“ก็คณิตศาสตร์มันยาก พวกเราทำไม่ได้หรอกครู...”
หากได้ลองสุ่มถามความเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับวิชาที่เข้าใจได้ยากที่สุด คณิตศาสตร์คงเป็นหนึ่งในคำตอบที่นักเรียนเลือกเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องด้วยความเป็นศาสตร์แห่งการคำนวณไม่ใช่การท่องจำ อีกทั้งนักเรียนยังต้องเข้าใจแนวคิดที่แท้จริง และต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้ได้ ทำให้เมื่อนักเรียนพลาดเนื้อหาบางส่วนจะทำให้การเรียนในระดับถัดไปนั้นเป็นไปได้ยาก รวมถึงบางคนยังต้องมาพบเจอกับโจทย์ปัญหาสุดหฤโหด จนสุดท้ายก็ได้แต่ถอดใจ และโบกมือลาละทิ้งความพยายามต่อวิชาคณิตศาสตร์อย่างถาวร
ครูแฟร์ วรชาภา บรรยงคิด อดีตคุณครูวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ก็เป็นคุณครูอีกหนึ่งท่านที่พบเจอปัญหาดังกล่าว ทำให้ครูแฟร์ได้เลือกใช้เกมมาเป็นเครื่องมือในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะครูแฟร์เชื่อว่าเกมเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ทุกคนชอบ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทตื่นตัว ทำให้การเรียนรู้มีความสนุก และนักเรียนมีความกล้าที่จะเข้าถึงวิชาคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น
โดยในบทความนี้ครูแฟร์จะพาเหล่านักเรียนไปเป็นกัปตันเรือรบผู้เชี่ยวชาญด้านคู่อันดับของระบบพิกัด ที่พร้อมจะออกตามหาสมบัติและโจมตีเรือของคู่แข่งให้ราบเป็นหน้ากลอง!
จากกระดานหน้าห้อง สู่ท้องมหาสมุทร
แม้ครูแฟร์จะให้นักเรียนสวมบทบาทอยู่ในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ แต่การสูบน้ำเข้าห้องเรียนคงไม่ใช่สิ่งที่สมควรเท่าใดนัก ครูแฟร์จึงจำลองผืนมหาสมุทรผ่านการเขียนพิกัดของกราฟลงบนกระดานหน้าห้องเรียน พร้อมกำหนดตำแหน่งจุดเกิดของเรือแต่ละลำ, สมบัติและไอเทมต่าง ๆ ไว้ โดยในแต่ละพิกัดก็จะเป็นเส้นทางที่นักเรียนสามารถเดินเรือของตนเองได้ แต่การเดินเรือย่อมต้องพิจารณาให้ดี เพราะในบางพิกัดอาจมีไอเทมลับสำหรับทำร้ายเรือคู่ต่อสู้ หรือมีกับดักที่จะทำให้เรือของเราต้องอับปางลง ซึ่งไม่มีกัปตันเรือคนไหนรู้เรื่องนี้ นอกจากครูแฟร์ที่ถือครองกระดาษแผนที่แห่งท้องทะเลไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว
แบ่งกลุ่มแยกคน ยกพลขึ้นเรือ
เมื่ออุปกรณ์ได้ถูกจัดเตรียมขึ้นเรียบร้อยแล้ว ครูแฟร์จะทำการแบ่งนักเรียนออกเป็น 6-7 กลุ่ม แทนเรือรบแต่ละลำ ซึ่งจะมีลูกเรือ 4-5 คนต่อกลุ่ม โดยครูแฟร์จะเป็นผู้เลือกจัดกลุ่มนักเรียนเอง ผ่านการจัดกลุ่มให้ หรือใช้โปรแกรมสุ่มสมาชิกเข้ากลุ่ม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ในการทำงานกับคนที่หลากหลาย และไม่รู้สึกซ้ำจำเจในการเล่นครั้งถัด ๆ ไป อีกทั้งยังเป็นการควบคุมไม่ให้นักเรียนที่สนิทมาก ๆ อยู่ด้วยกัน อันจะส่งให้เกิดความวุ่นวายตามมาอีกด้วย
ศึกล่าสมบัติ พูดพิกัดให้ถูก!
