ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากการที่เราให้นักเรียนฝึกตั้งคำถามแล้วเกิดเดดแอร์ขึ้น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะนักเรียนไม่กล้าที่จะถาม ไม่มั่นใจในคำถาม หรือเพราะนักเรียนไม่รู้วิธีการตั้งคำถามกันแน่ เราเลยคิดว่าจะหากิจกรรมอะไรดีที่ฝึกตั้งคำถามให้เขาได้กระตุ้นความคิด
แรกทีเดียวอยากลองแค่หยิบบัตรคำขึ้นมาแล้วฝึกตั้งคำถาม แต่มาฉุกคิดได้นิดนึงว่า การขออาสาสมัครตอบคำถาม อาจจะใช่ไม่ได้ผลกับนักเรียนทุกคนนะ บางคนอาจจะไม่มั่นใจที่จะตอบ หรืออายเพื่อน อายครูอะไรแบบนี้ เลยกลับมาตีโจทย์ให้แตกอีกรอบ โดยโจทย์หลักๆของเราก็คือ
1. ฝึกนักเรียนให้ตั้งคำถาม
2. นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม (เราจะไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง ทุกคนจะต้องได้ทำกิจกรรมนี้ ได้รับความรู้อย่างทั่วถึง)
3. มันต้องไม่น่าเบื่อ ต้องสนุก อย่างน้อยครูต้องสนุกก่อนแหละ เพราะถ้าครูไม่จอย ไม่สนุก แล้วนักเรียนของเราจะเหลือเหรอ
นั่นจึงเป็นที่มาในการคิดแล้วคิดอีกจนตัดสินใจว่า เฮ้ยยย! เราลองเอากิจกรรมบทบาทสมมติมาใช้ดีมั้ย แต่ไม่ได้บทบาทในที่นี้จะแอดวานซ์กว่าตรงที่ นักเรียนไม่ได้เล่นเองนะ แต่ต้องเล่นกับเพื่อน ใช่ การเล่นกับเพื่อนนี่แหละที่เรารู้สึกว่าเด็กน่าจะผ่อนคลาย และกล้าที่จะทำกิจกรรมมากขึ้น (คิดง่ายๆเหมือนเวลาเล่นกับเพื่อน อยากจะทำอะไรก็ทำ เล่นอะไรก็เล่น ไม่ต้องเครียด ชิลๆ)
เราเลยดีไซน์สถานการณ์มาให้ว่าเป็นบทบาทสมมติในงานวัดดีกว่า เพราะคิดว่าน่าจะใกล้ตัวกับนักเรียน ค่าที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนติดวัดด้วย และพวกงานวัดงานบุญงานบวชเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทุกเดือนในท้องถิ่นของนักเรียน แน่นอนว่าทุกคนต้องรู้จักและเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์เดิมของนักเรียนได้อย่างแน่นอน
เอาละ ฮึบบบบ ลุ้ยกัน!
ก่อนเริ่มกิจกรรม
- เราได้ฝึกให้นักเรียนได้ตั้งคำถามจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานก่อน ยกตัวอย่างเช่น แมว เราถามนักเรียนว่าแมวคืออะไร ลักษณะหรือสิ่งที่เราสังเกตได้จากแมวคืออะไรบ้าง โดยการเขียนจำแนกส่วนประกอบของสิ่งที่ถามด้วยแผนผังความคิด ก่อนจะได้คำตอบที่ค่อนข้างน่าสนใจดังนี้
(การให้นักเรียนช่วยกันจำแนกลักษณะของสิ่งๆนั้น เป็นไอเดียที่ดีมากๆ เพราะทำให้นักเรียนได้พินิจพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งๆนั้นอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น จากเดิมที่เคยรู้ว่าแมวมันมีสี่ขา เป็นสัตว์น่ารักนะ นักเรียนก็จะมาคิดต่อว่าจะตอบอะไรดีไม่ให้ซ้ำเพื่อน และยังคงลักษณะของความเป็นแมวอยู่)
