icon
giftClose
profile

เข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนจากปรากฏการณ์ในสังคม

45035
ภาพประกอบไอเดีย เข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนจากปรากฏการณ์ในสังคม

จะทำอย่างไรดี ที่จะทำให้นักเรียนมองปัญหาสิทธิมนุษยชนให้กว้างขึ้น และหลากหลายขึ้น รวมทั้งจะทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์และทุกคนมีส่วนร่วม

ในคาบวิชาหน้าที่พลเมือง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

เนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้างในปัจจุบัน

แต่จะทำอย่างไรดี ที่จะทำให้นักเรียนมองปัญหาสิทธิมนุษยชนให้กว้างขึ้น และหลากหลายขึ้น

รวมทั้งจะทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์และทุกคนมีส่วนร่วม


จากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการจัดการเรียนรู้ในคราวก่อน ๆ ที่ให้นักเรียนได้แบ่งกลุ่มกันเองตามความสะดวกของนักเรียน ทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม และขาดความหลากหลายในความคิดเห็น และพบว่ากระบวนการแลกเปลี่ยนและการทำงานร่วมกันในบางกลุ่มมีความขยันขันแข็ง กระตือรือร้น ก็จะไปสุดทาง ส่วนกลุ่มที่ขาดความกระตือรือร้นก็ไปสุดอีกทาง ทำให้กระบวนการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง


ในครั้งนี้จึงต้องใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป และลองกับไปใช้วิธีการเดิมนั่นคือ การแบ่งกลุ่มโดยการนับเลข

ซึ่งครูให้นักเรียนนับเลข 1 - 8 ไปเรื่อย ๆ ใครที่ได้นับได้เลขเดียวกันให้อยู่กลุ่มเดียว

กระบวนการแบ่งกลุ่มแบบนี้ทำให้เกิดความหลากหลายของสมาชิกภายในกลุ่ม ที่มาจากกลุ่มต่าง ๆ ภายในห้องเรียน


ในคาบวิชานี้ เรากำลังจะพูดถึงกันเรื่องของ "สิทธิมนุษยชน" ที่อยากให้นักเรียนได้รับรู้ปัญหาที่กว้างขึ้น และหลากหลายขึ้น

ครูจึงมีการเตรียมการโดยการคัดเลือกประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและประเด็นดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ยังคงมีแรงกระเพื่อมอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยเขียนประเด็นเป็นคำสำคัญ (Keyword) ลงในกระดาษ เพื่อให้นักเรียนสุ่มจับ

ตัวอย่างของประเด็นที่ครูเลือกมา มีดังนี้

  • การทำแท้ง
  • #ข่มขืนผ่านจอพอกันที
  • #Saveบางกลอย
  • โรฮิงญา
  • เฮ้ย! นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์
  • ชาวเอเชียถูกทำร้ายในอเมริกา
  • นักโทษประหาร
  • #metoo

โดยจะมีสลากใบนึงที่เป็นใบพิเศษ คือ สลากที่เขียนว่า "?" ซึ่งนักเรียนกลุ่มที่ได้ใบนี้ไป สามารถกำหนดประเด็นเองได้ตามที่นักเรียนสนใจ เพื่อให้มีประเด็นเสริมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ที่ครูอาจจะมองข้ามไป

ตัวอย่างประเด็นที่นักเรียนเพิ่มมา

  • Beuty Privillage
  • แรงงานเด็ก
  • Sexual harassment
  • โนบรา
  • ฯลฯ


หลังจากที่นักเรียนได้ประเด็นไปแล้ว นักเรียนจะร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่ได้รับไป โดยครูจะไม่ให้ข้อมูลใด ๆ ก่อนเลย เพื่อให้นักเรียนได้ใช้วิธีการในการสืบเสาะหาข้อมูลความรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ครูจะต้องเดินสังเกตตามกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาและตั้งคำถามเพื่อจุดประเด็นให้นักเรียนได้สืบหาข้อมูลเพิ่มเติม


