icon
giftClose
profile

แรงบันดาลใจอยู่รอบตัวเรา

16370
ภาพประกอบไอเดีย แรงบันดาลใจอยู่รอบตัวเรา

แท้จริงแล้วแรงบันดาลใจในการออกแบบไอเดียการสอนก็อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้เอง เพียงแต่บางครั้งเราตั้งความคาดหวังไว้สูง จนมองข้ามมันไป

ในชีวิตความเป็นครูสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรากังวลมาก คือ การคิดไอเดียการสอน เราตั้งเป้าหมายให้ไอเดียของเราแปลกใหม่ และมีผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ทำให้หลาย ๆ ครั้งรู้สึก “ตัน” จน “เหนื่อย” แต่การเข้าร่วมวงคุ้ยของนักออกแบบการเรียนรู้ในโครงการ ED’s Possible: Inspiring Learning Designers 2021 ทำให้เรารู้สึกได้รับการเติมไฟและค้นพบว่าตนเองตั้งความคาดหวัง จนอาจลืมสังเกตสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว เพราะแม้แต่เป็นสิ่งเล็กน้อยที่สุดก็ทำให้เกิดปิ๊ง! ไอเดีย นำมาเชื่อมโยงกับการสอน และทำให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีได้

“บ้าน” เป็นฐานของการเรียนรู้

         เราชอบการตีความของ “ครูก้า” อ.กรองทอง บุญประคอง ผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ปฐมวัย ที่มีต่อคำว่า Home Based Learning การเรียนออนไลน์ในยุคโควิดสำหรับเด็กอนุบาลแน่นอนว่าผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเรียนรู้ ดังนั้น “สิ่งที่นักเรียนสามารถเรียนรู้จากการเรียนที่บ้าน คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว” ครูก้าจึงเริ่มต้นด้วยนิทาน “หัวใจดวงโตของอู๊ดๆ” ที่บอกเล่าการเดินทางของอู๊ด ๆ หมูน้อยที่รู้จักชื่นชมและมอบหัวใจกับสิ่งสวยงามที่ได้พบเจอ ชี้ชวนให้เด็ก ๆ วาดเขียนหัวใจและส่งต่อความรักให้คนในบ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเครียดระหว่างช่วงWork from home ของผู้ปกครอง และส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัว (Link ไอเดียการสอน)

ศิลปะ การทดลอง และธรรมชาติ

         พอมัธยมครูโยนหัวข้อให้ไปทำอันนู้นอันนี้มาแล้วก็ปล่อยแยกย้าย เราไม่ได้เข้าใจว่าศิลปะสุดท้ายแล้วเราต้องเรียนอะไร เราจะเอาไปใช้อะไร และเรียนไปเพื่ออะไร เราต้องเรียนอย่างไร นี่คือการบอกเล่าความสงสัยเมื่อสมัยที่ยังเป็นนักเรียนของ “ครูเฟิร์น” คุณครูผู้เปิดสตูดิโอสอนศิลปะโดยมีแนวคิดที่ให้นักเรียนเรียนรู้แบบอิสระ และศิลปะอยู่ในทุกอย่างของชีวิตประจำวัน เรารู้สึกเชื่อมโยงกับการบอกเล่าของครูเฟิร์นเป็นอย่างมาก เพราะ เราก็เป็นนักเรียนคนนึงที่มองว่า ศิลปะเป็นแค่ “การวาดเขียน ระบายสี” และทำส่งตามหัวข้อที่ครูสั่ง ถ้าเราทำชิ้นงานออกมาไม่สวยแปลว่าเราไม่เก่ง แต่เมื่อได้ฟังไอเดียการสอนของครูเฟิร์นที่ก็ทำให้เราเข้าใจว่าศิลปะนั่นไม่มีกรอบ แต่คือ “การทดลอง” โดยเริ่มจากการฟังเสียงความช่างสงสัยของนักเรียน อยากลองทำพู่กันด้วยตนเอง โดยนำมาเชื่อมโยงกับ “ธรรมชาติ” พานักเรียนวิ่งกันเก็บกิ่งไม้ ใบหญ้า จนเกิดกระบวนการ “สังเกต”ความแตกต่างของผิวสัมผัส สนับสนุนให้นักเรียนลงมือ “ปฏิบัติ” จนเกิด “การสร้างสรรค์สิ่งใหม่” กิ่งไม้ ใบหญ้าก็รวมร่างกลายกันเป็นพู่กันหนึ่งเดียวในโลกของตนเองได้นั่นเอง (Linkไอเดียการสอน)

ความสุขเล็ก ๆ ของนักเรียนและตัวเรา

“ครูของเรา คือ นักเรียน พอเราทำ(กิจกรรม)ทุกอย่างกับเขา แล้วเขาดีใจกับความสำเร็จเล็กๆ เราก็ได้ข้อคิดว่าความสุขมันง่ายนะ เป็นครูทำไมเราต้องคาดหวังอะไรสูง ๆ ค่อย ๆ สุขไปทีละเรื่องก็ได้”  นี่คือความรู้สึกต่อการเป็นครูของ “ครูจอย” คุณครูประถมผู้สร้างไอเดียการสอนให้นักเรียนโอบอุ้มความหลากหลาย เพราะ สังเกตเห็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับกันในห้องเรียน ถ้าใครทำพลาดก็จะโดนรุมซ้ำเติม จึงพยายามสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข ออกแบบกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจตนเองและผู้อื่น (Linkไอเดียการสอน) ยิ่งไปกว่านั้นครูจอยยังผลักดันให้นักเรียนร่วมกันจัดกิจกรรมด้วยตนเอง โดย เปิดพื้นที่ให้ “แชร์” ความคิดเห็นร่วมกัน เพราะเสียงทุกเสียงของนักเรียนมีความสำคัญ อย่างการที่นักเรียนอยากลองประดิษฐ์ต้นคริสมาสต์ตกแต่งห้องเรียน ครูจอยก็เปิดโอกาสให้ลองทำด้วยตนเอง ไม่ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี แต่จะคอยให้คำแนะนำ ชวนให้นักเรียนหาข้อมูลวิธีทำด้วยตนเองจากแหล่งต่าง ๆ ต่อมาห้องเรียนของครูจอยกลายเป็นบริษัทออแกไนซ์เล็ก ๆ เพราะ คุณครูได้พานักเรียนก้าวออกจากห้องเรียนไปจัดกิจกรรมระดับโรงเรียน ก่อเกิดเป็นความสามัคคีและความภาคภูมิใจร่วมกัน "เราสังเกตเห็นผลลัพธ์ว่าพอนักเรียนกลุ่มนี้เลื่อนชั้นไปแล้ว ก็ไปไหนไปด้วยกัน ไม่ทะเลาะกันเหมือนแต่ก่อน" เมื่อเรามองเห็นรอยยิ้มและแววตาที่มีความสุขของครูจอยขณะที่กำลังเล่า ก็เหมือนได้รับการย้ำเตือนว่าไอเดียการสอนที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ แปลกใหม่เสมอไป แต่คือไอเดียการสอนที่นักเรียนก็มีความสุขที่จะเรียนรู้ และตัวเราที่มีความสุขเมื่อเห็นเขาค่อย ๆ เติบโตขึ้นทีละเล็กละน้อย

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)