icon
giftClose
profile

การสังเคราะห์ด้วยแสงแสนอร่อย

20565
ภาพประกอบไอเดีย การสังเคราะห์ด้วยแสงแสนอร่อย

คุณครูวิทยาศาสตร์สวมบทเชฟ พานักเรียนย้อนรอยอาหาร เชื่อมโยงความรู้เรื่องการสังเคราะห์ด้วยแสง

“แกงเขียวหวานต้องใส่อะไร?” 

“ต้มแซ่บกับต้มยำเหมือนกันไหม?”

“วุ้นเส้นทำมาจากอะไร?”

เมนูอาหารที่ดูแสนจะธรรมดา ๆ แต่นักเรียนกลับไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง “ครูอิง” คุณครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนาจึงเกิดปิ๊งไอเดีย ผันตัวเองเป็น “เชฟอิง” จัดรายการมาสเตอร์เชฟขนาดย่อม ๆ ในห้องเรียน พานักเรียนย้อนรอยอาหารเมนูต่าง ๆ และนำมาเชื่อมโยงกับการสังเคราะห์ด้วยแสง 

ขั้นที่ 1: เข้า Internet Supermarket เลือกวัตถุดิบลงกระต้า แฮร่! ตระกร้า

  • ก่อนจะเริ่มกิจกรรมคุณครูได้ให้ความรู้เรื่องการสังเคราะห์ด้วยแสงเบื้องต้น เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงกระบวนการ และความสำคัญคร่าว ๆ
  • คุณครูแบ่งกลุ่มนักเรียน และแจกเมนูอาหารให้แต่ละกลุ่ม 
  • บางเมนูนักเรียนเคยได้ยินแต่ชื่อแต่ไม่รู้จักวัตถุดิบ ไม่รู้ว่าวัตถุดิบนั้นทำมาจากอะไร ดังนั้นแต่ละกลุ่มจึงต้องทำการสืบค้นข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ต 
  • นักเรียนบางคนอาจมีข้อต่อรองขอเมนูง่าย ๆ วัตถุดิบจะได้น้อย ๆ คุณครูจึงต้องวางเงื่อนไขให้ยิ่งวัตถุดิบเยอะเท่าไหร่ ยิ่งดี มีผลต่อคะแนนกลุ่ม 
  • ในขั้นนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ในด้านอาหารและวัตถุดิบให้แก่นักเรียน อย่างเมนูยำวุ้นเส้นที่นักเรียนรับประทานอยู่บ่อย ๆ แต่นักเรียนกลับเข้าใจผิดมาตลอดว่าวุ้นเส้นทำมาจากแป้งไม่ใช่ถั่วเขียว หรือวัตถุดิบอย่างซอสปรุงรสที่นักเรียนก็เพิ่งจะรู้ว่าทำมาจากถั่วเหลือง 

ขั้นที่ 2: รังสรรค์เมนูอาหารลง Flipchart ให้สวยงาม (เตือนแล้วนะ!)

  • เมื่อได้วัตถุดิบมาครบแล้ว นักเรียนต้องเขียนอธิบายย้อนรอยอาหารลงใน Flipchart เชื่อมโยงให้ได้ว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ด้วยแสงอย่างไรบ้าง โดยสามารถวาดรูป ระบายสี ตกแต่งได้ตามใจชอบ
  • เช่น เมนูต้มแซ่บกระดูกอ่อนมีส่วนประกอบที่เป็นผักอย่าง พริก ตะไคร้ มะกรูด ต้องอาศัย น้ำ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และแสง ทำให้เกิดกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง หมูก็ได้ประโยชน์ด้วยเพราะต้องอาศัยแก๊สออกซิเจนจากกระบวนการนี้ เป็นต้น 
  • ขั้นตอนนี้จึงเป็นการให้นักเรียนฝึกเชื่อมโยงความรู้ มองเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม และรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะวัตถุดิบในอาหารที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนั้นต่างก็มีความเกี่ยวโยงกันด้วยกระบวนการการสังเคราะห์ด้วยแสง

ขั้นที่ 3: นำเสนอเมนูอย่างสร้างสรรค์กับเชฟอิง

  • “หมดเวลาทุกคน ยกมือ!!!” เมื่อรังสรรค์เมนูอาหารแล้ว ก็ต้องนำเสนอให้คุณครูและเพื่อน ๆ ฟัง โดยคุณครูตั้งเงื่อนไขให้นักเรียนต้องนำเสนอให้น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เมนูอาหารของเราดูน่ากินให้ได้ ขั้นนี้คุณครูอาจจะต้องเล่นใหญ่สักหน่อย สวมวิญญาณเชฟในการกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกสนุกในการนำเสนอไปด้วย


จากการวัดผลครูอิงได้เอาโจทย์นี้ใส่ไว้ในข้อสอบเพื่อให้นักเรียนอธิบายเมนูอาหารกับการสังเคราะห์ด้วยแสง และพบว่านักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้และเขียนอธิบายได้เป็นอย่างดี บางคนก็วาดรูปประกอบมาให้คุณครูด้วย รายการมาสเตอร์เชฟในคาบวิทยาศาสตร์ของครูอิงจึงไม่ต้องมีใครถอดผ้ากันเปื้อนแล้วกลับบ้าน ต้องขอบคุณคุณครูที่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว บวกกับบรรยากาศสนุก ๆ ที่คุณครูเปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มและใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ อาหารจึงไม่ได้เพียงแต่มีรสชาติอร่อย แต่พานักเรียนตั้งคำถาม ค้นคว้าข้อมูล และเชื่อมโยงความรู้จนเกิดเป็นความเข้าใจได้นั่นเอง 


ไอเดียโดย ครูอิง โรงเรียนเพลินพัฒนา

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(10)