ในส่วนของวิธีการเล่น เรือรบแต่ละลำจะสามารถเดินเรือได้ระยะสูงสุดที่ 2 หน่วย กล่าวคือ สามารถเดินเรือไปทางซ้าย, ขวา, บน หรือล่างได้ 1-2 หน่วย หรือไปในแนวทแยงได้เพียง 1 หน่วยเท่านั้น โดยนักเรียนจะต้องพูดตำแหน่งที่ต้องการเดินเรือไปในรูปแบบของคู่อันดับ (x, y) เมื่อเรือรบของนักเรียนไปตกที่พิกัดใด ครูแฟร์จะดูแผนที่ในมือและบอกสิ่งที่พบเจอ เช่น โดนกับดักทำให้เสียเลือด ได้ไอเทมกระสุนปืนที่มีระยะใช้งาน 3 หน่วย หรือเรือรบไม่ได้อะไรเลยจากพิกัดดังกล่าว เป็นต้น
เมื่อเรือรบหนึ่งลำเคลื่อนที่เสร็จสิ้น สิทธิการเดินเรือจะตกเป็นของนักเรียนกลุ่มลำดับถัดไป เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวนกลับมาที่เรือรบลำเดิมนับเป็นรอบใหม่ ซึ่งเรือแต่ละลำจะต้องเปลี่ยนผู้พูดพิกัดของเรือไม่ให้ซ้ำเดิมกับรอบก่อนหน้า เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม และเกมจะจบลงเมื่อเหลือผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียว
ในระหว่างเล่นกิจกรรมได้มีกรณีที่นักเรียนได้พูดคู่อันดับสลับกัน จาก (x, y) กลายเป็น (y, x) ทำให้เรือของกลุ่มตนเองเดินทางไปผิดที่และโดนเรือรบลำอื่นยิงจนอับปางอย่างน่าเสียใจ สุดท้ายนักเรียนทุกคนก็สามารถจำวิธีการเรียกคู่อันดับได้อย่างขึ้นใจ และใช้งานถูกมาโดยตลอด นับเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ครูแฟร์จดจำได้เป็นอย่างดี
เมื่อครูเป็นคนกำหนด กฎแห่งท้องทะเล
เกมเรือรบนี้ใช้เวลาในการเล่นรวม 50 นาที โดยแบ่งเป็นช่วงเล่นเกมรวมอธิบายกติกา 40 นาที และสรุปผลกิจกรรมอีก 10 นาที โดยในการสรุปกิจกรรมจะเป็นการตั้งคำถามให้นักเรียนได้เข้าใจว่าเกมนี้เล่นไปทำไม ใช้คณิตศาสตร์ในจุดไหน และครูแฟร์จะมอบการบ้านให้นักเรียนเพื่อตรวจสอบความเข้าใจอีกครั้ง
หากในระหว่างเล่นกิจกรรมเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น เรือรบลำหนึ่งอับปางตั้งแต่ 10 นาทีแรก ครูแฟร์จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้นักเรียนกลุ่มนั้นไม่รู้สึกอึดอัดในอีก 30 นาทีที่เหลือ จนได้ตั้งกฎพิเศษขึ้นมาให้เหล่ากัปตันได้กลายเป็นวิญญาณไปเกาะตามเรือคนอื่น ซึ่งก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างทันท่วงที
กัปตันผู้รอดตาย ย่อมได้ของรางวัล
ครูแฟร์เลือกให้รางวัลเป็นคำชมแก่นักเรียนเท่านั้น เนื่องจากไม่อยากจะฝึกให้เด็กได้ทำสิ่งหนึ่งเพื่อหวังผลตอบแทน แต่บางครั้งหากนักเรียนให้ความร่วมมือที่ดี ทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด ครูแฟร์ก็อาจจะให้ของตอบแทนเล็ก ๆ อย่างขนม สิทธิการเข้าห้องเรียนช้า หรือลดจำนวนการบ้านลง เป็นต้น
เกมเรือรบนับเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการสอนของครูแฟร์เท่านั้น แต่ทุกเกมที่ครูแฟร์ได้ทดลองใช้ก็นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยความสนุกที่สามารถครองใจนักเรียนได้อย่างอยู่หมัด และทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนดียิ่งขึ้น ครูแฟร์จึงเชื่อว่าเกมไม่ใช่ตัวร้ายที่คอยจะบั่นทอนผู้เล่น แต่มันคือเครื่องมือการสอนที่มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มความกล้าในการเรียนรู้ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี
“เพราะเกมไม่เคยบอกว่าผู้เล่นห่วย”
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย