icon
giftClose
profile

แบ่งปันเกมเชาว์คณิตศาสตร์ม.ต้น ไว้ชวนนักเรียนเล่น

106933
ภาพประกอบไอเดีย แบ่งปันเกมเชาว์คณิตศาสตร์ม.ต้น ไว้ชวนนักเรียนเล่น

"ตอนเราสอนเลข เริ่มมาจากการที่เรารู้สึกสนุกกับวิชานี้ เราเห็นแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับมัน แล้วได้ยินเด็กคุยกันเรื่องซื้อลอตเตอรี่ เลยได้ไอเดีย ชวนเด็กมาเล่นเกมเกี่ยวกับความน่าจะเป็น"

ครูตี่ Teach For Thailand รุ่น 2 สอนคณิตศาสตร์ ชั้นม.1-3 ที่โรงเรียนวัดปทุมวนารามฯ


แรงบันดาลใจในการสอน

"ตอนเราสอนเลข เริ่มมาจากการที่เรารู้สึกสนุกกับวิชานี้ เราเห็นแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับมัน แล้วได้ยินเด็กคุยกันเรื่องซื้อลอตเตอรี่ เลยได้ไอเดีย ชวนเด็กมาเล่นเกมเกี่ยวกับความน่าจะเป็น"


  • ลูกเต๋าความน่าจะเป็น

กติกา

  1. ทอยลูกเต๋า 2 ลูก พร้อมกันให้เด็กทายว่าผลรวมจะออกมาเป็นเท่าไหร่
  2. แกล้งหลอกเด็กว่า 'ครูให้พวกเธอ 4 จำนวนเลย ถ้าผลรวมเป็น 1,2,3,4 นักเรียนชนะ แต่ถ้าผลรวมเป็น 5,6,7 ครูชนะ'
  3. จากนั้นเด็กๆ ก็จะเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าทำไมครูชนะบ่อยกว่าทั้งๆ ที่พวกเขามีตั้ง 4 จำนวน
  4. ครูอาจจะลองให้เด็กทอยเอง เพื่อความโปร่งใส
  5. จนเขาได้คำตอบกันเองว่าเป็นเพราะอะไร ในคาบของครูตี่ก็มีนักเรียนคิดขึ้นได้เองว่า 'ครูตี่ 5 ของครูตี่มันเกิดได้หลายแบบนี่นา เช่น 1+4, 2+3, 3+2, 4+1 มิน่าล่ะครูตี่เลยชนะตลอด'


  • เกมนับ 1-10 ใครขานเลข 10 คนนั้นแพ้

กติกา

  1. ให้เด็กจับคู่กัน
  2. ครูกำหนดกติกาเองว่าเด็กแต่ละคนนับได้กี่จำนวน แนะนำเป็น 2 จำนวน
  3. ทริคที่จะทำให้ชนะคือ "ต้องเป็นคนเริ่มทีหลัง" แต่คนที่เริ่มก่อนก็พลิกกับมาชนะได้ถ้าเพื่อนไม่ทันตั้งตัว
  4. ครูสามารถเปลี่ยนเลขไปเรื่อยๆ เพื่อฝึกสมาธิ และฝึกการคำนวณของเด็ก


  • เรียนค่ากลางผ่านความสูงของเด็ก

กติกา

  1. ให้นักเรียนยืนเรียงความสูงกัน 10 คน ไล่จากสูงไปเตี้ย
  2. ลองให้นักเรียนคำนวณ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต มัธยฐาน และฐานนิยมจากตัวเลขความสูงของเพื่อน
  3. แล้วมาพิจารณากันว่าคำตอบของแต่ละค่ามันสะท้อนความจริงหรือไม่
  4. จากนั้นครูก็อธิบายว่าธรรมชาติของข้อมูลแบบไหน เราควรใช้วิธีหาค่าแบบใด


  • ชวนเด็กทำบอร์ดเกมง่ายๆ

กติกา

  1. ให้นักเรียนนึกถึงเกมที่ชอบ แล้วลองถอดกระบวนการจากเกมที่ตัวเองเคยเล่นมาสร้างใหม่
  2. สร้างสรรค์เนื้อหาที่ตัวเองอยากเล่า เช่น มีนักเรียนคนนึงจำไทม์ไลน์วิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้ เลยเอามาทำเกม แล้วต้องเรียงเหตุการณ์ก่อนหลังให้ถูก แล้วก็ทำได้
  3. ลองสร้างเดโม่ง่ายๆ ด้วยกระดาษ
  4. ลองเล่นกับเพื่อน แล้วให้เพื่อนฟีดแบคว่าควรปรับปรุงตรงไหน อย่างในเกมไทม์ไลน์ ทุกคนจะจั่วการ์ดได้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงคนละ x ใบ แล้วแต่ละคนผลัดกันวางเรียงไปเรื่อยๆ ใครวางผิดต้องจั่วเพิ่ม ใครการ์ดหมดก่อนชนะ


ผลตอบรับจากนักเรียน

สิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนความคิดเขาคือเลขมันไม่ได้มีแต่พาร์ทยากๆ อยากให้เขารู้ว่าถ้าเขาตั้งใจทำมันก็พอจะทำได้นะ มีนักเรียนม.2 รุ่นนึงที่สูตรคูณยังท่องไม่คล่อง แต่เราก็พยายามบิ๊วให้เขาอยากเรียนรู้ต่อ แล้วก่อนจะจบม.3 ไป เขามาขอบคุณเรา "ขอบคุณครูที่ใจเย็นกับผม ทำให้ผมรู้ว่าถ้าตั้งใจผมก็ทำได้"

เราไม่อยากให้นักเรียนมองว่าเลขไกลตัวหรือเป็นเรื่องยาก เราเลยค่อนข้างใส่ใจกับวิธีคิดและกระบวนการ ให้เขามองเห็นขั้นตอนว่าการจะทำโจทย์แต่ละข้อมันต้องแบ่งปัญหาออกเป็นกี่ส่วน ระหว่างสอนเราจะพยายามถามตลอดว่า "มีใครมีวิธีคิดที่ต่างไปจากครูบ้าง" เพื่อแสดงให้เห็นว่าคณิตศาสตร์มันไม่ได้มีวิธีคิดแบบเดียว แล้วนักเรียนก็สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดของตัวเองได้

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(14)
เก็บไว้อ่าน
(16)