icon
giftClose
profile

แฟนพันธุ์แท้ภูมิศาสตร์

12334
ภาพประกอบไอเดีย แฟนพันธุ์แท้ภูมิศาสตร์

เปลี่ยนห้องเรียนภูมิศาสตร์ให้กลายเป็นสนามประลองความรู้ ด้วยไอเดียรายการเกมโชว์ โดยมีเสียงหัวเราะเป็นแรงบันดาลใจ

หากทุกคนยังจำวลีนี้ได้ “ถูกกกกก ถูกต้องนะครับ” ไม่มีใครไม่รู้จักรายการแฟนพันธุ์แท้ รายการที่รวบรวมผู้คนที่มีความชำนาญในศาสตร์/หัวเรื่องนั้น ๆ มาร่วมตอบคำถามในรายการ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดแฟนพันธุ์แท้


ครูก้อยจึงนำไอเดียนั้นมาเปลี่ยนห้องเรียนภูมิศาสตร์ให้กลายเป็นสนามประลองความรู้ โดยมีเสียงหัวเราะเป็นแรงบันดาลใจ


ก่อนเริ่มรายการ (ที่มาและแรงบันดาลใจ)

“ก้อยอยากให้เด็กตื่นเต้น อยากรู้ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ค่ะ” – ครูก้อย พรวิมล สว่างชม

“ก้อยชอบเสียงหัวเราะค่ะ ห้องเรียนที่ก้อยชอบคือห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา รอยยิ้ม ความตลกของเด็ก ๆ และบรรยากาศการทำงานร่วมกัน” ครูก้อยเล่าถึงภาพห้องเรียนที่ในอุดมคติ ซึ่งกลายมาเป็นที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างห้องเรียนแฟนพันธุ์แท้ภูมิศาสตร์ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ สร้างจินตนาการ พัฒนาความร่วมมือ โดยให้เด็ก ๆ ลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

1 2 3...เริ่มบันทึกเทป (กระบวนการ)

ช่วงที่ 1 เก็บเสบียงความรู้ก่อนเริ่มการแข่งขัน

ขั้นนี้นักเรียนสะสมความรู้ทางภูมิศาสตร์ผ่านการตอบคำถามบัตรคำความรู้ภูมิศาสตร์ เพื่อนำความรู้นั้นไปใช้ในการตอบคำถามช่วงรายการแฟนพันธุ์

- คุณครูเตรียมบัตรคำความรู้ภูมิศาสตร์เอาไว้ประมาณ 40 – 50 ใบ (ในบัตรคำนี้จะมีเฉพาะคำถาม)

- ครูชี้แจ้งรายละเอียดกิจกรรมช่วงแรก (กิจกรรมในช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที) โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน จากนั้นตัวแทนกลุ่มออกมารับบัตรคำความรู้ 5 ใบ/กลุ่ม โดยทุกคนในกลุ่มจะได้รับบัตรคำคนละ 1 ใบ ซึ่งแต่ละใบจะมีคำถามที่แตกต่างกัน จากนั้นให้แต่ละคนแยกย้ายกันไปหาคำตอบ (ไม่จำกัดวิธีการหาคำตอบ สามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือหนังสือในการสืบค้นได้ตามสะดวก) แล้วจึงนำคำตอบที่ได้มาปรึกษากับเพื่อน ก่อนจะเขียนตอบลงในกระดาษใบงาน แล้วนำคำตอบที่ได้มาตรวจกับคุณครูว่าคำตอบที่ช่วยกันหามาถูกต้องหรือไม่

.

หากตอบผิดครูก้อยจะให้โอกาสไปหาคำตอบใหม่อีกครั้ง (ข้อที่ผิดจะถูกหักคะแนนข้อละ 2 คะแนน แล้วให้เขียนคำตอบที่ถูกต้องลงไป เพื่อใช้สำหรับขั้นตอนถัดมา)

(ทั้งนี้ครูก้อยตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่า แต่ละกลุ่มจะมีแต้มอยู่ก่อนแล้วกลุ่มละ 20 คะแนน หากตอบผิดในข้อใด ข้อนั้นจะต้องถูกหักคะแนนไป 2 คะแนน)

 

ช่วงที่ 2 วนฐานเพื่อสะสมความรู้เพิ่มเติม

เมื่อทุกคนตอบคำถามกระดาษใบงานของตนเองถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลา เปลี่ยนฐานเพื่อสะสมความรู้ทางภูมิศาสตร์เพิ่มเติมจากเพื่อนบ้านข้าง ๆ ก่อนจะใช้คลังความรู้เหล่านี้ในการประลอง

ในส่วนนี้นักเรียนจะมีเวลา เพื่อเข้าเก็บความรู้จากเพื่อนกลุ่มอื่นที่ได้ชุดคำถามแตกต่างจากตนเอง

 

ช่วงที่ 3 รายการแฟนพันธุ์แท้ภูมิศาสตร์ เริ่มได้!

