กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สอนเรื่องระบบศักดินาในสมัยอยุธยาซึ่งปรับใช้ได้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายนะคะ ถ้าเป็นในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์มากขึ้นค่ะ
เริ่มจากครูสุ่มแจกบัตรคำบุคคลต่าง ๆ ในระบบศักดินาให้นักเรียนดังนี้ กษัตริย์ เจ้าหรือราชวงศ์ ขุนนาง ไพร่ ทาส และพระที่เป็นชนชั้นพิเศษ บัตรคำในแต่ละใบจะมีรูปภาพการ์ตูนบุคคลนั้น ๆ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานะ และหน้าที่ของบุคคลนั้นด้วย โดยครูบอกกับนักเรียนว่าถ้านักเรียนได้บัตรคำเป็นบุคคลใดให้นักเรียนสมมุติว่าตนเองเป็นบุคคลนั้นจริง ๆ
หลังจากนั้นครูให้นักเรียนอ่านหน้าที่ในของตนเองในบัตรคำ พร้อมทั้งตั้งคำถามกระตุ้นความคิดของนักเรียนว่า “นักเรียนรู้สึกอย่างไรที่ได้เป็นบุคคลดังกล่าว”
คุณครูอาจทำสื่อเป็นมงกุฎให้คนที่เป็นกษัตริย์ใส่ได้นะคะ
ในบัตรคำจะมีสองด้านมีทั้งด้านสมัยสุโขทัยและอยุธยานะคะ สามารถนำไปปรับใช้ในการสอนสมัยสุโขทัยได้ด้วยค่ะ
แน่นอนว่าในช่วงที่นักเรียนได้บัตรคำไปคนที่ได้เป็นกษัตริย์ก็จะค่อนข้างดีใจ ส่วนคนเป็นทาสก็จะเศร้า ๆ หน่อย ตรงส่วนนี้นักเรียนก็เกิดความสนุกสนานแล้วที่ได้ลองสมมุติเป็นตัวละครต่าง ๆ ตรงนี้คุณครูอาจจะพูดสร้างสถานการณ์ พูดสร้างบรรยากาศให้นักเรียนรู้สึกว่าอยู่ในบทบาทของตัวละครนั้นจริง ๆ ครูอาจจะตั้งคำถามต่อว่า
นักเรียนพอใจไหมที่ได้เป็นบุคคลดังกล่าว นักเรียนลองคิดว่าการเป็นบุคคลดังกล่าวมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง ทำไมนักเรียนถึงชอบหรือไม่ชอบบุคคลที่นักเรียนได้เป็น
ในส่วนนี้ครูควรให้เวลานักเรียนคิดด้วยตนเองก่อนยังไม่ต้องปรึกษาเพื่อน ๆ
ต่อมาครูให้นักเรียนที่เป็นเป็นกษัตริย์ออกมาหน้าชั้นเรียน และสร้างสถานการณ์ให้นักเรียนว่า นักเรียนต้องสร้างเมืองของตนเอง ตอนนี้นักเรียนเป็นกษัตริย์เป็นผู้ปกครองเมืองแต่ยังไม่มีคนในเมืองเลยนักเรียนจำเป็นต้องหาคนที่มีหน้าที่ต่าง ๆ มาทำงานในเมืองของนักเรียน
นักเรียนจะมีวิธีการดึงดูดคนที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหรือราชวงศ์ ขุนนาง ไพร่ ทาส และพระ มาอยู่ในเมืองของนักเรียนได้อย่างไร
โดยวิธีการดึงดูดให้คนมาสนใจที่จะอยู่ในเมืองของนักเรียนจะต้องคำนึงว่านักเรียนอยู่ในสมัยของอยุธยาจริง ๆ สิ่งที่ในสมัยนั้นจำเป็นคืออะไร วิเคราะห์จากสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ในสมัยนั้น เช่นนักเรียนที่เป็นกษัตริย์อาจจะบอกว่าหากมาอยู่กับเมืองของนักเรียน นักเรียนจะปกครองคนให้เท่าเทียมกัน เพราะในสมัยอยุธยาเป็นสังคมแบบแบ่งชนชั้นนักเรียนอยากแก้ไขในส่วนนี้ นักเรียนอาจจะใช้ส่วนนี้ในการดึงดูดคนให้มาอยู่กับเมืองนักเรียนได้
ภาพตอนหาคนเข้าเมืองก็จะวุ่นวายหน่อย ๆ ค่ะ
ดังนั้นในแต่ละเมืองจึงมีคนในเมืองไม่เท่ากันแน่นอน นักเรียนที่เป็นกษัตริย์บางคนมีคนในเมืองแค่ 2 คน บางคนหาสมาชิกได้เป็น 10 คน บางกลุ่มมีคนเยอะก็จริงแต่มีแต่คนที่ทำหน้าที่เป็นทาส บางกลุ่มมีคนน้อยแต่มีบุคคลที่ทำครบทุกหน้าที่ ตรงจุดนี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละกลุ่ม และเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะจะทำให้นักเรียนต้องแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ที่กลุ่มตนเองต้องเจอจริง ๆ และแตกต่างกันออกไป
หลังจากนั้นครูกำหนดว่านักเรียนจะต้องสร้างเมืองของตนเอง โดยมีชื่อเมืองของตนเอง มีการกำหนดนโยบายของเมือง โดยนโยบายต้องสอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองในสมัยนั้นจริง ๆ
