icon
giftClose
profile

2 ครูศิลป์ & 2 ครูวิทย์ กับแนวคิดการวัดประเมินผล

11751
ภาพประกอบไอเดีย 2 ครูศิลป์ & 2 ครูวิทย์ กับแนวคิดการวัดประเมินผล

เมื่อครูสายศิลปะ 2 ท่าน และครูสายวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน มาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการประเมินผลในปัจจุบัน ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด?

         เมื่อตัวเลขที่ปรากฏบนใบแสดงผลการศึกษา กำลังตัดสินความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ทั้งที่พวกเขามีความชอบที่แตกต่างกัน มีความสามารถที่แตกต่างกัน และมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน แล้วการวัดประเมินผลที่พวกเรากำลังใช้กันอยู่นี้มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด?

         บทความนี้ได้เชิญคุณครู 4 ท่านจากสองสายวิชา มาให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการประเมินผลที่พวกเรากำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน

         โดยมีคุณครูจากสายศิลปศาสตร์ 2 ท่าน ได้แก่ ครูจูเนียร์ ณชนก หล่อสมบูรณ์ คุณครูวิชาศิลปะของนักเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนศศิภา และ ครูน้ำน้อย ปรียศรี พรหมจินดา คุณครูจิตอาสาและนักวิชาการอิสระด้านศิลปศึกษา

         และคุณครูจากสายวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน ได้แก่ ครูแจ๋ว ไสว อุ่นแก้ว คุณครูวิชาชีววิทยาและการบูรณาการ ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ และครูติ้ง จินตนา วงศ์ต๊ะ คุณครูวิชาชีววิทยา ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.)

 

เมื่อครูวิทย์ พิจารณาสายศิลป์

         “จากประสบการณ์ในวัยเรียนที่เคยเรียนศิลปะมา ศิลปะเป็นสิ่งที่สามารถดูได้จากผลงาน หรือ การแสดง (Performance) ของนักเรียน การวัดผลจะขึ้นกับคุณครูผู้สอนเท่านั้น ทำให้คะแนนที่ประเมินได้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของครูผู้สอนแต่ละคน” - ครูติ้ง
         “ศิลปะคือความรื่นรมย์ เป็นวิชาที่ทำให้เด็กได้ค้นพบ ได้เห็นความถนัด และความชอบของตนเอง เด็กควรจะมีความสุข มากกว่าที่เราจะไปตัดสินผลงานเขาได้” - ครูแจ๋ว

 

การวัดประเมินผลของวิชาศิลปะควรเป็นอย่างไร?

“ศิลปะยุคใหม่ ศิลปินจะเสนอด้วยวิธีใดก็ได้ เพราะเขาชื่นชมกันที่กระบวนการคิด”

         ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังโฟกัสไปที่การสร้างนวัตกรรม ทำให้เมื่อพูดถึงการสร้างกระบวนการคิด ผู้คนจะให้ความสนใจไปยังสายของวิทยาศาสตร์เสียส่วนใหญ่ ในขณะที่วิชาศิลปะจะไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก ด้วยความเชื่อที่ว่าวิชาศิลปะเป็นเพียงวิชาที่เพ้อฝัน ให้เด็กได้มีจินตนาการเท่านั้น

         แต่ต่างประเทศเชื่อว่าทุกวิชามีบทบาทในการเพิ่มพูนกระบวนการคิดเท่ากันหมด เพราะศิลปศึกษา ก็เป็นศาสตร์แรกที่เด็กได้เรียนตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้เขาได้ฝึกควบคุมร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา ก่อนจะได้รับศาสตร์ความรู้ใหม่ในระดับถัดไป วิชาศิลปะจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการของนักเรียน และควรมีการประเมินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ไปทำลายความคิดของใครคนหนึ่งจนพวกเขาต้องปิดกั้นต่อวิชาศิลปะตลอดไป

“สุนทรียภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรากำลังตัดสินกับสิ่งที่คนอื่นอิน”

         การประเมินผลคะแนนวิชาศิลปะในปัจจุบัน ครูจูเนียร์และครูน้ำน้อยมีความรู้สึกว่ายังไม่ยุติธรรมสำหรับนักเรียน เนื่องจากผลงานทุกอย่างเกิดขึ้นจากตัวเด็ก แต่เราเอาผู้ใหญ่ที่มีพัฒนาการและประสบการณ์มากกว่ามาเป็นที่ตั้ง และตัดสินพวกเขาจากความคิดของเรา

“เมื่อนักเรียนเป็นผู้ทำผลงาน นักเรียนก็ควรมีสิทธิได้ประเมินตนเอง”

         ด้วยพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้เราไม่สามารถตัดสินประสิทธิภาพการเรียนรู้ผ่านชิ้นงานของนักเรียนได้ สิ่งสำคัญที่ครูจูเนียร์และครูน้ำน้อยคาดหวัง คือ การให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการประเมิน โดยพวกเขาต้องให้คะแนนตัวเองในมุมของผู้ทำชิ้นงาน ระบุเหตุผล รวมถึงอุปสรรคในการทำงานชิ้นนั้น

         ในส่วนของคุณครูจะให้คะแนนนักเรียนในฐานะผู้มองเห็นพัฒนาการ โดยคุณครูต้องรู้ Learning curve ของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้รู้พัฒนาการและความตั้งใจที่แท้จริงของเด็ก แล้วจึงนำคะแนนทั้งสองส่วนมาเปรียบเทียบกัน และหาคะแนนที่เหมาะสมต่อชิ้นงานนั้น ๆ การประเมินนี้ยังทำให้นักเรียนได้รู้ข้อผิดพลาดของตนเองจากมุมมองของคุณครู ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาสามารถปรับปรุงชิ้นงานได้ในลำดับถัดไป

         หากสนใจกระบวนการสร้างสรรค์ในห้องเรียนศิลปะของครูน้ำน้อยและครูจูเนียร์ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Choice-based learning ศิลปะตามใจผู้เรียน และ ห้องเรียนศิลปะ สนุก..เลือกได้! ได้เลยครับ

 

เมื่อครูศิลปะ จะพูดถึงวิทยาศาสตร์

         “วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นองค์ความรู้ที่มีความแน่นอน สามารถตรวจสอบความถูกผิดได้ การวัดประเมินผลจึงมีความเหมาะสมอยู่แล้ว” – ครูจูเนียร์
         “ทุกคนมีความสามารถแตกต่างกัน และวิทย์-คณิตเป็นวิชาที่มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ถ้าเราสามารถทำให้เด็กมองเห็นความสอดคล้องในชีวิตประจำวัน ทุกคนจะกล้าเรียนรู้มากยิ่งขึ้น” - ครูน้ำน้อย

 

การวัดประเมินผลของวิชาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร?

“เรากำลังวัดทักษะด้านวิชาการเท่านั้น”

         การวัดผลวิชาวิทยาศาสตร์เป็นเพียงการแสดงความสามารถเฉพาะด้านเท่านั้น เพราะนักเรียนแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน แต่เกรดก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบในฐานะนักเรียนได้ แต่ไม่ใช่ศักยภาพทั้งหมดที่พวกเขามี

“เรายังถูกจำกัดในกรอบของระบบการศึกษา”

         ครูติ้งเชื่อว่าเรายังไม่สามารถยกระดับการประเมินผลของทุกโรงเรียนให้เท่ากันได้ เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่แตกต่างกัน เช่น โรงเรียนของครูติ้งเป็นโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งทำให้สามารถจัดเกณฑ์ประเมินในรูปแบบอุดมศึกษาได้ ในขณะที่หลาย ๆ โรงเรียนอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งก็มีระเบียบให้ปฏิบัติตาม และยังมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น

“ความถนัดเขา กับตัวชี้วัดของเราไม่ตรงกัน”

         ครูแจ๋วกล่าวว่า ในสมัยเรียนไม่ว่าครูแจ๋วจะทำเกรดได้ดีหรือแย่เพียงใด คุณพ่อก็ไม่ได้ชื่นชมหรือเสียใจกับเกรดของครูแจ๋วเลยแม้แต่น้อย เพราะพวกเขาสนใจเรื่องการหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น ทำให้ครูแจ๋วรู้สึกว่าบางครั้งทักษะที่พวกเขาต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่แสดงอยู่ในใบแสดงผลการเรียนเพียงอย่างเดียว การแสดงผลการเรียนที่ดีจึงควรบอกได้ว่านักเรียนมีความถนัดด้านอะไรที่ไม่ใช่เพียงแค่วิชาการ เพื่อให้เขาสามารถค้นพบและเลือกพัฒนาตนเองต่อไปได้

“เกรดไม่สามารถสะท้อนความสามารถนักเรียนได้”

         คำนี้เป็นสิ่งที่โรงเรียนของครูติ้งกำลังสนใจอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์ ทำให้นักเรียนที่ไม่ถนัดสายใดสายหนึ่งได้รับเกรดน้อยกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี

         ในอนาคตอันใกล้นี้โรงเรียนของครูติ้งจึงสนใจที่จะทำใบแสดงผลการศึกษาออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ Grade transcript และ Competency-based transcript ซึ่งตัว Competency-based transcript นี้เองจะเป็นใบแสดงระดับความสามารถของนักเรียนในด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะด้านการเขียนโปรแกรม ทักษะด้านการวาดภาพ เป็นต้น ซึ่งทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่คัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อจะได้ทราบว่านักเรียนมีความสามารถใดบ้างนอกเหนือจากทักษะด้านวิชาการ

 

         แม้จะอยู่ในต่างสายวิชา ต่างแนวคิด แต่สิ่งที่คุณครูทุกท่านความคาดหวังต่อการประเมินผล คือ การแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน ไม่ใช่เพียงการตัดสินที่ชิ้นงาน หรือความสามารถในวิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบความถนัด และเลือกพัฒนาความสามารถของตนเองต่อได้ในอนาคต :)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)