“ครูไม่อยากให้นักเรียนท่องจำและอยากให้นักเรียนได้ทำมากกว่าการวาดรูป ครูจึงคิดไอเดียการบูรณาการอาหารกับวิชาวิทยาศาสตร์ให้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ”
ครูกานตี้-เคทธิยา ฉวัฒนะกุล ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 1 ของ Teach for Thailand กล่าวถึงการออกแบบไอเดียการสอนวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนวัดอ่างแก้ว กรุงเทพมหานคร ครูกานตี้มีความเชื่อในบทบาทครูว่า ครูไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่จะต้องรักในการพัฒนาตัวผู้เรียน พัฒนาความคิด ลักษณะนิสัย การใช้ชีวิตของผู้เรียนด้วย ครูกานตี้จะไม่ตัดสินนักเรียนเพียงแค่ภาพที่เห็นเบื้องหน้า แต่จะพยายามทำความเข้าใจเด็กจากสภาพแวดล้อม สังคมที่เขาอยู่ว่าอะไรเป็นสิ่งหล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนี้ เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงและแก้จากส่วนนั้น และสิ่งที่ครูกานตี้ให้ความสำคัญในการเป็นครูคือ นักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนให้เก่ง แต่อยากให้เขามีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น และรู้ว่าสิ่งที่เรียนสามารถนำไปเป็นองค์ประกอบของเส้นทางไปสู่เป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้
ในเมื่อครูกานตี้ไม่ได้คาดหวังว่านักเรียนทุกคนจะต้องเรียนให้ได้คะแนนที่ดี จึงเป็นการเรียนที่ให้นักเรียนได้รับทั้งความรู้ ความสนุกและการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพื่อให้พวกเขาได้ประโยชน์ได้มากที่สุด จึงเกิด “ห้องเรียนเรื่อง ‘เซลล์’ ผ่านหน้าขนมปัง” ขึ้น
ทำไมต้องเป็น“ห้องเรียนเรื่อง ‘เซลล์’ ผ่านหน้าขนมปัง”
คาบเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง “เซลล์” ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นเนื้อหาที่จะต้องทำความเข้าใจผ่านภาพ เนื้อหาสาระในหนังสือ และนักเรียนหลายคนคงไม่ชอบการท่องจำหรือวาดรูป ครูกานตี้จึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยนำอาหารมาเป็นเครื่องมือบูรณาการกับการเรียนเรื่องเซลล์
วัตถุดิบที่ใช้
- ขนมปัง
- แยม
- เยลลี่
- คอร์นเฟลค
- นมข้นหวาน
- และขนมอื่น ๆ ที่สามารถตกแต่งให้เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ
กระบวนการเรียนรู้
1. ให้นักเรียนส่องดูเซลล์พืช/สัตว์ ผ่านกล้องจุลทัศน์
2. ชี้แจงวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่มี แล้วให้นักเรียนหยิบสิ่งที่ใช้ไปสร้างสรรค์เป็นเซลล์ผ่านอาหาร พร้อมทั้งแจกแจงส่วนประกอบที่มีในเซลล์
3. แสดงผลงานและสรุปเนื้อหาและสิ่งที่ได้จากกิจกรรม
เรียน-กิน-เล่น ไปด้วยกันได้ แต่ต้องสมดุล
“เราไม่ได้ให้นักเรียนตกแต่งขนมเพียงอย่างเดียว แต่ให้อ่านหนังสือไปด้วยว่า เซลล์มีส่วนประกอบอะไรบ้าง เซลล์พืชมีอะไร เซลล์สัตว์มีอะไร หน้าที่ของแต่ละองค์ประกอบคืออะไร ครูกานตี้ออกแบบกิจกรรมได้ตรงตามวัตถุประสงค์และนักเรียนก็สามารถดำเนินการได้บรรลุวัตถุประสงค์” ครูกานตี้กล่าวถึงผลการดำเนินกิจกรรมโดยรวม
จาการบูรณาการอาหารมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ทำให้เห็นว่า “การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีแค่หนังสือ การบรรยาย การวาดรูป การทดลอง แต่สามารถประยุกต์เข้ากับสิ่งของอย่างอื่นได้” การคิดแผนการสอนในรูปแบบที่แปลกใหม่ เป็นการสร้างทัศนคติที่ดีและบรรยากาศที่เหมาะในการเรียนรู้แก่นักเรียน กิจกรรมนี้สามารถทลายกำแพงของนักเรียนที่ปิดกั้นเนื้อหาที่ดูเหมือนจะเข้าใจยากและดูน่าเบื่อ ให้เปิดใจและสนใจในการเรียนรู้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญของกิจกรรมนี้คือการไม่จำกัดกรอบการเรียนรู้ นักเรียนได้สร้างสรรค์จินตนาการ และเขารู้สึกมีส่วนร่วมในห้องเรียน เพราะไม่ว่านักเรียนจะทำหน้าขนมปังออกมาในรูปแบบใด มันเกิดจากการที่นักเรียนได้ คิด วางแผน ลงมือทำและมันคือผลงานของเขาเองด้วย
ถ่ายทอดไอเดียโดย ครูกานตี้-เคทธิยา ฉวัฒนะกุล ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 1 ของ Teach for Thailand
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!