวิทยากร ทำหนังสือเชิญวิทยากร และขอใช้สถานที่กับทางวัด


ขั้นที่ 4 ขั้นลงมือปฏิบัติ

ลงพื้นที่สำรวจ และรับฟังข้อมูลจากวิทยากร ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก ครูใช้การเสริมแรงและสนับสนุนให้นักเรียนเลือกวิธีการตามที่นักเรียนต้องการ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนำข้อมูลมาจัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ 


ขั้นที่ 5 ขั้นสรุปและนำเสนอ

เป็นการให้นักเรียนสรุปข้อมูลจากการวิเคราะห์ และสังเคราะห์เป็นผลงาน นำเสนอข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูล โดยนำข้อมูลที่แต่ละคนได้รับจากการสัมภาษณ์บุคคลในชุมชน และวิทยากร มาหาจุดร่วม (สิ่งที่เหมือนกันร่วมกัน) แล้วร่วมสรุปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน


****ปล. ด้วยสถานการณ์โรคระบาด และความจำเป็นด้านระยะเวลาเรียนมีน้อยจึงไม่ได้ให้นักเรียนสร้างผังโครงงาน และนำเสนอต่อชุมชน แต่ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการตามการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: โครงการประวัติ ความเป็นมา บ้านธาตุ.docx

ดาวน์โหลดแล้ว 174 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(9)
เก็บไว้อ่าน
(4)