“เดี๋ยวนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กเขาก็โทษเกม..”
ในห้องเรียนทรงลูกบาศก์ที่รวบรวมเหล่านักเรียนมากหน้าหลายตา ต่างความสามารถ ต่างความสนใจ ต่างนิสัยไว้ด้วยกัน การหาวิธีดึงดูดความสนใจเด็กทุกคนในห้องเรียนคงเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคุณครู ยิ่งในปัจจุบันที่นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น การแอบเล่นเกมภายในห้องก็เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง และนั่นก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กจัดการเวลาเรียนได้ไม่ดี ซึ่งส่งผลต่อคะแนนการส่งงานและผลการเรียนของนักเรียน จนสุดท้ายคุณครูต้องตัดสินใจยึดโทรศัพท์มือถือไปจนอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา
แต่ครูแฟร์ วรชาภา บรรยงคิด คุณครูวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะหากมองในอีกมุมหนึ่งแล้ว เกมกลับเป็นจุดศูนย์กลางที่คอยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนให้เข้ากันได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นช่วงยอดนิยมของเกม Realm of Valor (RoV) เกมโทรศัพท์ประเภท MOBA ที่เล่นได้ง่ายและสามารถเข้าถึงผู้เล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งนักเรียนกว่า 80% ที่ครูแฟร์พบเจอก็เล่นเกม RoV ด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน หรือแม้แต่คุณครูบางท่านเองก็ยังเล่นเกมนี้กับนักเรียนอีกด้วย
เมื่อเวทีคนกล้า ถึงเวลาโชว์ฝีมือเล่นเกม
ตามโรงเรียนทั่วไป เรามักจะพบเจอเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มาแสดงความสามารถของตนเอง ทั้งร้อง เต้น หรือทักษะวิชาการ แต่ครูแฟร์พบว่า “เกม” ยังไม่ถูกผลักดันให้เด็กได้แสดงความสามารถเท่าใดนัก ทำให้เทพเกมเมอร์ตัวน้อยผู้ไม่โดดเด่นด้านวิชาการหรือศิลปะ ไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ ส่งผลให้ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง และขาดความกล้าแสดงออก เมื่อนั้นครูแฟร์จึงได้จึงกิจกรรม RoV Battle ขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจเชิงบวกให้นักเรียนได้กล้าแสดงออก รวมถึงช่วยให้นักเรียนสามารถจัดการเวลาเรียนและเวลาเล่นเกมของตนเองได้
จัดเตรียมสนามแข่งขัน คนแข่งมันส์คนเชียร์ลุ้น
เมื่อได้แนวคิดในการจัดกิจกรรม RoV Battle ครูแฟร์ได้เลือกห้องเรียนห้องหนึ่งเป็นเวทีการแข่งขันอันยิ่งใหญ่ ในช่วงเวลาพักกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่เหล่าเกมเมอร์ฝึกหัดว่างและสามารถเข้าร่วมได้ทุกคน ซึ่งน่าประหลาดใจที่นักเรียนทุกเพศให้ความสนใจ และไม่ว่าจะเป็นเด็กเก่งหรือไม่เก่งก็มาเข้าร่วมกิจกรรมในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
ในส่วนของการเข้าร่วมแข่งขัน นักเรียนสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ในรูปแบบทีม ทีมละ 3 คน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานและสื่อสารร่วมกันเป็นทีม และไม่ใช้เวลาแข่งขันมากเกินไปเหมือนกรณีทีมละ 5 คน โดยครูแฟร์จะทำการจับฉลากและจัดการแข่งขันในรูปแบบทัวร์นาเมนต์ (Tournament) โดยเขียนตารางการแข่งขันลงบนโปสเตอร์ขนาด A4 เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันรู้เวลาที่แน่นอนและวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันของตนเองได้
นอกจากเหล่านักแข่งเลือดร้อนแล้วนั้น เหล่าพลพรรคกองเชียร์ก็สามารถเข้ามาให้กำลังใจในการแข่งขันได้ รวมถึงยังช่วยเป็นกรรมการตรวจสอบความทุจริต ซึ่งด้วยความสนิทสนมระหว่างนักเรียนและบรรยากาศชวนลุ้นตลอดเวลา จึงทำให้การแข่งขันมีความสนุกสนานครื้นเครงมากยิ่งขึ้น
แต่ด้วยความสนุกสนานดังกล่าวทำให้มีจำนวนนักเรียนในห้องเรียนมากเกินไป และส่งผลให้เกิดเสียงดังจนอาจรบกวนผู้อื่น ทำให้ครูแฟร์ต้องตัดสินใจจำกัดจำนวนคนดูให้เหมาะสม รวมถึงตั้งกติกาควบคุมเสียงในภายหลัง ซึ่งก็ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
ก่อนเข้าร่วมสมัคร โปรดตรวจสอบคุณสมบัติของคุณ!
