icon
giftClose
profile

4 ไอเดีย ให้นักเรียนได้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม

44430
ภาพประกอบไอเดีย 4 ไอเดีย ให้นักเรียนได้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม

4 ไอเดียกิจกรรม ให้นักเรียนได้ “ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม” ที่เริ่มทำได้ตั้งแต่ที่บ้าน 🏡

เปิดใจ เปิดรับมุมมอง ทำงานกับผู้อื่นได้

เกมสังเกตภูเขาน้ำแข็งในเมืองร้อน

.

เริ่มจากการชวนให้นักเรียนเล่นเกม “สังเกต” และแยก “ความคิดเห็น” กับ “ข้อเท็จจริง” โดยอาจสร้างห้องแชทเพื่อคุยเล่นกับนักเรียน ในขณะที่สอดแทรกคำถามที่ชวนให้นักเรียนใช้ทักษะการ “สังเกต” ไปด้วย เช่น การถามไปตอนท้ายวันว่า “ขอ 1 อย่างที่วันนี้มองเห็น และ 1 เสียงที่ได้ยิน” ถ้านักเรียนเล่ามาเป็นความคิดเห็น ความรู้สึก หรือการตัดสิน ให้คุณครูลองทวนความ (paraphrase) กลับไปเป็นชุดข้อเท็จจริง


ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะแชร์มาว่า “ได้ยินเสียงคนขับมอเตอร์ไซค์มาเบิ้ลเครื่องยั่วหน้าบ้าน” เราสามารถทวนความกลับไปได้ว่า “โอเค เราได้ยินเครื่องยนต์ของมอเตอร์ไซค์ที่ดังกล่าวระดับความดังปกติ และเรารู้สึกค่อนข้างมั่นใจเลยว่าคนขับมอเตอร์ไซค์คันนั้นมีเจตนาในการยั่วเราเนอะ”


หัวใจของกระบวนการนี้คือการรับฟัง และการสอนผ่านการแสดงตัวอย่างให้นักเรียนดู ถึงการแยก “ข้อเท็จจริง” และ “ความคิดเห็น” ออกจากกัน โดยละเว้นการตัดสินว่าสิ่งที่นักเรียนได้แชร์มานั้นผิดหรือถูก เพื่อสร้างพื้นที่ที่นักเรียนจะรู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนกับเราต่อไป


ขั้นตอนต่อไป คือการชวนให้นักเรียนลองสังเกต “ผู้คน” ซึ่งอาจเริ่มจากตัวละครที่นักเรียนเห็นได้ในทีวี Youtube หรือตาม social media ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าว เกมเมอร์ คู่พระนางในละคร ซีรีส์ ไปจนถึงผู้คนในชีวิตจริงรอบตัวนักเรียน และแน่นอนว่า รวมถึงการสังเกตตัวเองด้วย โดยใช้โมเดลภูเขาน้ำแข็งที่เชื่อว่า “ใต้ทุก ๆ พฤติกรรมที่เรามองเห็น ได้ยิน หรือได้สัมผัส จะมี - ความรู้สึก- ที่ผลักดันพฤติกรรมนั้น ซึ่งความรู้สึกนั้นก็จะมาทั้งจาก -ความต้องการ- ทั้งที่ถูกเติมเต็ม และไม่ถูกเติมเต็ม” และเมื่อพอจะมองเห็นสิ่งที่น่าจะเป็น “ความต้องการ” ที่ก่อให้เกิด “ความรู้สึก” ซึ่งนำมาสู่ “พฤติกรรม” ที่แสดงออก นักเรียนจะมีแนวโน้มที่จะซัพพอร์ทคนที่นักเรียนทำงานด้วยได้อย่างตรงจุดมากขึ้น รวมถึงสามารถเท่าทันตัวเองมากขึ้นเมื่อมีพฤติกรรมที่คนอื่นทำซึ่งอาจจะมากระทบกับความรู้สึกของเรา ทำให้นักเรียนสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้อย่างมีสติมากขึ้น


ข้อควรระวังคือ ความรู้สึก และความต้องการ ที่เรารู้สึกว่าเรามองเห็นในพฤติกรรมของคนอื่น จะเป็นเพียงแค่ -สมมุติฐาน- ของเราเท่านั้น หาใช่ข้อเท็จจริงไม่ ดังนั้นเราจึงควรใช้เลนส์ที่ว่า “เราเองยังไม่รู้ข้อเท็จจริงนะ นี่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นของเรานะ” เพื่อมองโลกทั้งใบในขณะที่ชวนนักเรียนทำกิจกรรมนี้ด้วย

.

คุณครูสามารถเช็คอินกับนักเรียนผ่านการแชทได้ โดยไม่ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว หรือเป็นการพาพื้นที่เปราะบางของนักเรียนออกมาในพื้นที่ที่นักเรียนอาจจะยังไม่รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ผ่านคำถามเช่น

.

