icon
giftClose
profile

หน่วยการเรียนรู้เปิดตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

32615
ภาพประกอบไอเดีย หน่วยการเรียนรู้เปิดตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

เป็นการนำตำนานประจำท้องถิ่นมาจัดการเรียนรู้ในรูปแบบหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งหน่วยการเรียนรู้ "เปิดตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" เป็นเพียงตัวอย่าง คุณครูสามารถนำคติชนท้องถิ่นของตนเองไปวิเคราะห์และสร้างหน่วยการเรียนรู้ได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัด สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นได้

หน่วยการเรียนรู้ "เปิดตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว"

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

นวัตกรรมที่ใช้ประกอบคือ หนังสือเล่มเล็กเรื่อง "ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" (สามารถประยุกต์เป็นไฟล์ ebook, สื่อออนไลน์, หนังสือออนไลน์) แบ่งเป็นตอนทั้งหมด 5 ตอน ทำให้คุณครูสะดวกในการหยิบยกตอนใดตอนหนึ่งของเนื้อเรื่องมาใช้สร้างแบบฝึกทักษะและใช้รูปภาพการ์ตูนพูดกันในลักษณะ comic เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัย และทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนกับคุณครูไม่น่าเบื่อ เพราะสื่อการเรียนรู้ ประเภท Edutainment นอกจากจะทำให้นักเรียนได้สาระความรู้แล้ว ยังดึงดูดความสนใจของผู้เรียนอีกด้วย

การจัดการเรียนรู้แบบหน่วยการเรียนรู้เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนที่ประกอบไปด้วยตัวชี้วัด วัตถุประสงค์ และเนื้อหาที่จะสอน ซึ่งการนำคติชนท้องถิ่นมาจัดการเรียนรู้เป็นหน่วยการเรียนรู้นั้น จึงเป็นการผนวกทั้งกระบวนการจัดการเรียนรู้ และคติชนท้องถิ่นที่นักเรียนคุ้นเคยมาสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน ทำให้การเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนมีสีสันและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น


เป้าหมายหลัก : ผู้เรียนมีสมรรถนะด้านการอ่านและการเขียนจากการนำคติชนมาจัดการเรียนรู้เป็นหน่วยการเรียนรู้ได้

ทั้งนี้คุณครูสามารถนำวิธีการ รวมไปถึงนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ตามแต่ละท้องถิ่นได้


ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ใช้เวลาทั้งหมด 2 ชั่วโมง 2 คาบ

คาบที่ 1

เป้าหมาย : นักเรียนสามารถเขียนย่อความ จากหนังสือเล่มเล็ก "ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" ซึ่งเป็นคติชนในท้องถิ่นของตนเองได้

ขั้นนำ

คุณครูชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเล่า หรือตำนานท้องถิ่นที่รู้จัก และชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และบอกว่าวันนี้จะมาเรียนเรื่องการเขียนย่อความจะให้นักเรียนเขียนย่อความจากตอนใดตอนหนึ่งในหนังสือ ทั้งนี้คุณครูควรเน้นย้ำว่าเรื่องราวต่อไปนี้เป็นเพียงตำนาน และระมัดระวังการกล่าวถึงศาสนา และในตอนท้ายจะมีเรื่อง "การทำอัตวินิบาตกรรม" หรือการฆ่าตัวตาย คุณครูควรกำกับดูแลในเรื่องเช่นนี้เป็นพิเศษ

ขั้นสอน

คุณครูสอนเรื่องหลักการเขียนย่อความจากใบความรู้ และยกตัวอย่างประกอบ หลังจากนั้นให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะการเขียนย่อความจากหนังสือเปิดตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (คุณครูอาจคัดเลือกตอนใดตอนหนึ่งมาให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด)

ขั้นสรุป

คุณครูและนักเรียนร่วมกันสรุปเรื่องการเขียนย่อความ และให้นักเรียนสะท้อนคิดเรื่องการเขียนย่อความและข้อคิดที่ได้รับ

คาบที่ 2

เป้าหมาย : นักเรียนสามารถเขียนแผนภาพโครงเรื่องและแผนผังความคิดได้ จากหนังสือเล่มเล็ก "ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" ซึ่งเป็นคติชนในท้องถิ่นของตนเองได้

ขั้นนำ

คุณครูชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับละครที่นักเรียนเคยชม ว่าประกอบด้วยตัวละคร เช่น เรื่องนี้ประกอบด้วยตัวละครดี และตัวละครตัวร้าย ชวนพูดคุยว่าเหตุใดตัวละครถึงทำเช่นนี้ บทสรุปของเรื่องราว

ขั้นสอน

คุณครูสอนเรื่องการเขียนแผนผังความคิดและแผนภาพโครงเรื่อง โดยแผนผังความคิดใช้เครื่องมือ คือ Mind Map, Concept Map และแผนผังก้างปลา และสอนหลักการเขียนแผนภาพโครงเรื่อง โดยใช้เครื่องมือ 5W1H และให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะ

คุณครูจัดรูปแบบเป็นกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้การทำงานเป็นทีม

  • แผนผังความคิดให้นักเรียนเลือกว่าจะทำรูปแบบใด โดยคุณครูอาจะเลือกตอนใดตอนหนึ่งมาทำแบบฝึกทักษะและเสริมความรู้ในบทเพิ่มเติมเสริมรู้มาให้นักเรียนทำแผนผังความคิดประกอบ
  • แผนภาพโครงเรื่องให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะโดยหยิบยกตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวตอนใดตอนหนึ่งมา

ขั้นสรุป

คุณครูสรุปความรู้เรื่องการเขียนแผนผังความคิดและแผนภาพโครงเรื่อง และให้นักเรียนสะท้อนความรู้และสิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรม

การประเมินผล

  1. ประเมินจากชิ้นงานและแบบฝึกทักษะ
  2. ประเมินจากการให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนเรื่องการเขียนย่อความ
  3. ประเมินมารยาทการเขียนจากการสังเกตพฤติกรรมการทำงานเป็นกลุ่ม และการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 6

ชื่อไฟล์​: แผนการจัดการเรียนรู้และเครื่องมือ.png

ดาวน์โหลดแล้ว 18 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(3)