icon
giftClose
profile
frame

ได้เรียนได้เล่นผ่านการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

26342
ภาพประกอบไอเดีย ได้เรียนได้เล่นผ่านการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

หัวใจสำคัญของการสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพคือ การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถใช้เป็นแนวทางออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลายวิชา

A: การหารมันง่ายปานนี้เบาะสู

B: เนาะ ตอนกูอยู่ป.1 กูว่ามันยากกว่านี้

ครูปุ๊กกี้ได้ยินนักเรียนคุยกับเพื่อนออกมาเป็นสำเนียงอีสาน หลังจากได้เรียนเรื่อง “การหาร” นักเรียนเคยมีภาพจำว่าเป็นเรื่องยาก แต่หลังจากที่ครูปุ๊กกี้ได้พาเรียนรู้ผ่านแนวทางการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางทำให้ความคิดและความเข้าใจของนักเรียนเปลี่ยนไป

ครูปุ๊กกี้-ศิริวรรณ แมดมิ่งเหง้า ครูบรรจุใหม่ที่มีความรักในการสอน ความทุ่มเทและความตั้งใจในการอยากเป็นผู้สร้างบันไดขั้นแรกที่แข็งแรงแก่นักเรียน เพื่อให้สามารถต่อยอดกับอะไรอีกมากมายบนโลกใบนี้ ครูปุ๊กกี้เรียนจบสาขาคณิตศาสตร์ แต่ถึงคราวทำงานจริงได้สอนทั้งวิชา ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ศิลปะ พบว่าการสอนในสาขาที่ไม่ตรงกับที่จบไม่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับครูปุ๊กกี้นัก เพราะครูปุ๊กกี้มักออกแบบห้องเรียนที่เข้าถึงนักเรียน เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงทำให้นักเรียนส่วนใหญ่รู้สึกสนุกและเข้าใจเนื้อหาที่ยากได้ง่ายขึ้น

 

การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่การตามใจ

“การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่การตามใจเขา แต่เป็นการสร้างสถานการณ์ที่เขาสนใจประยุกต์เข้ามาในเนื้อหาการเรียน” ครูปุ๊กกี้กล่าว

แนวคิดการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่ครูปุ๊กกี้โฟกัสและให้ความสำคัญ ประกอบกับการนำนวัตกรรมการจัดการชั้นเรียน Open approach ที่เคยได้รับการถ่ายทอดและสั่งสมประสบการณ์จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาประยุกต์ใช้ในวิชาอื่นๆนอกจากคณิตศาสตร์

สิ่งสำคัญของแนวคิดนี้คือ “การเปลี่ยนปัญหาของครูให้เป็นของนักเรียน เขาจะรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของปัญหา จึงนำมาสู่การอยากแก้ไขปัญหา ฉะนั้นแนวคิดนี้จึงให้ความสำคัญที่ตัวผู้เรียนและกระบวนการคิด การแก้ไขปัญหา มากกว่าผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบ” ครูปุ๊กกี้กล่าวว่าการจัดชั้นเรียนแบบนี้ เด็กๆจะไม่เครียดและมีอิสระในการคิด กล้าแสดงออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบห้องเรียน

“การยึดตัวเด็กยึดยังไง? ไม่ใช่เด็กบอกว่า ‘ครูหนูอยากกินขนม’ แล้วเราตามใจเด็ก สิ่งที่ยึดแท้จริงแล้วคือสิ่งที่เขาสนใจและความเหมาะสมกับเขา เขาอยากกินขนมใช่มั้ย สถานการณ์ปัญหาของพรุ่งนี้เกี่ยวกับการซื้อขนมได้เลย นอกจากเด็กๆจะได้คิดแก้ปัญหาในสิ่งที่เขาชอบแล้ว ยังใจฟูขึ้นมาที่ครูใส่ใจในคำพูดของเขา”

 

บันได 4 ขั้น ของการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ขั้น 1 เสาะแสวงหา

ในที่นี้หมายถึงการสังเกตและคาดการณ์สถานการณ์หรือเหตุการณ์ ที่เขาสนใจ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กอยากจะเรียนรู้ เช่น การเล่นหมากเก็บ เล่นกระโดดยาง การเล่นฟุตบอล การเล่นตุ๊กตากระดาษ มาประยุกต์ในเนื้อหาการเรียน


