inskru
gift-close

โคลงสี่สุภาพไซร้ แสนง่าย (จริงเอย)

2
1
ภาพประกอบไอเดีย โคลงสี่สุภาพไซร้ แสนง่าย (จริงเอย)

สอนโคลงสี่สุภาพยังไงให้รู้สึกว่า "โคลงสุภาพนั้นไซร้ แสนง่าย จริงเอย" ด้วยไอเดียการสอนแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่ภาพที่เน้นการสังเกตและทำความเข้าใจในโคลงสี่สุภาพ ที่เด็กๆเห็นแล้วต้องร้าวว้าว ทำไมมันง่ายขนาดนี้!

เชื่อว่าหากพูดถึง “การแต่งคำประพันธ์” ในห้องเรียนแล้วนั้น

ฉันทลักษณ์ที่นักเรียนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแสนยากก็คือ “โคลงสี่สุภาพ” นั่นเอง!

จะยากด้วยการหาคำมาลงให้ตรงกับสัมผัสก็ใช่แล้ว 1

หาคำให้มาลงตามตำแหน่งคำเอก คำโท ว่ายากแล้ว 1

แต่สำหรับนักเรียนบางคนกลับชื่นชอบเพราะใช้จำนวนคำน้อย

แถมสัมผัสยังไม่ได้ยุ่งยากเหมือนคำประพันธ์ประเภทอื่นๆ

ต่างคนต่างมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป

ดังนั้นวันนี้เราจะมาแชร์วิธีการสอนโคลงสี่สุภาพในสไตล์ของเราให้ดูกัน

น่าจะช่วยให้คุณครูได้มีไอเดียในการสอนเรื่องฉันทลักษณ์ประเภทโคลงสี่สุภาพมากขึ้น

 


จากการเล่น KRUATOR CARD นั้นพบว่าการ์ดที่เราได้มีดังนี้

 


ประกอบไปด้วย

การ์ดสถานการณ์ : ความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกัน

การ์ดไอเดีย : การ์ดทำงานเป็นทีม การ์ดเรียงลำดับ และ การ์ดแฮชแท็ก

 

           เราได้มีการนำการ์ดสถานการณ์และการ์ดไอเดียมาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้นั้นเรียนดังนี้ โดยสถานการณ์ที่ว่าก็คืออออออ.... การเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ประเภทโลงสี่สุภาพ โดยผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางไปได้ช้า บางคนไปได้เร็ว บางคนเคยเรียนมาแล้ว บางคนยังไม่เคย ซึ่งมีความหลากหลายกันไป แต่ครูจะสอนแบบไหนกันล่ะให้นักเรียนสามารถรู้และเข้าใจไปด้วยกันได้

            เราได้ทำการแบ่งพาร์ทของเนื้อหาเรื่อง “ฉันทลักษณ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ” ออกเป็นทั้งหมด ๔ พาร์ทด้วยกัน ได้แก่

           ๑) ถอดโคลงฯเป็นภาพ : ถอดโคลงสี่สุภาพให้เป็นฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพที่ถูกต้อง พร้อมเรียนรู้ข้อบังคับและสัมผัสบังคับพื้นฐานในการแต่งโคลงฯ

           ๒) ข้อบังคับเพิ่มเติม : เรียนรู้ข้อบังคับเพิ่มเติมในการแต่งโคลง รวมถึงทำความรู้จักกับคำเอกโทษ คำโทโทษ

           ๓) ทบทวนให้รู้เพิ่ม : ทบทวนความรู้ที่ได้เรียนผ่านเกมเรียงลำดับฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภพาพ โดยการแข่งขันกันเป็นทีม

           ๔) เสริมทักษะให้ชำนาญ : ฝึกฝนแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพตามโจทย์ที่ครูกำหนด อาจมีการบูรณาการเข้ากับโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น วันภาษาไทย วันสุนทรภู่ เป็นต้น โดยนำเอาสื่อโซเชียลเข้ามา เช่น แต่งกลอนประกวดโดยติดแฮชแท๊กในเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เป็นต้น

 