ตรงส่วนนี้เมืองของนักเรียนบางคนที่มีคนในเมืองน้อยก็จะเริ่มโวยวาย ว่าเขาไม่สามารถสร้างเมืองได้จะทำยังไง ไม่มีใครมาอยู่เมืองเขาเลย ถ้าครูลองเอากิจกรรมนี้ไปเล่นจริง ๆ นักเรียนจะอินในบทบาทของตัวเองมาก ๆ ซึ่งพอนักเรียนตั้งคำถามมาแบบนี้ก็ดีมาก ๆ เลยค่ะ เพราะครูจะเชื่อมโยงไปสู่สถานการณ์ต่อไปได้
โดยครูอธิบายต่อว่าคนในเมืองมีสิทธิที่จะออกจากเมืองของตนเองได้หากนักเรียนฟังนโยบายของเมืองไหนแล้วรู้สึกชอบนโยบายของเมืองนั้นมากกว่านักเรียนสามารถย้ายเมืองได้ ดังนั้นเมืองที่มีคนน้อยก็ยังมีโอกาสที่จะมีคนเยอะได้ อาจจะได้เป็นเมืองที่คนอยากไปอยู่มากที่สุด
และในตอนท้ายถ้านโยบายของเมืองไหนได้รับความสนใจมากที่สุด โดยได้รับการโหวตหรือมีคนย้ายไปอยู่มากที่สุดเมืองนั้นก็จะเป็นเมืองที่ชนะในที่สุด ครูอาจจะมีของรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเมืองที่ชนะ
นักเรียนเริ่มรวมกลุ่มกันคิดนโยบายค่ะ
ในส่วนนี้แต่ละกลุ่มก็จะมีนโยบายแตกต่างกันไปโดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มของตนเอง เช่น บางกลุ่มมีไพร่น้อย ต้องการบุคคลที่มีหน้าที่ไพร่มาทำงานเพิ่มนักเรียนก็จะคิดนโยบายที่ค่อนข้างให้ประโยชน์กับไพร่เพื่อดึงดูดบุคคลที่เป็นไพร่ให้มาอยู่เมืองของนักเรียน
ตรงส่วนนี้ครูจะคอยให้คำปรึกษากับนักเรียน และพยายามให้นักเรียนคิดหลาย ๆ มุม เช่นถ้านักเรียนให้ประโยชน์กับไพร่มาก บุคคลอื่น ๆ อาจจะไม่พอใจและย้ายไปอยู่เมืองอื่นได้ ซึ่งครูจะแนะนำให้แต่ละกลุ่มสอบถามความคิดเห็นของคนในเมืองของตนเองก่อนที่จะกำหนดนโยบาย และสรุปมาเป็นตารางดังนี้
ในส่วนนี้จะทำให้นักเรียนที่สวมบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ ได้แสดงความรู้สึกจริง ๆ ออกมาว่าถ้าฉันเป็นตัวละครนั้นฉันต้องการอะไร ซึ่งนักเรียนแต่ละคนน่าจะมีความรู้สึกอยู่แล้วตั้งแต่ในช่วงแรกที่ครูแจกบัตรคำและครูให้นึกถึงข้อดี ข้อเสียของตัวละครนั้น และสมาชิกในเมืองต้องคอยช่วยกันคิดว่าความต้องการของแต่ละคนเหมาะสมหรือไม่
หลังจากนั้นครูให้นักเรียนออกมานำเสนอนโยบายของเมืองนักเรียน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีนโยบายที่น่าสนใจมาก ๆ ทำให้ครูได้เห็นมุมมองความคิดของนักเรียน กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าของห้องเรียน มีความสนใจเกี่ยวกับนโยบายของเพื่อน เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนสนุก เหมือนได้เล่น แต่ได้เรียนรู้จริง ๆ นอกจากความรู้ที่นักเรียนได้สิ่งสำคัญในคาบนี้คือนักเรียนได้ทักษะต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็น การยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ความเข้าใจว่าเมื่อทุกคนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันต่างก็มีความคิดที่แตกต่างกันไปตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เป็นการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่การท่องจำแต่นักเรียนต้องเข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์ในช่วงนั้นจะต้องเป็นแบบนั้น
เพราะเราไม่สามารถเอาปัจจุบันไปตัดสินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตได้ นักเรียนต้องวิเคราะห์ได้ว่าในสถานการณ์ที่แตกต่างก็ส่งผลต่อการกระทำที่แตกต่างกันเช่นกัน
นักเรียนออกมานำเสนอแล้วมีการแสดงบทบาทสมมุติด้วยค่ะ
ตัวอย่างนโยบายของนักเรียนค่ะ
และยังมีนโยบายอีกหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจ เช่น จัดการศึกษาให้ทาส ทาสจะได้เป็นคนที่มีความรู้มาพัฒนาเมืองได้
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!