ภูมิศาสตร์เหมือนยาขม
“เรื่องภูมิอากาศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ยากมากๆ ในการเรียนและทำความเข้าใจ เพราะปกตินักเรียนจะต้องพยายามจำเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปน (Waldimir Koppen) ว่าแต่ละเขตว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ให้ได้ทั้งหมด” - ครูซัน ชยานันต์ ปรางจโรจน์
เมื่อพูดถึง ‘ภูมิศาสตร์’ นักเรียนหลายคนอาจส่ายหน้าด้วยความเบื่อหน่าย เพราะการเรียนภูมิศาสตร์แบบเดิมๆเน้นการท่องจำ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อประเทศ ชื่อเมือง สถานที่สำคัญ สภาพอากาศ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งการเรียนวิธีนี้ขัดแย้งกับหัวใจสำคัญของการเรียนภูมิศาสตร์ที่ต้องการเห็น “(นักเรียน)สามารถคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและกิจกรรมของมนุษย์กับพื้นที่ได้”
กว่าของการจำ คือความเข้าใจและการนำไปใช้
ขณะดูการ์ตูนโดราเอมอน ครูซันเกิดปิ๊งไอเดียการสอนเรื่อง ‘ภูมิอากาศ’ ที่สนุกและน่าสนใจมากขึ้น ด้วยการนำไปประยุกต์กับกิจกรรมที่ชื่อว่า “ขอของวิเศษให้ฉันหน่อยสิ”
โดยกิจกรรมที่ใช้ในห้องเรียนมีดังนี้
1. เริ่มต้นครูถ่ายทอดความรู้ในด้านปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิอากาศที่แตกต่างกัน อันได้แก่ ที่ตั้ง/ละติจูด, ภูมิประเทศ, กระแสลม และกระแสน้ำ โดยการอธิบายจะใช้ประกอบกับการให้เห็นภาพประกอบ
2. ขั้นต่อมาครูนำนักเรียนเข้าสู่บทเรียน เรื่องการแบ่งภูมิอากาศแบบเคิปเปิน ซึ่งครูจะแบ่งง่ายๆ โดยย่อความละเอียดของเขตภูมิอากาศลงเหลือเพียง 6 เขตภูมิอากาศ ได้แก่ A (ร้อนชื้น), B (แห้งแล้ง), C (อบอุ่น), D (หนาว), ET (ขั้วโลก) และ H (ที่สูง) ทั้งนี้ให้ครูใช้แผนที่ประกอบ และลองยกภาพตัวอย่างของเขตภูมิอากาศแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เห็นภาพที่แตกต่างมากขึ้น นักเรียนจะสามารถเรียนรู้จากภาพและนำไปประกอบกับความรู้เดิมได้ดีกว่าการอ่านข้อความทั่วไป
3. นำเข้าสู่กิจกรรม “ขอของวิเศษให้ฉันหน่อยสิ” โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยๆ จากนั้นให้นักเรียนสุ่มจับหัวเขตภูมิอากาศมา 1 เขต (จากทั้งหมด 6 เขต) และให้นักเรียนทำกิจกรรม โดยสมมุติให้นักเรียนต้องอยู่อาศัยในเขตภูมิอากาศที่กลุ่มตัวเองจับได้ และให้นักเรียนออกแบบสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำ 1 อย่าง เพื่อให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในเขตภูมิอากาศนั้นได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการออกแบบทำใส่ในกระดาษ วาดภาพระบายสี พร้อมอธิบายชื่อสิ่งประดิษฐ์ หลักการทำงาน และเหตุผลของการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่าสามารถช่วยให้ดำรงชีวิตในเขตภูมิอากาศที่ได้ได้ง่ายขึ้นอย่างไร ขั้นตอนนี้ครูจะเป็นผู้ช่วยให้การตอบข้อสงสัยของนักเรียนแต่ละกลุ่มระหว่างทำกิจกรรม
4. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงาน พร้อมกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งนี้ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปลักษณะเด่นของแต่ละเขตภูมิอากาศหลังจากแต่ละกลุ่มนำเสนอไปด้วย และลองเปรียบเทียบความคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากเขตอากาศในประเทศไทยอย่างไร เพื่อช่วยเสริมสร้างภาพการจดจำให้แก่นักเรียน
ทุกไอเดียต่อยอดได้
กิจกรรมนี้สามารถประยุกต์เพิ่มเติมโดยให้ทำเป็นโครงงานสิ่งประดิษฐ์จริงๆ เพื่อทดลองใช้ได้ หรือนำไปประยุกต์กับวิธีสอนในวิชาภูมิศาสตร์ หรือรายวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ (ธรณีวิทยา หรือ IS ก็ได้) เป็นต้น
ผู้เขียนเชื่อว่าทุกการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากและน่าเบื่อแค่ไหน ก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากครูเข้าใจบริบทและความเป็นนักเรียนของนักเรียนที่ได้สอน
เข้าใจความเป็นนักเรียนนั้นเป็นยังไง อาจจะหาคำตอบได้จากตอนที่เราเป็นนักเรียนเอง
ขอขอบคุณการแบ่งปันไอเดียและสื่อการสอนของครูซัน ชยานันต์ ปรางจโรจน์
ครูสอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนพระแท่นดงรังวิทยาคาร
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!