ประเด็นในการพูดคุยภายในกลุ่ม เช่น

  • ประเด็นที่ได้ไปนั้น คืออะไร เป็นอย่างไร
  • ประเด็นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร
  • นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นดังกล่าว
  • หากนักเรียนตกอยู่ในสถานการณ์นั้น นักเรียนจะรับมืออย่างไรหรือแก้ปัญหานั้นอย่างไร


สิ่งที่สังเกตได้จากการทำกิจกรรมในครั้งนี้คือ เมื่อได้ให้นักเรียนได้แบ่งกลุ่มโดยการนับเลขเพื่อคละนักเรียนจากกลุ่มต่าง ๆ ภายในห้องเรียน พบว่า นักเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น เนื่องจากภายในแต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนที่คอยเป็นผู้นำในการอภิปราย ชักชวนเพื่อนคนอื่น ๆ ให้ออกความคิดเห็น ในช่วงแรก ๆ อาจจะไม่ค่อยมีการพูดคุยกันมากเท่าไหร่ แต่พอสักพักหนึ่งเมื่อการพูดคุยไปแตะถึงความคิดเห็น ทำให้เกิดการถกเถียงกันในประเด็นนั้น ทำให้ต่างคนต่างได้ใช้เหตุผลของตนในการหักล้างและอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในบางประเด็นอาจไม่ได้ข้อสรุป แต่ทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย

[แอบสปอยล์ว่า ประเด็นนักโทษประหารนั้น สร้างการถกเถียงทางสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมได้ค่อนข้างดีเลย นักเรียนขอไปคุยกันต่อนอกชั้นเรียนด้วย]


หลังจากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นกันไปแล้ว ในคาบต่อมาก็ให้นักเรียนมานำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยวิธีการนำเสนอนั้นเป็นในรุปแบบการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในห้อง ซึ่งครูทำหน้าที่สังเกตการณ์อยู่หลังห้อง ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มดำเนินการเองหน้าชั้นเรียน โดยอาจจะเปิดประเด็นด้วยการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ แล้วนำเสนอสิ่งที่ได้จากอภิปรายภายในกลุ่ม หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงแลกเปลี่ยนกันภายในห้อง


ในการแลกเปลี่ยนนั้น ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ช่วงแรก ๆ เครื่องอาจจะยังไม่ค่อยคิด แต่พอไปสักพักเมื่อเครื่องติด ทุกคนก็เริ่มแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตนเอง ทำให้ภายในห้องกลายเป็นพื้นที่ในการถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ โดยครูไม่จำกัดเวลาให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนกันไป หากหมดประเด็นแล้ว หรือเห็นว่าการถกเถียงนั้นจะกินระยะเวลานานเกินไป จะส่งสัญญาณให้กับสมาชิกในกลุ่มที่นำเสนอแทน


เมื่อนักเรียนนำเสนอครบทุกกลุ่ม ทุกประเด็นแล้ว ก็จะมีการสรุปร่วมกันอีกครั้งภายในห้อง โดยแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มนำเสนอว่ามันอาจจะมีส่วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน และจากประเด็นที่ยกมานำเสนอนั้น จะเห็นว่ามันยังเกิดปัญหาที่หลายปัญหาที่ซ้อนทับอยู่ในปัญหานั้น ทำให้นักเรียนมีมุมมองเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายขึ้น



โดยสรุปแล้ว

พอได้แยกกลุ่มให้ใหม่ รู้สึกบรรยากาศในห้องเต็มไปด้วยการเรียนรู้ เพราะในกลุ่มจะมีนักเรียนหลากหลายรูปแบบมาก ๆ จึงทำให้นักเรียนที่ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการเรียน ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ผู้ที่มีส่วนร่วมอยู่แล้วก็ได้พัฒนาตัวเองในการเป็นผู้นำกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการนำเสนอที่ให้ความเป็นกันเอง ทำให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น แม้เครื่องจะติดตอนใกล้ ๆ หมดคาบแล้ว

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(15)
เก็บไว้อ่าน
(16)