icon
giftClose
profile

สร้างแรงจูงใจด้วย "ชาเลนจ์ซักกะนิด "

18551
ภาพประกอบไอเดีย สร้างแรงจูงใจด้วย "ชาเลนจ์ซักกะนิด "

ชาเลนจ์วันละนิด สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมองเห็นการพัฒนาวันละลิตเติ้ลบิต ลิตเติ้ลมอร์ และตระหนักรู้ว่าตนเองก็สามารถเรียนรู้ได้

การสร้างแรงจูงใจในการเรียนไม่ใช่แค่การทำให้นักเรียน “อยาก” เรียน แต่ต้องทำให้รู้ว่าพวกเขา “สามารถ” เรียนรู้ได้ “ครูมิว” คุณครูจากมูลนิธิ Teach for Thailand ที่สะกิดใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและผันตัวเองจากวิศวกรมาเป็นครูวิทยาศาสตร์ จึงต้องสร้าง “ชาเลนจ์” ซักกะนิด ในการสอนของตนเอง

ความสูงของตึกที่ว่าใหญ่ แต่ใจครูอยากชาเลนจ์ให้ “ทดลอง” วัดดู

“เราจะวัดความสูงของตึกได้อย่างไร?”

“วัดพื้นที่โรงเรียนของเราอย่างไรดี?”

“เติมน้ำจาก๊อกน้ำให้เต็มขวดใช้เวลากี่วินาที?”

เพราะคนเรียนรู้จากประสบการณ์ ครูมิวจึงเลือกใช้ constructivism หรือการให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองมาใช้ในการสอนวิทยาศาสตร์ ตั้งโจทย์ชาเลนจ์ให้นักเรียนหาคำตอบด้วยตนเองจาก “การทดลอง” โดยไม่จำกัดวิธีการ หลังจากนั้นจึงค่อยให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้มาเชื่อมโยงทฤษฎี เพื่ออภิปรายกันภายในกลุ่ม นักเรียนบางกลุ่มก็แก้ปัญหาโดยการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อหาพื้นที่ของโรงเรียน บางกลุ่มก็วัดความสูงของตึกจากขั้นบันได นี่จึงเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ รู้จักสังเกต คิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหามากขึ้น

ความพยายามของนักเรียนมีความหมาย ครูก็เลยบอกให้ “ชาเลนจ์” ตัวเอง

นักเรียนทุกคนรู้ดีว่าปลายทางของการทำแบบฝึกหัดและการสอบ คือ คะแนน หากแต่คะแนนไม่ใช่ปลายทางเดียวที่นักเรียนต้องโฟกัส “ความพยายาม” ระหว่างทางเองก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นครูมิวจึงทำให้นักเรียนตระหนักว่าคะแนนทุกคะแนนมาจากความพยายามของตนเอง โดยการแบ่งระดับข้อสอบและแบบฝึกหัด “ชาเลนจ์” ให้นักเรียน “ชาเลนจ์” ความสามารถของตนเอง

ครูมิวมองว่านักเรียนมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน นักเรียนบางคนอ่านโจทย์ไม่แตก มีปัญหาด้านการคิดวิเคราะห์ ครูมิวจึงแบ่งข้อสอบออกเป็น

-         “ชุดพื้นฐาน” ที่อ่านน้อย ๆ นักเรียนสามารถวาดภาพประกอบการอธิบาย

-         “ชุดท้าทาย” ที่เน้นไปที่การคิดวิเคราะห์

ก่อนสอบนักเรียนจะเป็นผู้เลือกเองว่าอยากทำชุดไหน ทำให้นักเรียนได้ประเมินตนเอง และเป็นการจูงใจนักเรียนว่าพวกเขาสามารถทำข้อสอบได้ตามระดับที่ตนเองเลือก

ในแง่ของแบบฝึกหัดครูมิววางเงื่อนไขให้นักเรียนทำข้อพื้นฐานแค่ 5 ข้อ แต่นักเรียนจะทำเพิ่มมากว่านั้นก็ได้ คะแนนก็จะบวกเพิ่มไปด้วยทีละนิด เก็บเป็นคะแนนเสริม อีกทั้งครูมิวยังใช้ Gamification เข้ามาช่วยทำให้ความพยายามของนักเรียนเป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ เปลี่ยนคะแนนให้เป็น “หลอดสะสมพลังงานจรวด” แปะไว้ในสมุด คอยเติมขีดพลังงาน เปิดมาเมื่อไหร่ก็เห็นพัฒนาการของตัวเอง กลายเป็นว่านักเรียนไม่หยุดอยู่แค่ข้อพื้นฐาน ท้าทายตัวเองทำไปเรื่อย ๆ เกิดความภาคภูมิใจและตระหนักรู้ว่าตนเองทำได้ คะแนนเกิน 100 ไปแล้วก็ยังอยากทำ นอกจากนี้ครูมิวยังจัดระบบการกรอกคะแนนใหม่ ทำทุกอย่างให้เป็นออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถเช็คคะแนนของตนเองได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย

การชาเลนจ์สะท้อนให้เห็น “เด็กกลาง” (ดูให้ดีซิเยอะนะ!)

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ นักเรียนส่วนใหญ่ของครูมิวให้ความร่วมมือและตอบรับกับวิธีการเป็นอย่างดี เพราะพวกเขามองเห็นพัฒนาการของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนกลุ่มที่เรียนปานกลาง การชาเลนจ์สะท้อนภาพนักเรียนกลุ่มนี้ออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งหลายครั้งเราอาจเน้นแต่ไปโฟกัสนักเรียนที่เรียนอ่อน ไม่ก็เรียนเก่งไปเลย แต่เมื่อนักเรียนกลุ่มปานกลางนี้รู้ว่าตัวเองพัฒนาได้ ก็พยายามชาเลนจ์ตัวเองพยายามอยู่ตอนเย็นเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ทำคะแนนเพิ่มให้ได้เกรด 4

         เป้าหมายของการเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ระหว่างทางคือการพัฒนาตนเองวันละลิตเติ้ลบิท ลิตเติ้ลมอร์ไปด้วย การสร้างชาเลนจ์ซักกะนิดจึงสามารถช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายทั้งสองอย่างได้ จะง่ายหรือยาก ช้าหรือเร็วก็ไปตามpaceของตัวเอง ไม่มีถูกหรือผิด ที่สำคัญคือนักเรียนตระหนักรู้ว่า “ทุกคนเรียนรู้และพัฒนาได้” นั่นเอง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(4)