ค่ายภาษาอังกฤษในช่วงฤดูร้อนที่เริ่มต้นจาก “คุณครูคะ สอนพิเศษให้พวกหนูหน่อยได้ไหมคะ" ครูเต๋อจึงออกแบบการเรียนรู้จากพื้นฐานความชอบและความสนใจของนักเรียน ภาษาอังกฤษที่เป็นยาขมจึงออกรสหวาน ท่ามกลางหัวใจการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ แง่มประตูออกมาท้าทายความเชื่อของพวกเขาเอง
“มันเริ่มต้นมาจาก...นักเรียนมาขอให้เราช่วยสอนพิเศษภาษาอังกฤษในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน” และ “เราอยากให้มันเป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ไม่ใช่การเรียนที่เคร่งเครียด” - ครูเต๋อ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 5
ครูเต๋อเริ่มต้นจากสำรวจความชอบและความสนใจของนักเรียน จนพบว่านักเรียนชื่นชอบ K-pop และ Harry Potter จึงนำความสนใจนั้นมาออกแบบการเรียนรู้ในช่วง summer camp ให้กับพวกเขา
ครูเต๋อใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการทำค่ายภาษาอังกฤษ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงการเรียนรู้ และตั้งเป้าหมายสุดท้ายร่วมกับนักเรียนว่า “ทุกคนจะต้องพูดแนะนำตัวได้”
ช่วงที่ 1 “เปิดหู” เพื่อ “เปิดใจ”
ครูเต๋อเริ่มต้นฝึกฝนทักษะการฟังของนักเรียน ด้วยการร่วมกันดูรายการ K-pop ที่จะมี subtitle เป็นภาษาอังกฤษ, ภาพยนตร์ที่มีบทพูดเป็นภาษาอังกฤษ หรือแม้กระทั่งบทพูด (speech) ของ BTS
“เราถอดซับจากรายการของ GOT 7 โดยตั้งข้อสังเกตว่าอะไรเป็นสิ่งที่เด็กน่าจะไม่รู้แล้วขีดเส้นใต้ไว้” ครูเต๋อกล่าวถึงการออกแบบการสอน
โดยจะแบ่งเป็นการฝึกฝนทักษะการฟัง (Practice) แล้วตามด้วยแบบฝึกหัด (Test) จากนั้นจึงมาสะท้อนกันว่าเพราะอะไรจึงเลือกตอบแบบนี้ (Discussion)
มุมมองของครูต่อการออกแบบค่าย summer camp
"ภาษาคืออะไรที่ดูซ้ำ ๆ ไม่มีใครอ่านปุ๊บแล้ว get"
"อะไรไม่รู้ เรามาเรียนรู้ เพื่อจะรู้เพิ่ม"
ช่วงที่ 2 แบบทดสอบ และ บ้านคัดสรรค์
หลังจากที่ทุกคนได้ฝึกฝนการฟังจนเกิดความชำนาญแล้ว ครูเต๋อก็จัดกิจกรรม “บ้าน Harry Potter”
หากใครที่เป็นแฟนของ Harry potter จะรู้ดีว่า เหล่าพ่อมดแม่มดจะได้รับการคัดสรรให้อยู่ประจำบ้านต่าง ๆ (คลิปการคัดสรรพ่อมดแม่มดประจำบ้าน) ครูเต๋อจึงใช้ไอเดียนี้มาสร้างจินตนาการร่วมกับเด็ก ๆ โดยให้พวกเขาได้แปลงร่างเป็นตัวละครพ่อมดแม่มด พร้อมตั้งชื่อบ้านขึ้นมาใหม่ในสไตล์ของตัวเอง
หลังจากนั้นครูเต๋อย้ำภารกิจสุดท้ายแก่ทุกคนอีกครั้ง นั่นคือ "ทุกคนจะต้องพูด speech เพื่อแนะนำตัว" โดยบอกว่าเรามาจากบ้านอะไร เป็นตัวละครไหน และทำไมจึงเลือกเป็นตัวละครนั้น โดยคุณครูจะให้นักเรียนเตรียมบทพูดคนละ 1 ใน 3 ของหน้า A4 เป็นอย่างน้อย และจะให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมก่อนหลาย ๆ รอบ เพื่อให้นักเรียนเกิดความสบายใจก่อนจะมาพูดหน้ากล้อง
เสียงสะท้อนจากเด็ก ๆ ค่าย summer camp
“ตอนแรกจะล้มเลิกที่จะเรียนภาษาอังกฤษ แต่เสียดายความรู้ตอน summer camp”
“คิดถึงตอน summer camp”
“ครูค่ะ หนูอยากจะเข้าอักษรฯ”
มุมของครู
“เขาดูเปิดโลก เขาไม่เคยได้พูดอะไรแบบนี้เท่าไหร่”
“Summer camp เหมือนเป็นสมอที่ดึงเขาไว้ที่โรงเรียน ให้เขาได้มีกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียน”
“นักเรียนรู้สึกเป็นมิตรกับสิ่งที่จะเรียนมากขึ้น”
“เราสนุกที่จะเรียน เราสบายใจที่จะเรียน นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับนักเรียน”
บางครั้งการเริ่มต้นทำบางสิ่งจากความชอบ ก็ช่วยเปลี่ยนสิ่งตรงหน้าให้กลายเป็นความสุข...ความสุขที่จะได้เรียนรู้ นั่นเองก็อาจนำมาสู่ผลลัพธ์ที่เกินกว่าหัวใจของเราจะคาดเดา
คอลัมนิสต์ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกพื้นที่การเรียนรู้ที่กล้าจะเริ่มต้นจากการ “ฟัง” เสียงของ “ความชอบ” เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่มีความสุข และมองเห็นความเป็นไปได้ที่มากกว่า
ขอบคุณเรื่องราวแรงบันดาลใจจาก ครูเต๋อ ปวิณา วัฒนาภา ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (รุ่น 5)
เรียบเรียงและแบ่งปัน โดย ครูเท็น ศิริลักษณ์ สุทธิช่วย
ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้
สามารถนำแนวคิดไปปรับใช้กับระดับประถมปลายได้ แต่ต้องประยุกต์ใช้ให้เนื้อหาง่ายขึ้น เชื่อมโยงกับเรื่องที่เด็กเข้าใจง่ายขึ้น และควรเพิ่มตัวอย่างการฝึกและตัวอย่างแบบทดสอบ จะทำให้เห็นภาพกระบวนการในห้องเรียนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย