icon
giftClose
profile
frame

ยิงคำถาม ผ่านเกมโจรสลัด

52004
ภาพประกอบไอเดีย ยิงคำถาม ผ่านเกมโจรสลัด

เกมถามคำถาม ที่กระตุ้นให้เด็กอยากตอบ

เคยไหม ที่ถามคำถามออกไป แล้วไม่มีใครตอบกลับเลย หรือเคยไหมที่สอนไปแล้วห้องเงียบผิดปกติ ไม่มีเด็กถามคำถามเลยแม้แต่คนเดียว

แต่ก่อนที่จะรู้สึกหมดหวังกับสถานการณ์ข้างต้น เราอยากชวนครูทุกคน มาอ่านเทคนิคดี ๆ ที่ ครูริบบิ้น (ลักษณาภรณ์ จุลพันธ์) นำมาแชร์กัน ในเกมที่มีชื่อว่า “เกมโจรสลัด” เกมนี้มีวิธีการเล่นอย่างไร จะสนุกแค่ไหน หรือช่วยให้เด็กกล้าถาม-ตอบได้อย่างไร มาติดตามกันเลย

 

กว่าจะเป็นเกมโจรสลัด

ครูริบบิ้นเล่าว่า สมัยก่อนตอนเป็นนักเรียน ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้ายกมือถามคำถาม หรือไม่มั่นใจในการตอบคำถามเช่นกัน รวมถึงหลายครั้งยังรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยเฉพาะวิชาที่ครูสอนแบบบรรยายอย่างเดียว เช่น วิชาสังคมศึกษา


ดังนั้นปัจจุบัน เมื่อครูริบบิ้นต้องกลายเป็นครูสอนวิชาสังคมแบบเต็มตัว เธอจึงพยายามคิดหาวิธีที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สนุกกับการเรียนและกล้าแสดงความคิดเห็น หรือเทคนิคอะไรก็ได้ที่มาเปลี่ยนให้วิชาสังคมที่หลายคนมองว่าน่าเบื่อ กลายเป็นคาบเรียนที่มีสีสันและน่าเรียนมากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของเกมนี้



เมื่อครูต้องรับบท โจรสลัด


อย่าเพิ่งตกใจที่เรากำลังจะบอกว่า คาบเรียนนี้ครูต้องรับบทเป็นโจรสลัดยิงเรือ โดยเรือในที่นี้หมายถึงเรือโจรสลัดที่มีนักเรียนทุกคนเป็นลูกเรือนั่นเอง เริ่มแรกครูต้องแบ่งนักเรียนออกเป็น 5 - 6 กลุ่ม กลุ่มละ 3 - 4 คน (จำนวนกลุ่มและสมาชิกในกลุ่มสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของแต่ละห้องเรียน) จากนั้นให้หนึ่งกลุ่มเทียบเท่ากับเรือโจรสลัดหนึ่งลำ และกำหนดให้เรือแต่ละลำมีค่าพลังเป็นของตนเอง โดยก่อนเริ่มเกมเรือทุกลำจะมีพลังเท่ากันคือ 100 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงระหว่างที่เกมดำเนินไป และค่าพลังของเรือทุกลำจะถูกแสดงบนกระดานหน้าห้อง

 



เปิดสงครามโจรสลัด


ครูริบบิ้นอธิบายวิธีการเล่นเกมนี้ให้เราฟังง่าย ๆ ว่า ครูที่เป็นโจรสลัดจะค่อย ๆ ยิงคำถามทีละข้อ ไปที่เรือแต่ละลำ และจะกำหนดเวลาให้ตัวแทนลูกเรือตอบคำถาม เช่น ภายใน 2 นาทีนี้ ถ้าลูกเรือตอบคำถามไม่ได้หรือตอบผิด ค่าพลังของเรือลำนั้นก็จะลดลงทันที จากนั้นพอจบเกมครูและนักเรียนก็จะมาช่วยกันสรุปว่า เรือลำไหนมีค่าพลังมากที่สุด และเรือลำนั้นก็จะกลายเป็นผู้ชนะทันที