การหยิบยกสถานการณ์หรือสิ่งของมาเป็นกลยุทธ์จัดการห้องเรียน


ขั้น 2 การสอน

ตรงนี้สำคัญเพราะเราต้องวางแผน ว่าสอนอย่างไรให้เด็กสนุก สอนอย่างไรให้เด็กเปิดใจและเปิดรับเนื้อหา ครูปุ๊กกี้ใช้เครื่องมือทั้งแบบสิ่งของ เทคโนโลยี กิจกรรม มาสร้างห้องเรียนที่มีชีวิต เช่น ดาวการหารที่แบ่งใส่ถุงให้นักเรียนแต่ละคนได้ใช้ทำกิจกรรมการหาร การใช้โปรแกรมสุ่มชื่อที่ให้ทั้งความสนุกและสาระ เกมส์บันไดงูภาษาอังกฤษ การเปิดสื่อในอินเตอร์เน็ตให้เด็กดู ทำสมุดโน้ตวาด apple จากเสียงที่ได้ยิน เด็กได้วาดและฟังไปพร้อมกัน การทำสมุดบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นต้น


ครูปุ๊กกี้ ออกแบบสมุดรายรับรายจ่ายแล้วให้นักเรียนตกแต่งตามสไตล์ของตัวเอง เพื่อให้นักเรียนได้สร้างสรรคืงานได้อย่างเต็มที่


ขั้น 3 feedback

การมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น/การให้ฟีดแบคต่อตัวเอง ครู เพื่อน ตลอดจนเนื้อหาวิชาเรียน หรือเรื่องต่างๆที่อยากจะบอกครูแต่ไม่กล้าบอกตรงๆ ในที่นี้ครูปุ๊กกี้ได้ทำตู้ไปรษณีย์ของห้องขึ้นมา ซึ่งได้รับการตอบรับดี มีจดหมายฟีดแบคส่งเข้ามามากมาย เช่น การเขียนชมเพื่อนว่าเพื่อนตั้งใจเรียนขึ้น เขียนถึงตัวเองว่าจะตั้งใจเรียน เขียนถึงการเรียนที่น่าเบื่อบ้างบางครั้ง เขียนถึงการเรียนที่กิจกรรมวันนี้สนุกดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างพื้นที่แห่งการรับฟัง เคารพตนเองและผู้อื่น ทำให้นักเรียนและครูผู้สอนเห็นตัวเอง พัฒนาเป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศอบอุ่นและใจฟูกับทุกคน


กล่องไปรษณีย์สีแดงจุดรับฟีดแบคของนักเรียนออกแบบโดยครูปุ๊กกี้

จดหมายวันนี้เต็มกล่องเลย

ตัวอย่างข้อความแม้เป็นเพียงประโยคสั้นๆที่กลั่นกรองมาจากความตั้งใจ


ขั้น 4 การอภิปรายแลกเปลี่ยน

การอภิปรายหรือการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยน จะเกิดขึ้นในคาบถัดไป ทั้งนี้จะขึ้นอยู่สถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ถ้าวันนั้นมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดประเด็นการแลกเปลี่ยน ในวันรุ่งขึ้นครูจะหยิบประเด็นดังกล่าวมาถกกันในห้องอีกครั้ง เช่นกิจกรรมการทำภาพปะติด ในคาบถัดไปครูจะนำผลงานของแต่ละกลุ่มมาโชว์ และเปิดโอกาสให้สมาชิกของกลุ่มได้พูดเกี่ยวกับผลงานของตน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเน้นให้นักเรียนพูด มีความกล้าแสดงความคิดเห็น และรู้จักการชื่นชมผู้อื่น



การเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ครูประเมินความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ทันทีจากการให้ฟีดแบค เช่น วันที่นักเรียนพูดว่า เรียนสนุกหรือน่าเบื่อ ครูจะต้องหาเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาสอนให้นักเรียนสนุกขึ้น หรือเพื่อนเขียนชื่นชมเพื่อนว่าตั้งใจเรียน ครูเป็นส่วนเสริมแรงบวกให้กับนักเรียนไปอีกด้วย ซึ่งการชื่นชมเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลจากคำพูดสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวระดับได้อย่างหนึ่ง 



ขอขอบคุณไอเดียจาก ครูปุ๊กกี้ ศิริวรรณ แมดมิ่งเหง้า 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(8)