ความท้าทายของครูวิถีใหม่ ด้วยวิธีการใหม่ เพื่อนักเรียนรุ่นใหม่
ฉัตรชัย สุขุม โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์
คำถามแรกที่จะชวนผู้อ่านร่วมกันหาคำตอบในบทความนี้คือ “อะไรคือความท้ายทายของครูวิถีใหม่”
คำตอบของผู้อ่านคืออะไร แต่สำหรับผู้เขียนคำตอบคือ การพัฒนานักเรียนยุคดิจิทัลไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายของตัวนักเรียนเองได้ให้สำเร็จ คำตอบสั้น ๆ ไม่ถึงหนึ่งบรรทัดแต่ท้าทายพลังของครูในการหาคำตอบ เพราะนั่นคือคำตอบที่จะสร้างและพัฒนาเยาวชนของประเทศไทยมีความ มั่นคง มั่งคั่ง และอย่างยั่งยืน ในบทความนี้ขอเชิญชวนผู้อ่านมาร่วมหาคำตอบว่า “ครูจะมีวิถีใหม่อย่างไรบ้าง” เพื่อพัฒนานักเรียนสู่เป้าหมายที่ท้าทายของนักเรียนทุกคน
วิถีใหม่ของครูควรเริ่มจากการได้สำรวจความคิดของครูโดยใช้ การคิดแบบ Growth mindset ในการทำความเข้าใจการพัฒนานักเรียน และที่สำคัญครูต้องเชื่อในพลังที่ว่า “ครูสามารถที่จะทำได้และต้องเชื่อในพลังของนักเรียนว่าเขาเหล่านั้นทำได้” บนพื้นฐานแห่งความแตกต่างของแต่ละคนซึ่งครูอาจใช้ ทฤษฎีพหุปัญญา เพื่อส่งเสริมความ “เก่ง” ของนักเรียนแต่ละคนในแต่ละด้านตามทฤษฎีพหุปัญญา โดยแบ่งความสามารถเป็น ๘ ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา ตรรกะ มิติสัมพันธ์ ร่างกายและการเคลื่อนไหว ดนตรี มนุษย์สัมพันธ์ ด้านความเข้าใจตนเอง และด้านธรรมชาติวิทยา
กระบวนการจัดการเรียนการสอนในวิถีใหม่ ครูควรดำเนินการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของนักเรียนตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และที่สำคัญ ครูต้องมีคำถามที่ท้าทายผลลัพธ์ความเก่งของนักเรียนแต่ละด้าน ดังนั้นกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ จึงต้องปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เพียงแค่การสอนเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเรียนอย่างแท้จริง โดยเน้นกระบวนการฝึกปฏิบัติ การสัมผัสในสถานที่จริง เปลี่ยนบทบาทของครูจากผู้บอก และผู้สอน มาเป็น โค้ชหรือพี่เลี้ยงในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน
การจัดการเรียนรู้ควรเป็นแบบ Active learning ที่ผสมผสานการใช้เทคโนโลยี และสื่อดิจิทัล กล่าวคือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นผู้คิด ผู้ค้นคว้า ผู้ลงมือทำ และรู้สะท้อนคิดในสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ โดยนำเทคโนโลยีและสื่อ แพลตฟอร์มดิจิทัล มาเป็นองค์ประกอบสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน ตัวอย่าง การจัดสถานการณ์ให้นักเรียนได้เป็นผู้บริหารจัดการของโรงเรียนสุจิปุริ โรงเรียนที่สร้างภาวะผู้นำ โดยใช้กิจกรรมตลาดนัด
นักเรียนยุคใหม่ควรต้องเรียนรู้อย่างมีความสุข ความสนุกและความปลอดภัยและที่สำคัญครูควรรับฟังเสียงของนักเรียน เพราะเป็นเสียงที่มีความหมายและมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้น ครูควรสร้างบรรยากาศแห่งความปลอดภัยและเกียรติกัน ภายในห้องเรียนของครูวิถีใหม่ด้วย
การพัฒนานักเรียนอีกหนึ่งลักษณะที่สำคัญจะต้องเป็นการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) คือบูรณาการการเรียนรู้อย่างหลากหลายมิติเข้าด้วยกัน ครูจึงต้องเป็นโค้ชเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้ฝึกคิดและตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ ดังนั้นวิถีใหม่ที่กล่าวมาจึงเป็น วิถีแห่งการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียน และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
กล่าวโดยสรุปคือ การพัฒนานักเรียนของครูวิถีใหม่ อย่างแรกเป้าหมายของครูต้องชัดเจนและครูต้องเชื่อในพลังแห่งการเรียนรู้เปลี่ยนการสอนเป็นการเรียนรู้เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน เป็นโค้ชของนักเรียน สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและความหมายแก่นักเรียน นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้นักเรียนได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเกิดความคาดหมายของตัวนักเรียนเอง และที่สำคัญครูต้องให้ความรักและความเข้าใจแก่นักเรียนบนความแตกต่างของทุกคน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!