แต่ความสนุกของเกมไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะในระหว่างที่เกมเข้าสู่ช่วงคำถามข้อยาก ๆ ที่เด็กส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ ครูอาจจะเพิ่มตัวช่วยเข้ามา เช่น ให้เด็กเลือกถามเทพโพไซดอน หรือเปิดเปลือกหอยวิเศษ เพื่อรับคำใบ้ที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าอยากเพิ่มความน่าสนใจของเกมเข้าไปอีก อาจลองเพิ่มกติกาที่แตกต่างออกไป เช่น จากเดิมที่ครูจะเป็นฝ่ายถามคำถามฝ่ายเดียว อาจลองเปลี่ยนใหม่เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนถาม-ตอบกันเองระหว่างกลุ่ม ถ้าเรือลำไหนตอบไม่ได้ค่าพลังก็จะลดลง ในขณะที่ฝ่ายตั้งคำถามก็จะได้พลังเพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

ตัวอย่างการนำมาใช้


วัตถุประสงค์ของเกม : ทบทวนเรื่องพุทธศาสนสุภาษิต


ขั้นตอนการเล่น


1. ครูเตรียมคำถามสำหรับเด็กแต่ละกลุ่มไว้แล้วล่วงหน้า เช่น

- จงอ่านพุทธสุภาษิต “อตฺตนา โจทยตฺตานํ” ให้ถูกต้อง

- ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มาจากพุทธศาสนสุภาษิตว่าอะไร

- ยกตัวอย่างสถานการณ์ตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อปฺปมาโท อมตํปทํ.”

- “ขนฺติ ธีรสฺสลงฺกาโร.” แปลว่าอะไร

ฯลฯ


2. แบ่งเด็กออกเป็น 5 – 6 กลุ่ม กลุ่ม 4 - 5 คน 


3. ครูเลือกยิงคำถามไปที่เรือแต่ละลำ ถ้าเด็กตอบไม่ได้ ครูอาจจะเพิ่มตัวช่วยให้เด็ก ๆ เลือก เช่น ถามเทพโพไซดอน เปิดหอยวิเศษ ที่อาจจะมีคำใบ้ของคำตอบข้อนั้น ๆ


4. สุดท้ายจบเกม ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปคะแนน โดยเรือลำไหนที่มีพลังเหลือเยอะที่สุด จะถือว่าเป็นผู้ชนะ

 

ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว


จากประสบการณ์ที่ครูริบบิ้นเคยลองเล่น ก็พบว่านอกจากเกมนี้จะสะท้อนให้ครูเห็นว่าเด็กเข้าใจตัวเนื้อหาหรือไม่แล้ว ยังช่วยฝึกกระบวนการคิดและการทำงานเป็นทีมอีกด้วย เพราะตลอดการเล่นเกม เด็กทุกคนต้องช่วยกันคิด รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จนกว่าจะได้มาซึ่งคำตอบสุดท้ายที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม


ที่สำคัญครูริบบิ้นยังบอกว่า เทคนิคนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลาย ๆ วิชา เพียงแค่ครูผู้สอนปรับเปลี่ยนคำถาม และกฎกติกาให้สอดคล้องกับเรื่องที่สอน เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของเกมนี้ คือ ต้องการวัดความเข้าใจของเด็กในเรื่องนั้น ๆ และช่วยให้เด็กได้ทบทวนเนื้อหาก่อนสอบนั่นเอง

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า หากจะนำเกมนี้ไปใช้กับเด็กเล็ก ครูอาจต้องปรับระดับความยากง่ายของคำถาม รวมถึงเพิ่มกฎกติกาอื่น ๆ เข้าไป เพื่อคุมกิจกรรมภาพรวมไม่ให้เกิดความวุ่นวายจนเกินไป

 



สุดท้ายนี้ครูริบบิ้นและทีมงาน inskru หวังว่าไอเดียนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณครู หากว่าครูท่านใดลองนำเทคนิคนี้ไปใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างไร หรือมีความคิดดี ๆ อยากจะเสริมเพิ่มเติม อย่าลืมมาเล่าให้เราฟังด้วยนะคะ 😊

 

 

 

 

 

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(29)
เก็บไว้อ่าน
(31)