กิจกรรม RoV Battle จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แสดงออกทางความสามารถของเหล่าเกมเมอร์ตัวน้อย แต่หากนักเรียนทุ่มเทกับการเล่มเกมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการเรียนได้ ครูแฟร์จึงต้องสอนให้นักเรียนจัดสรรเวลาของตนเองให้เป็นผ่านการตั้งคุณสมบัติผู้เข้าร่วมคือห้ามติด 0 ติด ร เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนต้องตามส่งงานและการบ้านให้ครบ ซึ่งนักเรียนจะต้องจัดการเวลาเรียนและเวลาส่งงานของตนเองให้ดี อีกทั้งนักเรียนยังต้องใช้โทรศัพท์มือถือของตนเองในการแข่งขัน ทำให้นักเรียนต้องยุติการเล่นเกมในห้องเรียน ซึ่งอาจทำให้คุณครูยึดโทรศัพท์ได้ แล้วหันมาฝึกซ้อมในช่วงเวลาพักเท่านั้น
เมื่อเด็กสู้สุดใจ เส้นชัยก็ต้องช่วยส่งเสริม
เมื่อมีการแข่งขัน ย่อมมีของรางวัลเป็นธรรมดา แต่หากของรางวัลจะเป็นเพียงขนมปี๊บสักถังก็คงไม่ได้ช่วยเพิ่มประโยชน์ให้นักเรียนแต่อย่างใด เมื่อนั้นครูแฟร์ได้ตัดสินใจติดต่อคนในวงการเกม จนสามารถเชิญชวนนักกีฬา E-Sport และนักพัฒนาเกมมาร่วมรับประทานอาหารกับนักเรียนทีมที่ชนะ พร้อมทั้งได้พูดคุยสอบถาม รวมถึงให้แรงบันดาลใจกับนักเรียนอีกด้วย
“น้อง ๆ ก็สามารถเป็นนักแข่งเกมได้นะ ขอเพียงให้จัดการเวลาของตนเองดี ๆ”
ซึ่งหลังจากนักเรียนผู้ชนะจะได้อิ่มท้องและอิ่มเอมใจกับแรงบันดาลใจดี ๆ พวกเขาก็จะร่วมส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนคนอื่น ๆ และนั่นทำให้กิจกรรม RoV Battle ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนเกิดกิจกรรมอีกครั้งในปีถัดมา พร้อมด้วยจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมมากยิ่งขึ้น และรางวัลที่ยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างการให้ทีมที่ชนะ 3 อันดับแรก ได้มีโอกาสเข้าชม Garena Thailand ผู้ให้บริการเกมออนไลน์อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยเลยทีเดียว
น่าเสียดายที่กิจกรรมนี้ได้ถูกจัดขึ้นเพียง 2 ปีเท่านั้น เนื่องจากครูแฟร์ต้องเปลี่ยนสถานที่สอนหนังสือ และขาดคุณครูรับช่วงต่อ แต่ถึงกระนั้นครูแฟร์ก็หวังว่ากิจกรรม RoV Battle จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูทุกคนเข้าใจประโยชน์ของเกม และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น
“เพราะเกมไม่ใช่ตัวร้าย.. อยู่ที่ผู้เล่นจะรับผิดชอบได้หรือไม่ เท่านั้น”
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย