icon
giftClose
profile

เล่าเรื่องเพศศึกษา ผ่านตุ๊กตาหมี

25402
ภาพประกอบไอเดีย เล่าเรื่องเพศศึกษา ผ่านตุ๊กตาหมี

สอนเรื่องยาก ๆ ให้เด็กเข้าใจง่าย ๆ ผ่านตัวละครบทบาทสมมติ

ในยุคที่หลายคนเติบโตมากับภาพจำที่ถูกหล่อหลอมมาจากค่านิยมของสังคมเกี่ยวกับความเป็นชายและหญิง ประเภทที่ว่า “ผู้ชายต้องเข้มแข็งและห้ามร้องไห้” หรือ “ผู้หญิงต้องนุ่มนวลและเปราะบาง” และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายครั้งความคิดเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของความคาดหวัง และการทำร้ายจิตใจกันโดยที่เราไม่รู้ตัว



ครูปุ๊บ (ฐานิตา ภูวนาถนรานุบาล) อดีตครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่สนใจเจตคติเรื่องเพศในสังคมไทยเป็นพิเศษ ประกอบกับความชอบการ์ตูน การวาดรูป และการเล่าเรื่อง เธอจึงคิดว่าจะดีแค่ไหน หากสิ่งที่ตนชอบสามารถนำมาสอนได้จริง ๆ และทั้งหมดจึงกลายเป็นที่มาของ “เทคนิคการสอนผ่านตัวละครบทบาทสมมติ” ที่เรากำลังจะเล่าให้ฟัง

 


ก่อนอื่น ขอแนะนำให้รู้จักกับ “Beth และ Brainy” สองตัวละครสมมติ ที่ครูปุ๊บสร้างขึ้นจากแผ่นกระดาษ เธอวาดภาพ ระบายสี และตัดออกมาเป็นรูปตุ๊กตาหมี ขนาดพอดีกับกระดานดำ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เธอตั้งใจว่าจะเอาสิ่งนี้มาช่วยสอนเรื่อง conversation วิชาภาษาอังกฤษของตนเอง แต่ไปๆ มาๆ ใครจะคิดว่าน้องหมี 2 ตัวนี้ จะสามารถใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องเพศได้อีกด้วย

 

โดยที่มาที่ไปนั้นเริ่มจาก วันหนึ่งในระหว่างที่ครูปุ๊บกำลังสอนภาษาอังกฤษตามปกติ ไม่รู้อะไรดลใจให้ครูปุ๊บอยากสอนสอดแทรกเรื่องเพศศึกษา เธอจึงกำหนดสถานการณ์ให้ตุ๊กตาหมีทั้งสองตัวสลับบทบาทกัน โดยให้ Brainy ซึ่งเป็นหมีผู้ชายโดนรังแกจนร้องไห้ ในขณะที่ Beth ที่เป็นหมีผู้หญิงเข้ามาปลอบ ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เด็ก ๆ ในห้องเรียนให้ความสนใจ จนเริ่ม เอ๊ะ...

 

ผู้ชายก็ร้องไห้ได้เหรอคะครู

ทำไมผู้หญิงถึงใส่สูทล่ะครับ

ทำไม ทำไม และทำไม …

 


ช่วงเวลาที่เด็ก ๆ แข่งกันตั้งคำถามนี้เอง ครูปุ๊บจึงค่อย ๆ อธิบายความรู้ และสอดแทรกแนวคิดเรื่องเพศที่ถูกต้องให้เด็ก ๆ ทั้งเรื่องที่ว่า เพศชายไม่ต้องเข็มแข็ง และเพศหญิงไม่จำเป็นต้องอ่อนแอกว่าเสมอไป หรือการแต่งตัวไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพศ เป็นต้น ก่อนจบคาบเรียน ครูปุ๊บยังไม่ลืมให้คำถามทิ้งท้ายในเรื่องเพศที่สอนมาทั้งหมด ให้เด็กทุกคนได้ทบทวนความเข้าใจกันอีกครั้ง

 


คำแนะนำเพิ่มเติม


นอกจากเรื่องเพศศึกษาแล้ว ตัวละครเหล่านี้ยังสามารถนำไปสอนในเนื้อหาอื่น ๆ ได้อีกด้วย เพียงคุณครูปรับเปลี่ยนบทบาทของตุ๊กตาให้สอดคล้องกับเนื้อหานั้น ๆ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ครูปุ๊บเคยลองนำมาใช้สอนหลาย ๆ คลาส เธอพบว่าตัวละครสมมติเหล่านี้เป็นสื่อการสอนที่ยืดหยุ่น และให้ผลลัพธ์การสอนที่ดีมาก

 

กลายเป็นว่าไม่ว่าครูปุ๊บจะสอนเรื่องอะไร เพียงแค่มีตุ๊กตาที่เป็นตัวแทน 1 – 2 ตัว เพิ่มการแต่งตัวนิด ปรับบทพูดอีกหน่อย เท่านี้ก็ช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้แล้ว โดยตุ๊กตาจะทำหน้าที่เชื่อมโยงเนื้อหาที่กำลังสอน ให้เด็ก ๆ นึกภาพตามได้ง่าย จึงทำให้การเรียนในเนื้อหายาก ๆ ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

 



อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่าเทคนิคนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำไปใช้จริง เพราะต้องอาศัยความสามารถและจุดเด่นของคุณครู ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเล่าเรื่อง การสร้างและกำหนดบทบาทของตัวละครให้เหมาะสมกับความสนใจของเด็ก ๆ แต่ครูปุ๊บก็แนะนำว่า แม้จะยากพอสมควรสำหรับครูบางคน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะจากที่เล่าไปข้างต้นว่าเทคนิคนี้ค่อนข้างยืดหยุ่น ดังนั้นครูทุกคนจึงสามารถปรับให้เหมาะกับสไตล์ของตนเองได้โดยไม่จำกัดรูปแบบ เช่น ครูบางคนพูดไม่เก่ง อาจลองเปิดเป็นวิดีโอหรือเสียงประกอบ หรือถ้าไม่ถนัดวาดภาพเอง อาจหาเป็นภาพจากอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน

 

สุดท้ายนี้ ถ้าคุณครูท่านไหนลองนำไปใช้ แล้วได้ผลเป็นอย่างไร อย่าลืมมาแชร์กันนะคะ

 

 

 

 

 

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(1)