จากนั้นครูเองก็ได้ถามต่อเนื่องว่า แล้วถ้าเราต้องการจะเอาคำตอบพวกนี้มาตั้งคำถามล่ะ จะสามารถตั้งว่าอะไรได้บ้าง แรกๆนักเรียนไม่กล้าที่จะยกมือเพราะกลัวว่าตอบผิดแล้วจะอายเพื่อน บางคนก็ไม่ค่อยมั่นใจในคำตอบตัวเองเท่าไหร่ ครูก็เลยจัดการเอาสิ่งที่ได้คิดด้วยกันนั่นแหละมายกตัวอย่าง
พอได้เห็นแนวทางเท่านั้นแหละ นักเรียนก็รีบยกมือตอบกันใหญ่ จนเราได้คำตอบที่น่าพอใจ เลยขยับขึ้นไปอีกเสต๊ปด้วยการถามนักเรียนอีกครั้งว่า “ถ้าเราลองเปลี่ยนจากคำถามธรรมดาให้เป็นคำถามแบบใช่หรือไม่” นักเรียนว่ามันแตกต่างกันอย่างไร นักเรียนคิดอยู่นานและก็มีหน่วยกล้าตายยกมือขึ้นตอบว่า “คำถามมันไม่กว้างเท่าคำถามปกติค่ะ” น้ำตาจะไหลลลลล
ครูเลยเชื่อมโยงไปว่าการถามคำถามแบบใช่หรือไม่เนี่ย มันจะช่วยเจาะจงสิ่งที่เราต้องการจะถามได้มากกว่า ไม่กว้างเท่าคำถามแบบปกติ ก่อนจะให้นักเรียนได้ฝึกตั้งคำถามแบบใช่หรือไม่กับเจ้าแมวตัวนั้น และฝึกฝนเพิ่มเติมด้วยการฝึกตั้งคำถามเกี่ยวกับตนเองแบบใช่หรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ค่อนข้างจะน่าพอใจมากกกก นักเรียนได้รู้จักตัวเองมากขึ้น พยายามหาว่าลักษณะเด่น รูปร่าง นิสัย หรือสิ่งที่ชอบของตัวเองคืออะไร พร้อมกับวิ่งมาหาครูถามว่าอันนี้ได้มั้ยคะตามประสาเด็กน้อย ครูเองเห็นแล้วก็ชื่นใจ
การตั้งคำถามแบบนี้มันไม่มีผิดหรือถูก จะตั้งแบบไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งสำคัญที่เราอยากให้นักเรียนได้คือทักษะการมองเห็นลักษณะของสิ่งเหล่านั้นแล้วกลั่นกรองออกมาเป็นคำถามนั่นแหละ
อุปกรณ์ที่เราใช้
ง่ายแสนง่ายมาก แทบไม่ต้องเตรียมอะไรเลยนอกจากเตรียมตัวไปขายขำ เอ๊ย! ขายความรู้ให้กับนักเรียน ใช้สองอย่างหลักๆเลยก็คือ โพสต์อิทสีเหลืองเด่นเป็นสง่า (กรณีกลัวหลุด เราใช้สก๊อตเทปใสเพิ่มความติดทน) และใบงาน เรื่อง การตั้งคำถามแบบใช่หรือไม่ 1 คนต่อ 1 แผ่น (โดยในใบงานจะมีให้นักเรียนระบุคำถามที่ตนเองตั้งขึ้น เป็นคำถามแบบใช่หรือไม่ จำนวน 5 ข้อ และสรุปเพื่อคาดเดาว่านักเรียนได้รับบทบาทเป็นอะไร คาดเดาได้จากคำถามใดบ้าง)
เริ่มกิจกรรม
หลังจากคาบที่ผ่านมาที่ได้ฝึกฝนการตั้งคำถามไปแล้ว คาบนี้เราจึงมีกิจกรรมมาให้นักเรียนทำ (แต่เราไม่ได้บอกล่วงหน้าแหละว่าวันนี้จะมีกิจกรรม) พอบอกว่าวันนี้เราจะมาทำกิจกรรมเท่านั้นแหละ เสียงดังลงไปถึงหน้าเสาธง เกรงใจคุณครูห้องข้างๆมาก แต่ดีที่เค้าไม่ว่าอะไร (ฮา)
ขั้นแรกคือเราได้แจกจ่ายใบงานให้กับเด็กนักเรียน ก่อนจะบอกว่าวันนี้เราจะมาทำกิจกรรมฝึกตั้งคำถามกัน โดยครูจะมอบหมายให้นักเรียนได้รับบทบาทสมมติเป็น “ตัวละครในงานวัด” ซึ่งตัวละครในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ซึ่งนักเรียนก็พากันฮือฮากันใหญ่จินตนาการไปร้อยแปด โดยหารู้มั้ยว่าจินตนาการของครูนั้นไกลออกไปกว่าดาวอังคารแล้ว (ฮา)
ยกตัวอย่างตัวละครในงานวัด
สิ่งมีชีวิต : โฆษกประจำงานวัด คนขายลอตเตอรี่ นักเลง ตำรวจ พ่อค้าแมลงทอด นักเรียน แมวน้อย ฯลฯ
สิ่งไม่มีชีวิต : ลูกโป่ง ลูกนิมิต ตู้บริจาค ถังน้ำแข็ง เครื่องขยายเสียง ฯลฯ
โดยที่ครูจะเป็นคนกำหนดให้ว่านักเรียนแต่ละคนจะได้รับบทบาทเป็นอะไร ผ่านการเอาโพสต์อิทที่มีคำนั้นๆไปแปะที่หลังของนักเรียน ซึ่งความสนุกมันจะอยู่ที่เจ้าตัวจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าตัวเองได้รับบทเป็นอะไร มีแต่เพื่อนเท่านั้นที่รู้ ซึ่งการแปะโพสต์อิทของทางเรานั้นเหมือนการลุ้นผลลอตเตอรี่ พอแปะปุ๊บ นักเรียนก็กรี๊ดปั๊บเหมือนโดนข้าวสารเสก โธ่ลูกก นี่ครูเองไม่ใช่ผีที่ไหน 555
สิ่งที่นักเรียนจะต้องทำก็คือการเดินไปรอบๆห้องเพื่อถามครูหรือเพื่อน แล้วให้เพื่อนหรือครูแสดงพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ติดอยู่ที่หลัง (บางคนเล่นใหญ่มากจนอย่างส่งเข้าชิงนักแสดงนำชายนำหญิง) จากนั้นให้ถามเพื่อนโดยการตั้งคำถามแบบใช่หรือไม่ วนไปเรื่อยๆจนครบทั้ง 5 คน ก่อนจะบันทึกคำถามที่ตนเองได้ถาม พร้อมคำตอบ และสิ่งที่เราคาดเดาว่าตนเองได้รับบทบาทสมมติเป็นอะไรลงในใบงาน
ครูชวนพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้พบว่าสนุกกว่าที่คิด ได้ยินเสียงเรียกร้องว่าอยากให้กลับเอามาเล่นอีก คุณครูก็แสนจะปลื้มปริ่มจนน้ำตาจะไหล เหนือไปกว่าความสนุกและเสียงหัวเราะก็คือนักเรียนไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองได้เรียนรู้การตั้งคำถามและฝึกตั้งคำถามไปแล้ว
(แอบกระซิบว่าตอนสอบปลายภาคตอนให้ฝึกตั้งคำถาม นักเรียนตั้งคำถามได้หลากหลายและดีมากๆทำให้คะแนนของนักเรียน ป.5 เทอมนี้ค่อนข้างโอเค คุณครูบรรจุใหม่อย่างเราก็ค่อนข้างปลาบปลื้มที่อย่างน้อยก็ได้จุดประกายความคิดให้กับพวกเขา ถึงมันจะเป็นแค่จุดเล็กๆ และไม่ใช่คาบที่เนื้อหาต้องแน่นอะไร แต่สิ่งที่ทำให้เรายิ้มได้ก็คือนักเรียนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากให้ถึงคาบภาษาไทยคาบหน้าเร็วๆ”
เราว่าแค่เท่านี้มันก็ทำให้คนเป็นครูมีความสุขและตั้งใจจะหากิจกรรมดีๆมาทำให้ห้องเรียนภาษาไทยของเราไม่รู้สึกน่าเบื่ออีกต่อไป
*** ใบงานสามารถเอาไปใช้งานหรือปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของบริบทแต่ละห้องเรียนเลยนะครับ ถ้าเอาไปใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างไรเข้ามาแบ่งปันให้ฟังกันหน่อยนะครับ :)
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!