(1) ใครรู้สึกว่าวันนี้ได้เห็นสิ่งที่น่าจะเป็นความรู้สึกดีใจ / โกรธ / เสียใจ / มีความหวัง จากสื่อเช่นโทรทัศน์ ใน Twitter หรือจาก Netflix บ้างง ถ้าใครเห็นส่งอีโมจิมาแสดงตัวหน่อยนะ


(2) วันนี้มีใครที่มองเห็นพฤติกรรมที่ทำให้เรารู้สึกดีใจ / โกรธ / เสียใจ / มีความหวัง บ้าง (เลือกทีละความรู้สึกนะ) ถ้าใครเกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น พิมพ์ 1 ให้หน่อยยย

.

(3) ใครที่รู้สึกว่าวันนี้มีความต้องการที่ถูกเติมเต็ม กด 1 ถ้ามีความต้องการที่รู้สึกว่ายังไม่ถูกเติมเต็ม กด 0 ถ้าใครที่รู้สึกว่ามีทั้งสองอย่างเลยวันนี้ กด 10”


(4) ถ้าใครอยากเล่าเพิ่มและสะดวกใจแชร์นี้ (แชทกลุ่ม) แชร์ได้เลยนะ หรือใครสะดวกอยากหลังไมค์มาแชร์ ส่งมาได้เช่นกันน้าา


คิดเป็น ทำเป็น มีความคิดสร้างสรรค์

เกมสิ่งนี้ไม่ใช่ …. มันคือ ….

และมันสามารถทำเป็น …. ได้


เป็นเกมเล็ก ๆ ที่สามารถเล่นตอนต้นคาบเพื่อตอกย้ำว่า ที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถคิด สร้างสรรค์ ลองเล่นกับจินตนาการ และออกไอเดียได้โดยไม่มีกรอบใด ๆ จริง ๆ นะ โดยเลือกของมา 1 ชิ้น และชวนนักเรียนคิดว่า ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็นอยู่ มันสามารถเป็นอะไรได้อีกบ้าง


ยกตัวอย่างเช่น

นี่ไม่ใช่โต๊ะ นี่คือเวที

นี่ไม่ใช่ดินสอ นี่คือปิ่นปักผม

นี่ไม่ใช่ไม้กวาด นี่คือต้นไม้ต้นเล็ก


และชวนคิดไปอีกต่อได้ว่า ถ้าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็น มันสามารถเป็นส่วนประกอบของอะไรได้อีกบ้าง


ยกตัวอย่างเช่น

นี่ไม่ใช่โต๊ะ นี่คือชิ้นส่วนขาของโมเดลกิ้งกือยักษ์

นี่ไม่ใช่ดินสอ นี่คือด้านหนึ่งของไม้กางเขน

นี่ไม่ใช่ไม้กวาด นี่คือขาเทียมของแมวตัวใหญ่


โดยเมื่อวันใดที่เราได้กลับมาเจอกัน สามารถนำของชิ้นนี้วางไว้กลางวน และชวนทุกคนเล่นวนกันไปจนหมดเวลาที่กำหนด จำนวนไอเดียที่ระบุไว้ หรือจนกว่าจะเบื่อกันไปข้างนึงก็ได้


และสำหรับตอนนี้ที่เราอาจจะได้เจอกับนักเรียนผ่านห้องแชท เราสามารถโยนรูปภาพสิ่งของลงไปแทน หรือสามารถลองให้นักเรียนเป็นคนตั้งโจทย์โดยเลือกสิ่งของที่นักเรียนพบได้ในบ้านของตัวเอง มาเป็นสิ่งตั้งต้นไอเดียก็ได้


บูรณาการข้ามศาสตร์วิชา

เกมระบุสกิลของตัวละครรอบตัว


แน่นอนว่าในช่วงปิดเทอม นักเรียนจะต้องได้เจอ และใช้เวลากับผู้คนที่อยู่ในชีวิตนอกรั้วโรงเรียนของนักเรียน เกมนี้จะเป็นเกมที่ชวนให้นักเรียนได้ลองมองตัวละครเหล่านั้นด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ด้วยสายตาแห่งความสงสัย และความกระหายที่จะเรียนรู้ รวมถึงเป็นการเปิดโลกแห่งความเป็นไปได้ด้วยว่าเหล่าวิชาสามัญที่เราเรียนจากหนังสือในห้องเรียนนั้น มีตัวตนอยู่ที่ไหนบ้างในโลกรอบตัวนักเรียน


เริ่มจากการชวนนักเรียนตั้งคำถามที่ใช้ทักษะของแต่ละวิชา เช่น


ในบรรดาคนรอบตัวนักเรียน ใครที่

คิดเงินและทอนเงินเร็ว และแม่นยำที่สุด

นักเรียนรู้สึกว่าเป็นคนที่ช่างสังเกตุ และชอบตั้งคำถามมากที่สุด

ใครที่ทำอาหารอร่อยที่สุด

ใครที่เวลาพูดแล้วเรารู้สึกว่าอยากฟังคน ๆ นี้มากที่สุด

ใครที่มักจะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลมากที่สุด

ใครที่เวลาเล่นกิจกรรมเข้าจังหวะแล้วไม่เคยพลาดเลย


จากนั้นชวนนักเรียนมาดูว่าในแต่ละความเป็น “ที่สุด” ที่กล่าวมานั้น เกี่ยวข้องกับทักษะ หรือเนื้อหาในวิชาอะไรบ้าง