           แนวคิดในการออกแบบการเรียนรู้

           - เริ่มที่การเอาจุดประสงค์การเรียนรู้ในคาบเป็นตัวตั้ง เราต้องการจะให้นักเรียนของเราได้เรียนรู้อะไรจากคาบนี้ ถัดมาเป็นโจทย์ที่ว่า “นักเรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน” โดยมีไอเดียในการจัดการเรียนรู้ได้แก่ การทำงานเป็นทีม การเรียงลำดับ และแฮชแท๊ก ซึ่งจากเนื้อหาในการเรียนรู้นั้นเอื้อให้เกิดการเรียนรู้แบบ collaboration โดยใช้กิจกรรมกลุ่มเข้ามาเป็นตัวช่วย โดยในการจัดกลุ่มนั้น ครูพิจารณาจัดกลุ่มแบบคละโดยให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการเรียนระดับดีกระจายตัวกัน และจับนักเรียนในกลุ่มอื่นๆเสริมเข้าไปจนครบทุกกลุ่ม

           - ในการทำกิจกรรมนั้นจะเน้นไปที่การแข่งขันกันระหว่างทีม โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มได้ระดมสมองกันเพื่อตอบคำถามที่ครูกำหนด รวมถึงการเรียงลำดับคำประพันธ์เพื่อให้มีความสมบูรณ์หลังจากได้เรียนเกี่ยวกับฉันทลักษณ์ไปแล้ว และปิดท้ายด้วยการมอบหมายให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จัดทำเป็นสรุปความรู้ หรือมอบหมายให้แต่งคำประพันธ์แล้วติด # ตามที่ครูกำหนด

           เรามาดูขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบละเอียดกันเลยดีกว่าครับ

            

“คาบที่ ๑ ถอดโคลงฯ เป็นภาพ”

         ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

         ครูเปิดคลิปวีดิทัศน์เพลง “สยามานุสสติ” ให้นักเรียนฟัง พร้อมกับฉายภาพเนื้อเพลงดังกล่าวขึ้นบนหน้าจอ จากนั้นชวนนักเรียนพิจารณาเนื้อเพลงด้วยกัน และถามนักเรียนเกี่ยวกับรูปแบบของเนื้อเพลง เชื่อมโยงสู่คำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ และวรรณคดีที่แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดนี้ที่นักเรียนเคยเรียนมา เช่น โคลงโลกนิติ กาพย์ห่อโลงประพาสธารทองแดง ลิลิตตะเลงพ่าย ฯลฯ

 

 

         ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้

         ๑. ครูให้นักเรียนจัดกลุ่มทั้งหมด ๖ กลุ่ม กลุ่มละ ๔ คน เพื่อทำกิจกรรม “ชวนคิด พิจารณา

คำประพันธ์” โดยแต่ละกลุ่มจะต้องช่วยกันพิจารณาโคลงสี่สุภาพที่กลุ่มของตนเองได้รับ จำนวน ๑ บท จากนั้นเขียนแผนผังฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ จากการพิจารณาคำประพันธ์ร่วมกันลงในใบงาน เรื่อง ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ ตอนที่ ๑ พร้อมทั้งระบุข้อสังเกตที่พบจากการพิจารณาคำประพันธ์

  

 

         ๒. นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอแผนผังฉันทลักษณ์ของกลุ่มตนเอง โดยเขียนบนกระดาน จากนั้นนักเรียนคนอื่น ๆ ร่วมพิจารณาแผนผังความคิดไปพร้อมกันเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

         ขั้นสรุป

         ครูสุ่มถามนักเรียนเกี่ยวกับประโยชน์ของการทราบฉันทลักษณ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ

 

“คาบที่ ๒ ข้อบังคับเพิ่มเติม”

         ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

         ๑. ครูชวนนักเรียนพิจารณาโคลงแม่บทจากลิลิตพระลอ จากนั้นให้นักเรียนทุกคนอ่านพร้อมกัน ๑ รอบ และขอนักเรียนอาสาสมัครตอบคำถามดังนี้ “จากโคลงสี่สุภาพบทดังกล่าวมีสัมผัสระหว่างวรรคที่ใดบ้าง”


 

         (แนวคำตอบ สัมผัสกันที่คำสุดท้ายวรรคหลังของบาทที่ ๑ (คำว่า “ใด”) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าบาทที่ ๒ (คำว่า “ใคร”) และบาทที่ ๓ (คำว่า “ใหล”) และ คำสุดท้ายวรรคหลังบาทที่ ๒ (คำว่า “หล้า”) สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคหน้าของบาทที่ ๔ (คำว่า “อ้า”)

          ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้

         ๑. ครูอธิบายเกี่ยวกับฉันทลักษณ์เพิ่มเติม เรื่อง คำสร้อย คำเอก และคำโท จากนั้นนักเรียนจดบันทึกความรู้ลงใน ใบงาน เรื่อง ฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ ตอนที่ ๒

 


         ๒. ครูชวนนักเรียนพิจารณาโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ๒ บทต่อไปนี้  


  

       จากนั้นถามนักเรียนว่า นอกจากสัมผัสระหว่างวรรคที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมแล้ว นักเรียนคิดว่าสัมผัสระหว่างบทของโคลงทั้ง ๒ บทนี้เป็นอย่างไร

         (คำตอบ สัมผัสระหว่างบท คำสุดท้ายของบทที่หนึ่งสัมผัสกับคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของบทถัดไป)

         ๓. ครูให้นักเรียนพิจารณาคำประพันธ์ต่อไปนี้


 

         จากนั้นชวนนักเรียนสังเกตและพิจารณาร่วมกันในตำแหน่งของคำที่ครูเน้นตัวสีแดง ให้นักเรียนสังเกตรูปและเสียงวรรณยุกต์ของคำดังกล่าว และใช้คำถามดังต่อไปนี้

         ๑) นักเรียนคิดว่าคำที่ครูเน้นตัวสีแดงไว้นั้นมีความหมายหรือไม่ และหากจะทำให้คำนั้นให้มีความหมายต้องเขียนอย่างไร

         (คำตอบ ไม่มีความหมาย หากจะทำให้มีความหมายต้องเขียนเป็น “เสี้ยม”)

         ๒) นักเรียนคิดว่าเพราะเหตุใดคำเหล่านั้นจึงมีการเขียนในรูปแบบนี้

         (แนวคำตอบ เพราะต้องการให้คำเหล่านั้นสามารถลงในตำแหน่งที่มีการบังคับได้ / เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์)

         อธิบายเพิ่มเติมว่า คำดังกล่าวเดิมเป็นรูปวรรณยุกต์โท แต่มีการเขียนให้เป็นรูปวรรณยุกต์เอก เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ เราเรียกคำประเภทนี้ว่า “คำเอกโทษ” คือ เดิมไม่ใช่รูปวรรณยุกต์เอก แต่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อให้เป็นรูปเอก

         ๔. ครูให้นักเรียนพิจารณาคำประพันธ์ต่อไปนี้

 

 

         จากนั้นชวนนักเรียนสังเกตและพิจารณาร่วมกันในตำแหน่งของคำที่ครูเน้นตัวสีแดง ให้นักเรียนสังเกตรูปและเสียงของคำดังกล่าว และใช้คำถามดังต่อไปนี้

         ๑) นักเรียนคิดว่าคำที่ครูเน้นตัวสีแดงไว้นั้นมีความหมายหรือไม่ และหากจะทำให้คำนั้นให้มีความหมายต้องเขียนอย่างไร

         (คำตอบ มีความหมาย แต่ไม่สัมพันธ์กับบริบทของโคลง หากจะให้สัมพันธ์กับบริบทของโคลงดังกล่าวต้องเขียนเป็น “ค่า”)

         ๒) นักเรียนคิดว่าเพราะเหตุใดคำเหล่านี้จึงมีการเขียนในรูปแบบนี้

         (แนวคำตอบ เพราะต้องการให้คำเหล่านี้สามารถลงในตำแหน่งที่มีการบังคับได้ / เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์)

         อธิบายเพิ่มเติมว่า คำดังกล่าวเดิมเป็นรูปวรรณยุกต์เอก แต่มีการเขียนให้เป็นรูปวรรณยุกต์โท เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ เราเรียกคำประเภทนี้ว่า “คำโทโทษ” คือ เดิมไม่ใช่รูปวรรณยุกต์โท แต่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อให้เป็นรูปโท

         ๕. ครูให้นักเรียนพิจารณาคำประพันธ์เกี่ยวกับการใช้คำตายแทนคำเอก ในกรณีที่ไม่สามารถหาคำเอกโทษมาลงได้ รวมถึง ตำแหน่งคำเอกและคำโทในบาทแรก สามารถสลับที่กันได้ (ครูพิจารณาใช้ตัวอย่างตามความเหมาะสม)

         ขั้นสรุปบทเรียน

         ๑. ครูและนักเรียร่วมกันสรุปบทเรียนเกี่ยวกับฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ โดยแนวคำถามที่ใช้มีดังนี้

                   ๑) โคลงสี่สุภาพ ๑ บท จะมีทั้งหมดกี่บาท

                   (คำตอบ มี ๔ บาท เขียนบาทละ ๑ บรรทัด)

                   ๒) โคลงสี่สุภาพ ๑ บาทจะมีกี่วรรค เรียกว่าอะไรบ้าง

                   (คำตอบ มี ๒ วรรค คือ วรรคหน้า กับ วรรคหลัง)

                   ๓) จำนวนคำในแต่ละวรรค ใน ๑ บทเป็นอย่างไร

                   (คำตอบ วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๒ คำ ยกเว้น วรรคหลังของบาทที่ ๔มี ๔ คำ

                             เขียนต่อกัน)

                   ๔) ใน ๑ บทมีสัมผัสระหว่างวรรคและระหว่างบทเป็นอย่างไร

                   (คำตอบ สัมผัสระหว่างวรรค บริเวณคำสุดท้ายวรรคหลังของบาทที่ ๑ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหน้าบาทที่ ๒ และบาทที่ ๓ และ คำสุดท้ายวรรคหลังบาทที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคหน้าของบาทที่ ๔ ส่วนสัมผัสระหว่างบท คำสุดท้ายของบทที่หนึ่ง สัมผัสกับคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของบทถัดไป



                   ๕) ใน ๑ บทมีการบังคับคำเอกและคำโทอย่างไร

                   (คำตอบ บังคับคำเอก ๗ แห่ง บังคับคำโท ๔ แห่ง)

                   ๖) “คำเอก” คืออะไร

                   (คำตอบ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ)

                   ๗) “คำโท” คืออะไร

                   (คำตอบ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทบังคับ)

                   ๘) “คำสร้อย” คืออะไร และอยู่ในตำแหน่งใดของโคลงสี่สุภาพ

                   (คำตอบ คำสร้อยคือคำที่ใช้เติมลงท้ายบาทที่ ๑ และ ๓ เพื่อให้จบความหรือเพื่อเน้นย้ำให้เกิดอารมณ์ ซึ่งจะมีความหมายเพียงคำเดียว ไม่นับคำสร้อยเป็นความหมาย)

                   ๙) คำเอกโทษคืออะไร

                   (คำตอบ คำที่เดิมไม่ใช่คำเอก แต่เปลี่ยนให้เป็นรูปเอก เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์)

                   ๑๐) คำโทโทษคืออะไร

                   (คำตอบ คำที่เดิมไม่ใช่คำโท แต่เปลี่ยนให้เป็นรูปโท เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์)

                  ๑๑) ในกรณีที่ไม่สามารถหาคำเอกมาลงสัมผัสบังคับ สามารถใช้คำประเภทใดแทนได้

                   (คำตอบ ใช้คำตายแทนคำเอกได้)

                  ๑๒) ตำแหน่งใดที่สามารถสลับตำแหน่งเอกโทได้

                   (คำตอบ คำเอกและคำโทในบาทแรก)

 

“คาบที่ ๓ ทบทวนให้รู้เพิ่ม”

           ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

           ครูทบทวนเรื่องฉันทลักษณ์และข้อบังคับเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคลงสี่สุภาพ โดยอาจใช้วิธีการสุ่มเพื่อถามนักเรียน หากนักเรียนคนใดตอบไม่ได้สามารถให้เพื่อนช่วยเหลือในการตอบได้ หรืออาจใช้ใบงานอย่างง่ายในการทบทวนความรู้ก่อนการเริ่มกิจกรรม


           ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้

         ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๔ คน จำนวน ๖ กลุ่ม จากนั้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมารับ

ชุดกิจกรรม “จิ๊กซอว์โคลงสี่สุภาพ” ซึ่งประกอบไปด้วย

                   ๑) ชิ้นส่วนของโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๓ บท

                   ๒) ใบงาน “กระดานต่อจิ๊กซอว์โคลงสี่สุภาพ” จำนวน ๓ แผ่น

                   (จำนวนโคลง/กระดานฯอาจปรับเพิ่มตามความเหมาะสมของเวลา)