ก่อนเริ่มต้นรายการแฟนพันธุ์แท้ภูมิศาสตร์ นักเรียนช่วยกันเก็บบัตรคำความรู้ส่งคืน ก่อนที่คุณครูจะอธิบายวิธีการแข่งขัน

ครูแจก post-it ให้แต่ละกลุ่ม กลุ่มละ 10 – 20 ใบ เพื่อใช้ในการตอบคำถาม แต่ละกลุ่มเตรียมปากกาและคนเขียนคำตอบ

คำถามทั้งหมดจะมีประมาณ 10 – 20 ข้อ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเวลาที่เหลืออยู่ในชั่วโมง) โดยครูก้อยจะสุ่มเลือกคำถามของแต่ละกลุ่มมาใช้ในการแข่งขันอย่างเท่า ๆ กัน แล้วเพิ่มชุดคำถามใหม่ที่นักเรียนไม่เคยรู้มาก่อนลงไปด้วย

.

โดยวิธีการถามคำถามจะเริ่มต้นด้วยคำถามง่าย ๆ ก่อน เพื่อให้นักเรียนตอบได้และมีความมั่นใจมากขึ้นในการพยายามตอบในข้อต่อไป ๆ จากนั้นจึงไต่ระดับด้วยการเพิ่มความยากของชุดคำถาม

เกณฑ์การให้คะแนน: 50 แต้ม สำหรับคำถามที่ใช้เวลาคิด 30 วินาที และ 300 แต้ม สำหรับคำถามที่ใช้เวลาคิด 1 นาที (ในส่วนของคะแนนสะสม ครูก้อยฝากบอกว่าคุณครูท่านอื่น ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสะดวก และแอบกระซิบว่ายิ่งให้คะแนนเว่อวัง ความปังในการตอบจะมีมากขึ้นค่ะ) เมื่อพร้อมแล้วก็เริ่มรายการแฟนพันธุ์แท้กันเลย

 

ช่วงที่ 4 สรุปบทเรียนช่วงท้ายรายการ

ครูก้อยสรุปบทเรียนรวมกันกับนักเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาภูมิศาสตร์ที่นักเรียนได้ตอบคำถามในวันนี้ เป็นอันจบรายการแฟนพันธุ์แท้

 

เช็คเทป (ผลลัพธ์)

จากการให้นักเรียนได้ลองเป็นผู้เข้าแข่งขันรายการแฟนพันธ์แท้ภูมิศาสตร์ ครูก้อยสังเกตเห็นว่านักเรียนสนุก เกิดความสงสัย และพยายามหาคำตอบ

“อันนี้มันอัพเดตแล้วนะคะครู” – นักเรียนแสดงความคิดเห็น เพื่อบอกข้อมูลที่ได้สืบค้นมา
“ถ้าผมไม่ได้เรียนกับครู ผมจะไม่รู้ว่าประเทศของเราอยู่ในทวีปเอเชีย” – เสียงสะท้อนจากห้องเรียนภูมิศาสตร์

“ในฐานะครู เราก็ว้าวกับคำตอบของเด็กเหมือนกัน เพราะบางครั้งเขามีข้อมูลโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่อัพเดตใหม่ เราเองก็ได้เรียนรู้ไปกับเด็กค่ะ” – ครูก้อย พรวิมล สว่างชม

 

บางครั้งการเริ่มต้นออกแบบห้องเรียนที่มีความหมายที่สุดสำหรับนักเรียน ก็เริ่มต้นจากสิ่งที่ธรรมดาแต่พิเศษที่สุด นั่นคือ รอยยิ้มของพวกเขา และไม่เพียงแต่นักเรียนที่ได้เรียนรู้ แต่เราในฐานะครูก็ได้ร่วมเรียนรู้ไปกับพวกเขาเช่นกัน

คอลัมนิสต์ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณครูทุกท่านและทุกการออกแบบห้องเรียนนะคะ

 

ขอบคุณเรื่องราวแรงบันดาลใจจาก ครูก้อย พรวิมล สว่างชม - คุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (รุ่น 1) ปัจจุบันเป็นคุณครูประจำวิชามนุษย์และสังคม โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์

เรียบเรียงและแบ่งปันโดย ครูเท็น ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(9)