icon
giftClose
profile

ไดอารี่ 365 วัน ฉันรักโลก

30380
ภาพประกอบไอเดีย ไดอารี่  365 วัน ฉันรักโลก

สอนสิ่งแวดล้อมอย่างไร ให้เด็กนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริง

ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทุกคนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ขยะทะเล ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาตัดไม้ทำลายป่า ปัญหามลพิษ PM 2.5 ฯลฯ ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหาเต็มไปหมด แม้ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกมาคุยกันมากขึ้น ผ่านการนำเสนอข่าว การรณรงค์ หรือมาตรการต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้เกิดความตระหนักรู้เท่านั้น แต่จะมีความหมายอะไร ถ้าเรารู้ว่าโลกเปลี่ยนไป แต่เรายังทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนเดิม



คุณครูกนก ครูผู้สอนวิชาภูมิศาสตร์ ที่ต้องสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงตั้งโจทย์ขึ้นมาในใจว่า จะสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไง ให้เด็กเปลี่ยนนิสัย เพื่อช่วยโลกได้จริง ๆ

 





สิ่งแวดล้อม 101

โดยทั่วไปหากเป็นการสอนตามหลักสูตร เรื่องสิ่งแวดล้อมมักจะถูกบรรจุไว้ในบทเรียนสุดท้ายของวิชาภูมิศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาว่าครูต้องเร่งสอนท้ายเทอมเพราะใกล้ช่วงสอบ ครูกนกจึงมองว่า การสอนแบบปกติ คงไม่สามารถสร้าง impact เรื่องได้แน่นอน จึงตัดสินใจสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในทุกคาบเรียน


เมื่อถามถึงเทคนิคการสอนสิ่งแวดล้อมร่วมกับเนื้อหาอื่น ๆ ครูกนกเล่าว่า ขั้นแรกครูต้องพยายามทำยังไงก็ได้ ให้เด็กรู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังสอนนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยอาจเริ่มด้วยการเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นความสนใจ ให้เด็กรู้สึกอินกับปัญหานี้ เมื่อพวกเขาสนใจมากพอ ส่วนใหญ่มักจะเกิดคำถามตามมา เช่น “คุณครูครับ ทำไมโลกของเราไม่น่าอยู่เลย ? ” นั่นแสดงว่าครูเริ่มมาถูกทางแล้ว


จากนั้นครูต้องคอยตั้งคำถามให้เด็กคิดหาความเชื่อมโยงของปัญหาไปเรื่อย ๆ โดยควรเป็นคำถามที่ช่วยกรอบมุมมองความคิดจากกว้างไปแคบ เพื่อให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และการเลือกสื่อการสอนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยสื่อการสอนที่ดีควรช่วยให้เห็นภาพและคิดตามได้ และสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังสอน เช่น แผนที่ flip chart รูปภาพ เป็นต้น



ไดอารี่สีเขียว

อีกหนึ่งไอเดียที่นับว่าเป็น Highlight ของการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ การทำบันทึกกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน ว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีการช่วยโลกแบบไหนกันบ้าง โดยไม่จำกัดรูปแบบ อาจเป็นพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การตัดสินใจเลือกเครื่องดื่มก่อนเปิดตู้แช่เครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ การช่วยปิดแอร์ทุกครั้งหลังเลิกเรียน การช่วยประหยัดน้ำในห้องน้ำที่โรงเรียน เป็นต้น


ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้จะรวบรวมเป็นแบบสอบถามสำหรับแจกให้เพื่อนห้องอื่น ๆ ได้ประเมินพฤติกรรมตนเองเช่นกัน และสุดท้ายคำตอบทั้งหมด ก็จะถูกยกมาพูดคุยในห้องเรียน เพื่อวิเคราะห์หาเหตุผลว่า เพราะอะไร คนส่วนใหญ่จึงทำแบบนี้ และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าท้ายที่สุด เด็กๆ ทุกคนได้ค้นพบว่าพฤติกรรมที่ช่วยโลกได้ มักเป็นพฤติกรรมที่ทำได้ไม่ยากเลย แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปมากกว่า





สิ่งที่สำคัญมากกว่าความรู้

ในคาบเรียนสุดท้าย สิ่งที่เด็ก ๆ เรียนมาทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็จะถูกประเมินผล โดยครูกนกจะให้เด็ก ๆ ออกมานำเสนอสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละคน เช่น บางคนอาจจะวาดภาพ ทำคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ครอบครัว ทำโปสเตอร์ หรือรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ไม่ได้มีการจำกัดรูปแบบการนำเสนอ เพราะครูกนกมองว่า ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเรื่องของทัศนคติ (Attitude) มากกว่าความรู้ (knowledge) นั่นเอง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(6)
เก็บไว้อ่าน
(3)