และขั้นสุดท้ายคือชวนให้นักเรียนลองเล่าถึงวิถีชีวิตของคนที่บ้านมาหนึ่งคน และลองตั้งสมมุติฐานดูว่า ในหนึ่งวัน ตัวละครคนนี้ต้องใช้ทักษะใดที่น่าจะเกี่ยวข้องกับวิชาอะไรบ้าง โดยอาจชวนให้นักเรียนได้ลองไปนั่งคุย และรับฟังเรื่องราวหนึ่งวันในชีวิตจากคน ๆ นั้นจริง ๆ เลยก็ได้


ปิดท้ายด้วยโบนัส คือการให้นักเรียนลองระบุการเกี่ยวโยงระหว่างแต่ละทักษะ เพื่อให้คน ๆ หนึ่งสามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์ อาจจะได้ใช้ทักษะของการคำนวนเวลาว่าจะรับส่งผู้โดยสารคนสุดท้ายไปได้ไกลแค่ไหน และจะใช้เส้นทางใด เพื่อให้สามารถมารับลูกได้ทันเวลาเลิกเรียน (คณิตศาสตร์) ในขณะที่ต้องสื่อสารอย่างไรเพื่อให้สามารถปฏิเสธลูกค้าได้โดยไม่โดนโกรธ (ภาษาไทย)


สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า

เกมของวิเศษ homemade


ลองนึกภาพโลกหนึ่งใบที่นักเรียนสร้างของวิเศษเป็นงานอดิเรก และเป็นการสร้างที่ถูกผลักดันด้วยความรู้สึกสนุกที่ได้สร้าง และอิ่มเอมจากการได้เห็นรอยยิ้มของใครสักคนกว้างขึ้นอีกนิด เพราะสิ่งที่ตัวเองได้ลองสร้างไป เราสามารถลองชวนนักเรียนเริ่มออกเดินทางไปยังโลกใบนั้นได้ โดยไม่ต้องรอให้โรงเรียนเปิดเทอมอีกครั้งด้วยซ้ำ


- เริ่มจากการให้นักเรียนสังเกตุวิถีชีวิตของคนที่บ้าน ในที่ทำงานพิเศษ หรือในชีวิตรอบตัวที่นักเรียนได้เจอ


- จากนั้นลองระบุถึงปัญหาธรรมดา ๆ ที่อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่คน ๆ นั้นกำลังเผชิญอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ออกไปทำงานสาย (ถ้าปัญหายังไม่ชัดเจนจากการสังเกตุเฉย ๆ หรือแม้แต่เมื่อตั้งสมมุติฐานแล้ว เราสามารถชวนให้นักเรียนได้ลองรับฟังคน ๆ นั้นจริง ๆ ได้เสมอนะ เป็นการเช็คด้วยว่า เอ๊ะ สิ่งที่เราอาจจะกำลังมองว่ามันเป็นปัญหา มันเป็นปัญหาจริง ๆ มั้ยนะ)


- จากนั้นลองชวนนักเรียนคิดต่อว่า “เพราะอะไร” ปัญหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้น เช่น ถ้าปัญหาคือคุณแม่มักออกไปทำงานสาย “เพราะ” ต้องทำกับข้าวตอนเช้า ต้องเช็คหุ้นตอนเช้าซึ่งมักจะใช้เวลานานกว่าที่คิด และมักจะหากุญแจรถไม่เจอ ซึ่งเราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ที่มา” ของปัญหา


- ให้นักเรียนเลือกมา 1 ที่มา ที่รู้สึกว่าสามารถสร้างอะไรบางอย่างออกมาเพื่อแก้ หรือลดโอกาสเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ทันที โดยมีเงื่อนไขว่ามันต้องทำได้ง่ายจริง ๆ นะ แบบทำแล้วไม่ถังแตก และไม่ก่อให้เกิดความเครียดจากความซับซ้อนของการสร้างสิ่งดังกล่าว


และสิ่งที่สร้างอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ แต่อาจจะเป็นกิจกรรม เสียง กลิ่น พื้นที่ว่าง หรืออะไรก็ได้เลยที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีอยู่


ในกรณีตัวอย่าง นักเรียนอาจจะเลือก “ที่มา” ที่จะเล่นด้วยว่าเป็น “การมักจะหากุญแจรถไม่เจอ”


และเกม ๆ นี้อาจจะจบลงง่าย ๆ ด้วยการ “สร้างกล่องเก็บกุญแจที่น่าใช้” และซึ่งถูกจัดวางไว้ข้างประตูบ้านเสมอเพื่อลดโอกาสที่จะลืมว่าวางกุญแจไว้ที่ไหน


อีกทั้งคุณครูยังชวนนักเรียนคิดต่อยอดเรื่องการ “สร้างพฤติกรรม” ได้ด้วย เช่น การลองคุยกับคุณแม่ว่า ถ้าหนูเดินผ่านกล่องเก็บกุญแจแล้วกุญแจรถแม่อยู่ หนูจะมานวดไหล่ให้ 5 นาทีนะ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(2)