 

 

         ครูอธิบายการเล่นในกิจกรรม “จิ๊กซอว์โคลงสี่สุภาพ” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ครูจะกำหนดคำขึ้นต้นของโคลงสี่สุภาพให้ จากนั้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันเรียงโคลงสี่สุภาพให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ กลุ่มใดที่เรียงเสร็จก่อนให้ยืนขึ้น และอ่านโคลงสี่สุภาพที่เรียงได้ให้ฟังทีละกลุ่ม จากนั้นครูและนักเรียนกลุ่มอื่นร่วมกันพิจารณาความถูกต้อง ก่อนเฉลยและอธิบายความรู้เพิ่มเติมให้นักเรียนฟัง จนครบทั้ง ๓ บท กลุ่มใดได้คะแนนมากที่สุดจะได้รับคะแนนพิเศษจากครู

         ขั้นสรุปบทเรียน

         ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียน โดยครูใช้คำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องคำนึงในการแต่งโคลงสี่สุภาพ


“คาบที่ ๔ เสริมทักษะให้ชำนาญ”

         ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

         ครูชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับการความรู้เรื่องการแต่งโคลงสี่สุภาพนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย

         ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้

         ครูและนักเรียนร่วมกันคิดหัวข้อในการแต่งคำประพันธ์ร่วมกัน โดยอาจเอาเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมหรือกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้มาแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ โดยไม่จำกัดการนำเสนอความคิดในการแต่งคำประพันธ์ จากนั้นเดินดูเป็นรายบุคคลเพื่อให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม และอาจขออาสาสมัครที่แต่งเสร็จแล้วมาพิจารณาความหมายของคำประพันธ์และฉันทลักษณ์ร่วมกัน

         (อาจมีการมอบหมายให้แต่งโคลงฯลงในทวิตเตอร์/เฟสบุ๊คแล้วติดแท๊ก #โคลงสี่สุภาพนั้นไซร้แสนง่ายจริงเอย เพื่อที่ครูจะได้เข้าไปตรวจให้คะแนนผู้เรียนได้ เป็นต้น)

         ขั้นสรุปบทเรียน

         ครูชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับประโยชน์ของการแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพ รวมถึงวรรณคดีที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพที่จะได้เรียนในคาบถัดไป



      หวังว่าไอเดียเกี่ยวกับการสอนเรื่องการแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพของเราจะช่วยจุดประกายไอเดียให้กับคุณครูภาษาไทยทุกท่านที่ยังคิดไม่ออกว่าจะสอนคำประพันธ์ยังไงไม่ให้เด็กนักเรียนรู้สึกว่ามันยากเกินไป หรือน่าเบื่อจนเกินไป ถ้านำไปใช้แล้วได้หรือผลหรือไม่อย่างไร แวะเวียนกลับมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ



           **** เนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อาจมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม เช่น ปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของการเรียนการสอนออนไลน์ โดยครูมีการฉายโคลงสี่สุภาพขึ้นทางหน้าจอ และสุ่มนักเรียนออกมาชี้สิ่งที่สัมผัสกัน จากนั้นให้นักเรียนคนอื่นพิจารณาร่วมกัน และตรวจสอบความถูกต้อง หรืออาจมีการใช้ Google Slide เข้ามาช่วย โดยสร้างไฟล์ให้แต่ละกลุ่ม และครูเข้าไปดูแต่ละกลุ่มทำกิจกรรม เป็นต้น

 

 

คุณครูทุกท่านสามารถดาวน์โหลดใบงานสำหรับใช้ประกอบการทำกิจกรรมได้เลยนะครับ ขอบคุณครับ

ไฟล์ที่แบ่งปัน

    ภาษาไทยkruatorKruator Cardโคลงสี่สุภาพการแต่งคำประพันธ์

    ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

    2
    ได้แรงบันดาลใจ
    1
    ลงไอเดียอีกน้า~
    แบ่งปันโดย
    Pattarapon Singhakulpitak
    ครูผู้ชื่นชอบในการหากิจกรรมเจ๋ง ๆ มาใช้ เพื่อให้ภาษาไทยกลายเป็นวิชาแสนสนุกสำหรับชั้นเรียน :)

    อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

    please login

    แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

    เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

    icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

    ไอเดียน่าอ่านต่อ